สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัพเดทวงการ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว (จบ) : ICCR, PSPD และ มาร์ค โมเบียส

อัพเดทวงการ “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” (จบ) : ICCR, PSPD และ มาร์ค โมเบียส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น หมายถึง การใช้ความเป็นเจ้าของบริษัทผ่านการถือหุ้นผลักดันให้กรรมการและผู้บริหารเปลี่ยนแปลงบริษัทในทางที่ดีกว่าเดิม
ไม่ใช่แค่ถือหุ้นรอปันผลและกำไรเฉยๆ
 

ในเมื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นนั้นเสียทั้งเวลาและอาจต้องเสียเงินด้วย ขณะที่ประโยชน์เกิดในระยะยาวและตกอยู่กับผู้ถือหุ้นทุกคน การเคลื่อนไหวแบบนี้จึงมักจะมีคนรอ “ตีตั๋วฟรี” มากกว่าคนที่ลงมือทำ และดังนั้นจึงเกิดไม่ง่ายในทุกสังคม
 

แต่ไม่ง่ายไม่ได้แปลว่าไม่มี ทั่วโลกมีตัวอย่าง “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” จำนวนมากที่ออกแรงอย่างแข็งขัน ชักชวนผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ให้ร่วมผลักดัน หลายคนหลายองค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงบริษัทที่พวกเขาลงทุนให้มีความโปร่งใสมากขึ้น รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากกว่าเดิม
 

วิธีการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นมีหลากหลายรูปแบบ ที่ใช้กันมากที่สุดและได้ผลดีที่สุด คือ วิธีที่ไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้บริหาร เช่น การพบปะหารือกับผู้บริหาร การยื่นจดหมายเรียกร้อง (shareholder resolution) โดยการรณรงค์กับผู้ถือหุ้นรายอื่นทั้งหน้าฉาก (ชักชวนผ่านสื่อและเว็บไซต์) และหลังฉาก (ส่งจดหมายล่ารายชื่อ)
 

สำหรับวิธี “เผชิญหน้า” อย่างเช่นการออกมาเรียกร้องผ่านสื่อ หรือทำแคมเปญคว่ำบาตร ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย เฉพาะในประเด็นเร่งด่วนที่ผู้ถือหุ้นใช้ไม้อ่อนทุกไม้ไปแล้วแต่ผู้บริหารยังไม่แยแส
 

การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นมักไม่ต่างจากการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอื่นๆ คือมักจะต้องใช้เวลานาน ค่อยๆ สะสมเสียงสนับสนุนไปทีละน้อยจนถึงจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง
 

แปลว่าผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะต้อง “หัวรั้น” กว่าคนทั่วไป และจะหัวรั้นได้ก็แปลว่าต้อง “อิน” กับประเด็นที่อยากเปลี่ยนแปลงบริษัทมากพอที่จะอดทนและ “กัดไม่ปล่อย”
 

นักลงทุนสถาบันนาม Interfaith Center for Corporate Responsibility (ย่อว่า ICCR) ในสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 40 ปี ในฐานะผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว สมาชิกขององค์กรนี้คือองค์กรทางศาสนาเกือบ 300 แห่งในอเมริกาที่ลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่นักถือศาสนาคริสต์ มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเม็ดเงินขนาดนี้สามารถกระตุ้นให้บริษัทตั้งใจฟังเป็นอย่างดีเวลาที่ ICCR ส่งจดหมายในฐานะผู้ถือหุ้น
 

ประเด็นที่ ICCR ให้ความสำคัญส่วนใหญ่เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น เรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี ประกาศเป้าลดก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนนโยบายการจ่ายผลตอบแทนผู้บริหาร เช่น อธิบายเหตุผลที่ขึ้นเงินเดือนและโบนัสอย่างชัดเจน ตลอดจนประเด็นเชิงศีลธรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา เช่น การต่อต้านการทรมานสัตว์ ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในบริษัทหรือบริษัทคู่ค้า เป็นต้น
 

ICCR โดดเด่นในฐานะผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวชั้นแนวหน้าของอเมริกา ปีหนึ่งๆ ยื่นจดหมายเรียกร้องบริษัทที่สมาชิกถือหุ้นเกินร้อยฉบับ ผลักดันให้ผู้ถือหุ้นลงมติเรื่องต่างๆ บางปีหลายสิบเรื่อง มีสมาชิกที่ขยันไปประชุมและท้าทายผู้บริหารบริษัทมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น แม่ชีดาลี จากโบสถ์คริสต์นิกายโดมินิกัน วัย 50 ปี หมดเวลาในแต่ละวันไปกับการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ร่างจดหมายเรียกร้อง และวางแผนว่าจะผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่อย่าง เจเนอรัล อิเล็กทริก กับ เอ็กซอน โมบิล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร
 

ในวงการผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว แม่ชีดาลีโด่งดังในฐานะน้อยคนที่สามารถทำให้ แจ็ค เวลช์ อดีตซีอีโอผู้ยิ่งยงแห่ง เจเนอรัล อิเล็กทริก จนมุมจนเฉไฉเปลี่ยนเรื่องไปวาระอื่น ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 1998 หลังจากที่ถูกแม่ชีรุกไล่ด้วยคำถามแหลมคมว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่รับผิดชอบกำจัดมลพิษจากโรงงานของบริษัทที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำในรัฐนิวยอร์ก เธอเปรียบเทียบจุดยืนของเวลช์ที่อ้างว่าไม่ใช่มลพิษว่า เหมือนกับผู้บริหารบริษัทบุหรี่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสาบานว่าบุหรี่ไม่มีพิษภัยใดๆ
 

หันมาดูเอเชีย ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวที่โด่งดังและประสบความสำเร็จสูงสุดไม่ใช่นักลงทุนสถาบัน แต่เป็นเอ็นจีโอนาม สมาพันธ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (People’s Solidarity for Participatory Democracy ย่อว่า PSPD) ภายใต้การนำของ ดร.จัง ฮา ซุง ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 เป็นต้นมา PSPD ใช้อำนาจในฐานะผู้ถือหุ้น ฟ้องและชนะคดีกรรมการหรือผู้บริหารฉ้อฉลหลายสิบคดี แชโบลยักษ์ใหญ่อย่าง ซัมซุง, เอสเค เทเลคอม, แดวู ฯลฯ ถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลให้แก่ผู้ถือหุ้น ความสำเร็จในการรณรงค์ของ PSPD กับผู้ถือหุ้นรายย่อย นำไปสู่การลดทอนอำนาจของตระกูลผู้ก่อตั้งในแชโบล กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชัน กฎหมายคุ้มครองผู้ให้เบาะแส กฎหมายคุ้มครองผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังยกระดับธรรมาภิบาลของภาคเอกชนเกาหลีใต้ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และน่าทึ่งที่สุดในทวีปเอเชีย
 

ดร. มาร์ค โมเบียส ประธานกรรมการบริหาร เท็มเพิลตัน แอสเส็ท แมเนจเม้นท์ ผู้จัดการกองทุนและผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในประเด็นธรรมาภิบาลชั้นแนวหน้าของโลก กล่าวในปี 2012 ว่า “เวลาที่เราลงทุนในบริษัท เราก็เป็นเจ้าของส่วนเสี้ยวของบริษัท ดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของบริษัท ...ถ้าหากเราเชื่อว่าบริษัทกำลังไปผิดทาง เราในฐานะผู้ถือหุ้นก็จะต้องเคลื่อนไหวและออกมาส่งเสียง ...เราอาจเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย แต่ถ้าหากเราพูดในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง เราก็อาจสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้”
 

ประสบการณ์ของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวชั้นนำอย่างแนวร่วมองค์กรทางศาสนา ICCR, เอ็นจีโอ PSPD และนักลงทุนสถาบัน มาร์ค โมเบียส บอกเราว่า “สินค้าสาธารณะ” ชื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นนั้น แม้จะผลิตยากแต่ก็ใช่ว่าจะผลิตไม่ได้ และผู้ถือหุ้นที่ “อิน” กับประเด็นจริงๆ ก็จะอดทนเพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ว่ามันอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ฟ้าดินถล่มทลายก็ตาม
 

แต่ในประเทศไทยซึ่งองค์กรทางศาสนาจำนวนมากยังติดข้อกฎหมาย ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไม่ได้ (ลำพังงบการเงินของวัดหลายแห่งก็ยังไม่โปร่งใส) เอ็นจีโอส่วนใหญ่ยังไม่สนใจจะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท และนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ยังใส่ใจกับผลตอบแทนและต้นทุนมากกว่า “ความรับผิดชอบ” ในฐานะเจ้าของบริษัท
 

ผู้เขียนก็สงสัยว่า “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” รายแรกจะเป็นใครกันหนอ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัพเดทวงการ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว ICCR  PSPD มาร์ค โมเบียส

view