สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การปรับปรุงโครงการ GSP ของสหภาพยุโรป : ผลกระทบต่อการส่งออก

การปรับปรุงโครงการ GSP ของสหภาพยุโรป : ผลกระทบต่อการส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




โครงการ GSP มีความเป็นมาโดยสรุป คือ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของโลกเกิดภาวะตกต่ำ และตกต่ำต่อมาอีกหลายปี
เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว ในการประชุมองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTAD) ในปี พ.ศ. 2507 ได้เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับโครงการ GSP ขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ให้มีรายได้จากการค้า แทนการรับความช่วยเหลือจากเงินช่วยเหลือ (AID) ด้วยการทำให้สินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ต่อมาในการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2511 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตกลงให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการส่งออกด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Generalized System of Preferences : GSP โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าให้กับสินค้าที่ส่งมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริง คือ เมื่อประเทศกำลังพัฒนาสามารถขายสินค้าได้ ก็จะมีกำลังซื้อสามารถซื้อสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วได้อีกทอดต่อไป
 

สหภาพยุโรปได้เริ่มโครงการให้สิทธิ GSPในปี 2514  ด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนารวม 176  ประเทศ โครงการ GSP ของสหภาพยุโรป มีอายุโครงการเป็นวงจร วงจรละ 10 ปี สำหรับโครงการ GSP วงจร ปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2549 และจะสิ้นสุดในปี 2558
 

โครงการ GSP โครงการแรกของวงจรปัจจุบัน เป็นไปตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปที่ 980/2005 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 การให้สิทธิตามโครงการนี้แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ให้สิทธิเป็นการทั่วไป เป็นการให้สิทธิ GSP ปกติ แก่ประเทศกำลังพัฒนา รวม 176 ประเทศ กลุ่มที่ 2 เป็นการให้สิทธิที่มีมาตรการจูงใจเป็นพิเศษเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีหลักธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า GSP+ โดยให้สิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาที่สมัครใจยืนยันจะปฏิบัติให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศในเรื่อง สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและหลักธรรมาภิบาล กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นอาวุธ เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการส่งสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธเข้าสหภาพยุโรปโดยไม่เสียอากรขาเข้าและไม่มีข้อจำกัดหรือโควตาในการนำเข้า
 

เพื่อให้การให้สิทธิ GSP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดที่ 732/2008 ต่ออายุโครงการ GSP ตามข้อกำหนดที่ 980/2005 ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยยังคงหลักการในการให้สิทธิแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังเช่นโครงการเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคนิค เช่นปรับปรุงถ้อยคำให้เข้าใจง่ายขึ้น จัดหมวดหมู่พิกัดสินค้าให้เป็นปัจจุบัน แม้สหภาพยุโรป จะยังคงหลักการในการให้สิทธิแยกเป็น 3 กลุ่ม แต่ก็มีการปรับปรุงที่สำคัญ คือ  ในกลุ่มที่ให้สิทธิเป็นการทั่วไป ได้มีการจำแนกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่อ่อนไหว และกลุ่มสินค้าที่อ่อนไหว กลุ่มสินค้าที่ไม่อ่อนไหวซึ่งมีมากว่าครึ่งหนึ่งของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนกลุ่มสินค้าที่อ่อนไหว ซึ่งประกอบด้วย สินค้าเกษตร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป พรม รองเท้าที่ทำจากผ้า จะรับประโยชน์ได้รับการลดภาษีอัตราตามราคาตกลง 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากอัตรา  MFN และหากเป็นอัตราภาษีตามสภาพจะได้รับการลดหย่อนลง 30 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราปกติ ส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้ลดภาษีลง 20 เปอร์เซ็นต์ จากอัตรา MFN  
 

สหภาพยุโรปได้เริ่มนำ กลไกการตัดสิทธิและการคืนสิทธิ (Graduation  mechanism) มาใช้กับการให้สิทธิกลุ่มทั่วไป และกลุ่ม GSP+ คือ เมื่อประเทศหนึ่งประเทศใดส่งสินค้าเข้าไปในสหภาพยุโรป ช่วงสามปีเกินกว่าเพดานที่กำหนด คือ มี ส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยเกินกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าชนิดเดียวกันที่ส่งมาจากประเทศที่ได้รับสิทธิทุกประเทศทั่วโลก (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กำหนดเพดานไว้ที่ 12.5 เปอร์เซ็นต์) สินค้านั้นจะถูกตัดสิทธิ GSP แต่ถ้าหากในการทบทวนในครั้งต่อไปหากปรากฏว่าประเทศนั้นส่งสินค้าที่ถูกตัดสิทธิเข้าไปไม่ถึงเพดานที่กำหนด 3 ปีติดต่อกัน ก็จะได้รับการคืนสิทธิ
 

