สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลวิจัยชี้กระบวนออกกม.ของไทยมีประสิทธิภาพต่ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผลวิจัยนโยบายสาธารณะระบุกระบวนออกกม.โดยปชช.ในไทยมีประสิทธิภาพต่ำ ส่วนใหญ่ยังถูกรัฐบาลชี้นำ ราชการ-รัฐบาลเอื้อประโยชน์ตัวเอง
แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ หัวข้อ “การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน”โดยเป็นการเสนอผลงานการวิจัยที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายซึ่งเก็บสถิติในช่วงปี พ.ศ. 2548 - 2553 ซึ่งมีการเก็บสถิติในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล3สมัย คือรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“บวรศักดิ์”บอกกฎหมายดีต้องมี 5 ข้อ

ทั้งนี้ก่อนการนำเสนอนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“กระบวนการนิติบัญญัติไทย ภายใต้สังคมพลวัตรในศตวรรษที่ 21” ตอนหนึ่งว่า การปรับปรุงกฎหมาย การเพิ่มส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะปรับปรุงกฎหมายได้ทั้งหมด แต่คือการพัฒนากระบวนการผลิตกฎหมาย ทั้งนี้กฎหมายที่ดีต้องประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ คือ 1.กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม ต้องจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคุมสังคมอย่างเป็นธรรม และสามารถระงับข้อพิพาทได้เป็นธรรม 2.ต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ 3.ต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย4.จะต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ดี และ5.เป็นกฎหมายที่ทันสมัยอยู่เสมอ

สมัย “ทักษิณ”ออกกฎหมายน้อยสุด ราชการไม่พ้นออก พ.ร.บ.เอื้อตัวเอง

ส่วนในรายละเอียดการวิจัยนั้น นายสมสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอผลการโดยใช้หลักศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาอธิบายโดยตั้งชื่อหัวข้อ “เศรษฐศาสตร์การเมืองของกระบวนการนิติบัญญัติไทย มุมมองจากทฤษฎีเกม” ซึ่งอธิบายตอนหนึ่งว่า แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีเถียรภาพสูงแต่ระยะเวลาเฉลี่ยของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีการใช้เวลามากที่สุดในการออกกฎหมายคือ 826 วัน ขณะที่รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มีพล.อ.สรุยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นใช้เวลาน้อยที่สุดคือ 249 วัน ส่วนกระบวนที่มีกฎหมายค้างที่สุดนั้นแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คือในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการประสานงานสภา

ทั้งนี้เงื่อนไขของการพยายามผลักดันกฎหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ 1.การออกกฎหมายในส่วนราชการมักต้องการออก พ.ร.บ.ที่เอื้อประโยชน์ให้ตน เช่น ยืดหยุ่น ให้ดุลยพินิจและเพิ่มทรัพยากรต่างๆทั้งคนและงบประมาณแก่ตนเอง อาทิ พ.ร.บ.ธุรกิจประกันภัย 2550 พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเพิ่มรายละเอียดการรับเข้าเป็นคดีพิเศษที่มากขึ้น

รัฐบาลไร้แรงจูงใจออกกฎหมาย เว้นติดขัดนโยบาย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า 2.รัฐบาลไม่มีแรงจูงใจที่จะออกกฎหมายใหม่ เว้นแต่กฎหมายที่ติดขัดกับนโยบายของตัวเอง เช่น การออก พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้าน 3.สภาผู้แทนราษฎร์ก็มักจะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ต่างๆกลับไปสู่ใจความเดียวกับร่างของคณะรัฐมนตรี 4.วุฒิสภามีแนวโน้มจะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ให้รัดกุมและสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล 5.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความต้องการใกล้เคียงกับราชการ แต่กลับมีตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องในชั้นกรรมาธิการด้วย เช่น เมื่อจะออกกฎหมายเกี่ยวกับธนาคาร ก็จะมีตัวแทนจากธนาคารมาร่วมพิจารณา ทั้งนี้ไมได้หมายความว่าในสมัยอื่นไม่มี เพียงแต่ในสมัยสนช.มีบทบาทชัดเจนมากกว่า

