สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดทุนเดิมพัน อีซีบี ขี่ม้าขาว ฮีโร่จำเป็นกอบกู้ยูโรโซน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

นับเป็นสัปดาห์ที่สองแล้วที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ทั้งในฝั่งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งไม่ใช่เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น หากแต่นักลงทุนต่างเดิมพันว่า จะได้เห็นข่าวดีที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกได้ในเร็ววันนี้

ตลาดทุนต่างคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ออกมา เพื่อยุติวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะยุโรปที่ดำเนินมากว่า 2 ปี ให้จบลงเสียที

ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเดิมพันเลื่อนลอยที่หวังแค่สร้างแรงกดดันต่อทางฝั่งยุโรปเท่า นั้น เพราะหลายฝ่ายต่างเห็นพ้องตรงกันว่า นอกจาก “อีซีบี” ที่เป็นแหล่งเงินสำคัญของยุโรปแล้ว ยุโรปก็ไม่เหลือแขนขาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหา (เฉพาะหน้า) ได้อีก

บรรดากองทุนต่างๆ ที่ถูกหมายมั่นปั้นมือว่าจะมาช่วยอัดฉีดเงินเพื่อแก้วิกฤตหนี้ยุโรปนั้น ยังเผชิญปัญหาข้อติดขัดต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรปอย่างถาวร (อีเอสเอ็ม) ซึ่งคลอดออกมาไม่ทันในเดือน ก.ค. ตามที่มีการตั้งเป้ากันไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่แผนการตั้งสหภาพธนาคาร ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกันในรายละเอียดที่ชัดเจน

อีซีบีจึงกลายเป็นทางออกเฉพาะหน้าที่ถูกคาดหวังมากที่สุดในเวลานี้ไปโดยปริยาย

การคาดหวังของทั่วโลกยังเป็นเพราะท่าทีของ มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ที่ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาสกุลเงินยูโรให้คงอยู่ต่อไป

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายจึงเชื่อมั่นกันมากขึ้นว่า ภายในการประชุมสัปดาห์นี้ หรืออาจจะในเร็วๆ นี้ อีซีบีจะเดินหน้ามาตรการเพื่อช่วยแก้วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปใน 2 แนวทางหลักๆ คือ 1.ช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปนและอิตาลี ซึ่งกำลังมีปัญหาดอกเบี้ยสูงทุบสถิติในเวลานี้ และ 2.ออกมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร เหมือนกับที่สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น ได้ดำเนินการมา ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ตรงจุด และสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนได้มากที่สุด

ก่อนหน้านี้บทบาทของอีซีบีมักไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก เนื่องจากแนวทางการช่วยเหลือทั้งสองวิธีดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการให้เงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกโดยตรง ซึ่งถือว่าผิดหลักการของอีซีบีและนำไปสู่การฟ้องร้องตามมาในภายหลังได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ในช่วงระหว่างปี 25512554 อีซีบีจะเคยออกมาตรการช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรปรวมถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 71.3 ล้านล้านบาท) มาแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความหวังต่อบทบาทของอีซีบีเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐเริ่มกดดันให้ยุโรปเร่งมือแก้ปัญหาให้มากขึ้น โดยเฉพาะการส่ง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ให้เดินทางไปหารือเรื่องปัญหายุโรปกับ โวล์ฟกัง ชอยเบล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีการมองกันว่า สหรัฐอาจจะกำลังกดดันให้เยอรมนียอมผ่อนปรนให้มากขึ้น เพราะเยอรมนีถือเป็นหัวหอกหลักที่คัดค้านไม่ให้อีซีบีนำเงินเข้าไปช่วยแก้ หนี้ยูโรโซนโดยตรง

นักวิเคราะห์บางส่วนได้มองอีกหนึ่งทางเลือกว่า อีซีบีอาจใช้วิธีปล่อยเงินกู้ระยะยาวภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้กับธนาคารในยุโรปนำไปใช้แก้ปัญหาในแต่ละประเทศเอง ซึ่งอีซีบีก็ได้ใช้วิธีนี้แล้วในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านยูโร (ราว 45 ล้านล้านบาท) ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกขาดแคลนความเชื่อมั่นจากยุโรปอย่างหนัก วิธีดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือช่วยไม่ให้ดอกเบี้ยพันธบัตรของสเปนแพงขึ้น จากระดับ 7.56% ในปัจจุบัน ซึ่งสูงสุดทุบสถิติของทุกประเทศที่เคยมีมา

ทั้งนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ให้อีซีบีต้องเข้าช่วยแก้ปัญหายุโรปอย่างไม่มีทางเลือก ยังเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มซบเซาหนักขึ้น

หากพิเคราะห์จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของยุโรปแล้วจะเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปทั้งหมดได้เผชิญผลกระทบจนซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ของยุโรปนั้น เริ่มมีสัญญาณร้ายให้เห็นหลายด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น และตัวเลขค้าปลีกที่ลดลง เช่นเดียวกับผลประกอบการของภาคเอกชนที่ย่ำแย่ลง

ตัวเลขการค้าปลีกเดือน มิ.ย. ของเยอรมนี ได้ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ลงมาอยู่ที่ 0.1% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะโตได้ 0.5% เช่นเดียวกับตัวเลขค้าปลีกของฝรั่งเศสในไตรมาส 2 ซึ่งลดลง 0.2%

สัญญาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในยุโรปที่ลดลงนั้น ยังสอดคล้องกับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน มิ.ย. ซึ่งสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตต ได้เปิดเผยว่า การว่างงานใน 17 ประเทศกลุ่มยูโรโซนนั้น ได้ทะยานขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดทุบสถิติที่ 11.2% ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าอัตราการว่างงานในเยอรมนีเดือน ก.ค. ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันไปอยู่ที่ระดับ 6.8% จาก 6.6% ในเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยลบเหล่านี้ล้วนมาจากความไม่มั่นใจในปัญหาหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อมาก ว่า 2 ปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าจะยิ่งย่ำแย่ลงอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หรืออาจลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หากอีซีบีหรือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในยุโรป ยังไม่สามารถออกมาตรการแก้ปัญหาที่สร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน ผู้ผลิต และผู้บริโภคได้มากพอ

หากไม่รีบสร้างความเชื่อมั่นและแก้ปัญหาให้ลุล่วงในเร็ววันนี้ ยุโรปทั้งทวีปอาจเสี่ยงเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจถดถอยให้ยุ่งยากขึ้นอีกเท่า ตัวก็เป็นได้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตลาดทุนเดิมพัน อีซีบี ขี่ม้าขาว ฮีโร่จำเป็น กอบกู้ยูโรโซน

view