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีการแถลงข่าวว่า  คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เสนอแผนการปฏิรูปโครงการ GSP ที่ได้ให้สิทธิ GSP   แก่ประเทศกำลังพัฒนารวม 176 ประเทศ    แต่ ปัจจุบัน ประเทศที่ได้รับสิทธิบางประเทศ   ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงแล้ว  เช่น รัสเซีย มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์  บางประเทศมีรายได้เท่ากับหรือสูงกว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศด้วยซ้ำ  การให้สิทธิพิเศษต่อไปจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  นอกจากนี้ ได้มีการทำความตกลงเขตการค้าเสรีอย่างกว้างขวาง  หลายประเทศเสามารถใช้ประโยชน์ในด้านภาษีจากความตกลงเขตการค้าเสรีได้
 

ตามข้อเสนอในการปฏิรูปโครงการ GSP  ดังกล่าว หลักการสำคัญที่จะมีการปฏิรูป คือ ประการแรก จะเน้นไปที่ประเทศที่มีความต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ประเทศที่มีรายได้สูงหรือปานกลางค่อนข้างสูงตามการจำแนกของธนาคารโลกเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกันก่อนการพิจารณาประเทศผู้ได้รับสิทธิ หรือที่สามารถใช้สิทธิตามความตกลงเขตการค้าเสรีจะไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งจะเหลือประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่ประมาณ 80 ประเทศ  ประการที่สอง จะเน้นไปที่การให้สิทธิที่มีมาตรการจูงใจเป็นพิเศษเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีหลักธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า GSP+ เพื่อจูงใจให้ประเทศเหล่านั้นได้ปฏิบัติ ตามความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การต่อต้านการก่อการร้ายให้เกิดผลจริง ประการที่สาม จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเพิกถอนสิทธิ GSP ทั้งยวง เป็นการชั่วคราวให้ทันสมัย เช่น เงื่อนไขจากการจัดหาวัตถุดิบ  การต่อสู้การก่อการร้าย และหลักการที่เพิ่มขึ้น คือ ได้กำหนดมาตรการปกป้องไว้ตามโครงการ GSP ใหม่ด้วย ในระหว่างที่รอ ระหว่างรอการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้การให้สิทธิ GSP ไม่สะดุดลง สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดที่ 812/2011 ต่ออายุโครงการ GSP ตามข้อกำหนดที่ 732/2008 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556
 

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 รัฐสภาสหภาพยุโรปได้ความเห็นชอบต่อร่างข้อกำหนดเพื่อประกาศใช้ระบบ GSP ใหม่ในวาระแรกแล้ว และคงผ่านการพิจารณาออกบังคับใช้ได้ในปลายปีนี้ และเมื่อสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ โครงการ GSP ที่ปฏิรูปใหม่ในปี 2557 ประเทศไทยคงไม่อยู่ในรายชื่อประเทศผู้ได้รับสิทธิอีกต่อไป เพราะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศมีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จากการวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าการที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปอีกต่อไป คงไม่กระทบต่อการส่งออกมากนัก ส่วนหนึ่ง เพราะผู้ส่งออกส่วนมากตระหนักอยู่แล้วว่า สิทธิ GSP เป็นสิทธิที่ไม่จีรังยั่งยืน เมื่อถึงจุดหนึ่งคงไม่ได้รับสิทธิอีกต่อไปจึงได้มีการปรับตัวเตรียมความพร้อมมานานพอสมควรแล้ว แต่ในระยะแรกคงมีผลกระทบถึงสินค้าบางรายการที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศคู่แข่งบางประเทศยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่เช่นเดิม จุดนี้จะทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหภาพยุโรปของผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่งอยู่ไม่น้อย ซึ่งทางราชการที่เกี่ยวข้องคงหาทางช่วยเหลือต่อไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การปรับปรุงโครงการ GSP สหภาพยุโรป ผลกระทบต่อการส่งออก

view