อธิบายออกกฎหมายเปรียบเป็นเกม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการวิจัยดังกล่าวยังถูกอธิบายเป็นทฤษฎีเกม กล่าวคือเป็นการอธิบายถึงการคาดการณ์ท่าทีของฝ่ายอื่น และไม่ได้หมายความถึงด้านที่ไม่ดีเสมอไปและไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น โดยทฤษฎีเกมยังแบ่งออกเป็น เกม ทั้ง”เกมการต่อรอง” ที่ผลลัพธ์มักอยู่ที่การได้มาซึ่งจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน แต่ก็มีข้อเสียคือได้เนื้อหาที่จำกัดความได้แคบ “เกมการมอบงาน” ที่ผู้ร่างจำเป็นต้องประนีประนอมความต้องการของหัวหน้าที่มีหลายส่วน “เกมนิติบัญญัติ” ที่ผู้เล่นจะมีความสัมพันธ์แตกต่างกัน ได้แก่ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกากับคณะรัฐมนตรี ที่เป็นไปตามสถานการณ์ปกติ แต่อาจมีกรณีเกียร์ว่างในช่วงที่คณะรัฐมนตรีใกล้พ้นวาระ เช่น ร่างพรฎ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือมีต้นทุนในการแก้ไขสูง เช่น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายเช็ค 2.ความสัมพันธ์คณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร์

ชี้ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสตีความตามสถานการณ์การเมืองได้

3.ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญกับสภาผู้แทนราษฎร์ ที่มีปัจจัยต่างๆ แต่ที่น่าสนใจคือบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ในกรรมาธิการ 4.ความสัมพันธ์ของวุฒิสภากับสภาผู้แทนราฎร์ 5.ความสัมพันธ์กรณีที่มีกมธ.ร่วมกันและสภาผู้แทนราษฎร์ 6.ความสัมพันธ์ของภาคประชาชนกับสภาผู้แทนราษฎร์ ที่สภาฯมักจะพิจารณาในประเด็นที่ตรงกับความต้องการของตัวเองเท่านั้น และหากประชาชนไม่มีพลังกดดันเพียงพอก็ไมได้รับการตอบสนอง จนสภาฯดองร่างกฎหมายไว้ 7.ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีสิทธิวินิจฉัยขั้นสุดท้าย และรัฐบาลเองก็มีสิทธิ์ในการเสนอร่างกฎหมายใหม่หากร่างเดิมถูกพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ว่ากรณีที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่กล้าตีความขัดใจรัฐบาลได้ เช่น กรณีร่างพรก.เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และร่างพรก.บริหารหนี้กองทุนฟื้นฟู

ต่อรองมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพรัฐบาล

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังสรุปว่า อำนาจต่อรองของฝ่ายอื่นที่มีต่อการออกกฎหมายนั้นยังขึ้นอยู่กับเสถียรภาพรัฐบาลในช่วงนั้นๆด้วย เช่น ในช่วงที่รัฐบาลมีเสถียรภาพน้อยโอกาสที่ฝ่ายอื่นๆจะเข้าร่วมต่อรองจะมีมากขึ้น ความขาดเอกภาพของรัฐบาลจะเพิ่มดุลยพินิจของกฤษฎีกา ขณะเดียวกันการให้วุฒิสภามีอำนาจในด้านอื่นน้อย จะช่วยเพิ่มคุณภาพของกฎหมายในมุมมองของสภาผู้แทนราษฎร์

ปมรัฐธรรมนูญ ม.153 ทำกฎหมายประชาชนสะดุด

ขณะที่ประเด็นการศึกษา “กระบวนการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชนและบทบาทของกฤษฎีกาในกระบวนการนิติบัญญัตินั้น” นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ทำการวิจัย กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดทำร่างกฎหมายโดยภาคประชาชนยังประสบปัญหา อาทิ ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการประชาสัมพันธ์ เงื่อนไขของการระบุผู้ลงรายชื่อว่าต้องเป็นผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะสิ้นสุดและตกไปเมื่อรัฐบาลหมดวาระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ส่วนตัวคณะกรรมการกฤษฎีกาก็พบรายละเอียดที่น่าสนใจคือกรรมการส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการเกษียณและเป็นนักกฎหมาย ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะมีระดับความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง คิดและยึดติดกับวิถีของข้าราชการ มีข้อจำกัดในการเข้าใจโลกและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลวิจัย กระบวนออกกม.ของไทย ประสิทธิภาพต่ำ

view