สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงข้างมาก...แหยงประชามติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

จับน้ำเสียงของคนใน “เพื่อไทย” เวลานี้ คงไม่กล้าหักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการดึงดันเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ดังนั้น หากยังเดินหน้าในทางนี้ต่อไป นอกจากสุ่มเสี่ยงให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องพังพาบลงไปหากมีผู้ยื่น เรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว อีกด้าน สส. สว. ที่เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ต่อไปย่อมถูกขยายผลยื่นถอดถอนด้วย

ช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ “เพื่อไทย” จึงต้องเร่งหาข้อสรุปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ ให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ก่อนเปิดสภาสมัยนิติบัญญัติ จะเปิดในวันที่ 1 ส.ค.นี้

ส่องดูทางเลือกเวลานี้จึงเหลือแค่ ทำประชามติ เพื่อ เดินหน้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือ “รัฐสภา” จะใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “รายมาตรา” ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291

หากยึดตามรูปแบบ “ประชามติ” เอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเพื่อไทย ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแบบทิ้งห่างคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น

เพราะแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาก็ยังคัดค้าน ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงประชาชนหนุนหลังจำนวนมาก

ประการแรกเรื่องคะแนนเสียง เพราะแม้จะอวดอ้างใน 15 ล้านเสียง เดินหน้าฝ่ากระแสต้าน ทำแต่ “เรื่องร้อน” ท้าทายกระแสสังคมมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็รู้ดีว่า การทำประชามติ “เบิกทาง” แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ที่จะนำมาใช้ประเดิมงานนี้งานแรก หาก ครม.จะทำประชามติสอบถามความคิดเห็นประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือ ไม่

เนื้อหามาตรา 9 ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติใน เรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ นั้น

สดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง อธิบายว่า คะแนนเสียงในการลงประชามตินั้น ขั้นแรก คือ จะต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง นอกจากนี้จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด หมายความว่า สมมติมีผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 40 ล้านคน ดังนั้น ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่า 20 ล้านคน จากนั้นจึงต้องมาดูคะแนนของผู้ที่มาออกเสียงประชามติ ซึ่งจะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนน

นั่นหมายความว่า คร่าวๆ หากมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ 42 ล้านเสียง ต้องมีผู้มาลงคะแนนมากกว่า 21 ล้านเสียง หากเทียบเคียงกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 ซึ่งใช้กฎหมายออกเสียงประชามติคนละฉบับ มีผู้มาออกเสียง 25.4 ล้านคน จึงไม่น่ามีปัญหา

แต่มาดูรายละเอียดในการลงมติออกเสียงประชามติ ครั้งนั้นมีผู้เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านเสียง ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติ

ทว่า หากเทียบเคียงกับ 15.7 ล้านเสียงที่เลือกพรรค “เพื่อไทย” ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่มีหลักประกันว่าทั้งหมดจะเทมาหนุนโหวตแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมองว่า ส่วนหนึ่งใน 15.7 ล้านเสียง เป็นผู้สนับสนุนพรรค “เพื่อไทย” ที่ตัวนโยบายซื้อใจรากหญ้า แต่จนป่านนี้ยังไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติ

นั่นจึงอาจทำให้คะแนนไม่เป็นไปตามเป้า และทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องพังพาบลงไป แถมยังต้องเสียเวลาอีกไม่น้อย

อีกจุดด้อยของทางเลือกทำประชามติ คือ ใช้เวลานาน ซึ่งอาจทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาพรวมทอดยาวออกไป เพราะตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ มาตรา 6 ระบุว่า จะต้องทำภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน นับจากวันที่ประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา

เท่ากับอย่างน้อยต้องรออีก 3-4 เดือน ถึงจะสามารถทำประชามติได้ ยังไม่รวมกับเรื่องร้องเรียน หรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงในเขตลงคะแนนที่เป็นปัญหา ที่จะทำให้เวลาการทำประชามติทอดยาวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กกต.ในฐานะผู้จัดทำประชามติ ต้องไปเปิดเวทีกลางเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาของเรื่องที่จะทำประชามติ เชิญตัวแทนจากทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุน มาขึ้นเวทีชี้แจงกับประชาชนทั่วประเทศ

แนวทางการทำประชามติเพื่อเบิกแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงสุ่มเสี่ยงกับคะแนนเสียงที่จะออกมา ยังไม่รวมกับระยะเวลาที่อาจทอดยาวหลายเดือนก่อนจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไข ทั้งฉบับ

ทางออกเวลานี้จึงอาจจะพุ่งเป้าให้น้ำหนักกับการแก้ไขรายมาตรา ไปยังมาตราที่ต้องการแก้ไขจริงๆ เพราะเห็นผลได้เร็วที่สุด

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า ต้องย้อนไปดูว่าเป้าหมายของการแก้ไขต้องการอะไรจริงๆ ซึ่งก็คือมาตรา 309 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการล้างผิด หากแก้ไขมาตรานี้มาตราเดียวก็จะชัดเจนเกินไปและอาจถูกกระแสคัดค้านได้ ที่ผ่านมาจึงต้องแก้ในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้การทำประชามติอาจใช้เวลานานเกินกว่าที่จะรอได้ เป็นไปได้ที่จะผลักดันแก้ไขเป็นมาตราที่ต้องการ แม้จะจุดกระแสต้านให้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ก็เสี่ยงน้อยกว่าที่จะไปเริ่มต้นผ่านกระบวนการทำประชามติ

สองสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดสภาจึงเป็นห้วงเวลาที่เพื่อไทยต้องตี โจทย์ให้แตกว่าจะตัดสินใจเลือกทางเดินไหนที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงข้างมาก แหยงประชามติ

view