สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอเชียสะดุดพิษยุโรป ส่งออกส่อชะงักยาว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้จะเจอกับภาวะตลาดหุ้นผันผวน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ราคาตกต่ำ และมาล่าสุดกับภาวะกระแสทุนต่างชาติที่กำลังหลั่งไหลออกจากหลายประเทศใน เอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ทว่าทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงผลกระทบของวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปแค่ด้าน “ตลาดทุน” ที่ยังถือเป็นเรื่องไกลตัวคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้มีเงินเย็นไปเก็งกำไรหุ้นกับทองคำ และมองว่าผลกระทบยุโรปยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว

ทว่าล่าสุด ผลพวงของวิกฤตหนี้ยุโรปที่อยู่ห่างจากเอเชียไปกว่า 7,000 กิโลเมตร กำลังเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าวิตกในวงกว้าง เพราะเริ่มสะเทือนไปยังภาคการผลิตและการส่งออกที่ถือกันว่าเป็น “ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง” โดยขยายตัวไปทั่ว 5 บิ๊กเขตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ตั้งแต่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังพึ่งพา “การผลิตและการส่งออก” เป็นโมเดลหลักขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

และที่สำคัญ ผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกในกลุ่มประเทศเอเชีย ยังมีแนวโน้มลุกลามต่อเนื่องไปจนตลอดครึ่งปีหลังในปี 2555 นี้ด้วย

โรงงานผลิตสินค้าราคาถูกของโลกอย่าง “จีน” นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด แม้จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลังสถานการณ์หนี้ยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น ทว่าทางการจีนก็ไม่อาจยื้อแรงฉุดได้ จากการเปิดเผยของธนาคารเอชเอสบีซี พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นมาตรวัดภาคการผลิตที่สำคัญได้หดตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ที่ 48.2 จาก 48.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ในเดือน มิ.ย. ที่หดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

หมายความว่า นอกจากจะเป็นตัวเลขการผลิตที่น้อยที่สุดของปีนี้แล้ว การผลิตของจีนยังลดลงติดต่อกันทุกเดือนมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2554 ท่ามกลางยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานความเห็นของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่มีฐานการผลิตในจีน อาทิ ไนกี้ แมคโดนัลด์ ไปจนถึงแคเทอพิลลาร์ ส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง อาทิ ไนกี้ ซึ่งเปิดเผยว่า บริษัทมีสินค้าคงค้างอยู่ในจีนมากเกินไป

ปัจจัยลบต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของจีน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบไลต์สวีต ในตลาดไนเมกซ์ สหรัฐ ปรับตัวดิ่งลงทันทีถึง 1.32 เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 83.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในการซื้อขายเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 2 ก.ค. อีกด้วย เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก จึงอาจส่งผลให้แนวโน้มการใช้น้ำมันลดลงตาม

สถานการณ์ด้านลบของภาคการส่งออกยังขยายวงไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันด้วย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่ง ดัชนีพีเอ็มไอก็เข้าสู่ภาวะหดตัวลง หรือภาวะที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ลงมา โดยพบว่าดัชนีพีเอ็มไอในเดือน มิ.ย. ลงมาอยู่ที่ระดับ 49.9 ท่ามกลางยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงมาอยู่ที่ 47.5 หรือเป็นการหดตัวลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ทั้งที่เศรษฐกิจเพิ่งจะฟื้นตัวจากสึนามิได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ กับจีดีพีที่ขยายตัวได้ 1.2%

ความถดถอยล่าสุดของญี่ปุ่นนั้น นับเป็นสัญญาณต่อเนื่องมาจากช่วงต้นไตรมาส 2 เมื่อตัวเลขผลผลิตภาคโรงงานในเดือน พ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 3.1% เนื่องจากความต้องการสินค้าจากฝั่งยุโรปที่ปรับตัวลดลง และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

ทางด้าน “อินเดีย” นั้น มีการเปิดเผยตัวเลขล่าสุดว่าการส่งออกเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงถึง 4.16% มาอยู่ที่ 2.568 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.13 แสนล้านบาท) ท่ามกลางการขาดดุลการค้าที่พุ่งไปถึง 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.16 แสนล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการขาดดุลจากการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ค. ของ “ไต้หวัน” นั้น ก็หดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามแล้ว อยู่ที่ 3.04% ขณะที่ทางการไต้หวันเตือนว่าการส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือน มิ.ย. หลังจากที่พบว่ายอดการส่งออกในปีนี้หดตัวลดลงจากปีที่แล้วราว 1.5%

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของไต้หวันสอดคล้องกับการเปิดเผยผลสำรวจความเห็น ภาคธุรกิจของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในไต้หวันเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ต่างมองแนวโน้มว่าจะย่ำแย่ลง โดยระบุว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจคือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

สำหรับ “เกาหลีใต้” นั้น แม้จะต่างออกไปตรงที่ยอดการส่งออกเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทว่าก็เป็นเพราะปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินวอนที่อ่อนค่าลงมาถึง 6% ตลอดช่วง 12 เดือนมานี้

ถึงกระนั้น แนวโน้มของเกาหลีใต้ก็ไม่อาจทัดทานผลกระทบจากวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปที่กำลัง ส่งปัจจัยลบไปทั่วภูมิภาคเอเชียได้ และส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องปรับลดตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของปี 2555 ลงมา “อย่างรุนแรง” อยู่ที่ 3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 6.7% พร้อมยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3% จากคาดการณ์เดิมเมื่อ 6 เดือนก่อนที่ 3.7%

ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ ยังสะท้อนได้จากการประกาศอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่เมื่อวัน ที่ 29 มิ.ย. ภายใต้วงเงิน 8.5 ล้านล้านวอน (ราว 2.35 แสนล้านบาท) เพื่อสร้างภูมิต้านทานจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในฝั่งตะวันตก และยังมีแนวโน้มสูงด้วยว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายการ เงินในวันที่ 12 ก.ค. จากอัตราปัจจุบันที่ 3.25%

แน่นอนว่า การสร้างภูมิต้านทานด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงิน หรือการคลังเช่นนี้ อาจจะมีตามมาอีกเป็นระลอกในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เพื่อไม่ให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานและ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ต้องสะดุดหรือผันผวนอย่างหนักไปตามทิศทางของตลาดทุนเช่นที่เห็นมาแล้วตลอด ครึ่งแรกของปีนี้

เพราะผลผลิต สินค้า บริการ การจ้างงาน และรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังต้องพึ่งการผลิตและส่งออกนั้น ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเดิมพันกันได้ง่ายๆ เหมือนการเก็งกำไรในตลาดทุน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เอเชียสะดุด พิษยุโรป ส่งออกส่อชะงักยาว

view