สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปชป.อัดยับจำนำข้าว ถึงมือชาวนาแค่9พัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ปชป.อัดยับโครงการจำนำข้าวรัฐบาล จ่อสร้างความเสียหายงบประมาณกว่าแสนล้าน ซัดแคมเปญหาเสียงซื้อสูงสุดตันละ 2 หมื่นบาท ถึงมือชาวนาแค่ 9 พันบาท
นายเกียรติ สิทธีอมร รองนายกรัฐมนตรีเงา พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจับตาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่าเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายให้แก่งบประมาณของประเทศสูงมาก ถ้ามีการรับจำนำทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด จะต้องใช้งบประมาณถึง 4 แสนล้านต่อปี และรัฐอาจขาดทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ผลลัพท์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ชาวนาก็ไม่สามารถขายข้าวเปลือกเจ้าได้ในราคา 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตันตามที่รัฐบาลสัญญาเอาไว้

"มาถึงวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลคิดผิดพลาดและสร้างความเสียหายมหันต์ต่องบประมาณของประเทศ เมื่อผลที่เกิดขึ้นแทนที่ราคาข้าวจะขยับอย่างที่รัฐบาลต้องการ กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลต้องแบกภาระซื้อเก็บเอาไว้เองทั้งหมด สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งซ้ำเติมเรามากขึ้น เพราะสต็อคยิ่งสูง ราคาก็ยิ่งตก"

ปัจจุบัน ประเทศอินเดียมีสต็อคข้าวถึง 30 ล้านตัน ส่วนไทยมีสต็อคพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 10 ล้านตัน ถือเป็นแรงกดดันสำคัญทำให้ราคาตลาดโลกตกลงไปด้วย ดังนั้น การระบายสต็อคข้าวที่รัฐบาลซื้อมาแพง คงหลีกเลี่ยงการขาดทุนไม่ได้แน่นอน ขณะที่ผู้ประกอบการข้าวถุงในประเทศก็ต้องขอขยับราคาเพิ่มขึ้น เพราะข้าวที่ซื้อมาแปรรูปในประเทศ สูงกว่าราคาตลาดโลก สุุดท้ายคนไทยก็ต้องกินข้าวในราคาที่แพงกว่าคนทั้งโลกโดยชาวนาไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้กับอินเดียและเวียดนามไปแล้ว เนื่องจากราคาข้าวไทยถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลที่่ใช้นโยบายประชานิยมเข้ามารับจำนำในราคาที่สูงมาก จนผู้ส่งออกไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องต้นทุน กับประเทศอินเดียและเวียดนามได้อีกต่อไป

จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวล่าสุดในช่วงระหว่างวันที่ 1-23 ก.ค. ประเทศไทยส่งออกได้เพียง 3.3 แสนตัน ติดลบไปถึง 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนก.ค.ปี 2554 ไทยเคยส่งออกไปถึง 7.69 แสนตัน เบ็ดเสร็จรวมแล้วในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.) ปีนี้ ประเทศไทยส่งออกข้าวไปเพียง 3.7 ล้านตัน จากเดิมที่เราเคยส่งได้ 7.1 ล้านตัน

นายเกียรติ กล่าวว่า การวิจารณ์ความเสียหายจากนโยบายรับจำนำข้าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เมื่อบทความจากนิตยสารระดับโลกอย่าง The Economist หรือแม้กระทั่งนายVikram Nehru อดีตประธานธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ได้เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเวปไซด์ของ Carnegie Endowmentซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระดับโลก ชี้ให้เห็นชัดเจนว่านโยบายที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังดำเนินการอยู่นี้ผิดพลาดและสร้างความเสียหายรุนแรงต่อประเทศไทย ถึงขนาดจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก และเสียงวิจารณ์ไปถึงขนาดว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ไม่ใช่ชาวนา แต่คือเจ้าของโรงสีและพ่อค้าคนกลาง

ข้อมูลจากตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ท้ั้งอยุธยา นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ที่รายงานต่อกรรมาธิการของสภาฯ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถจะขายข้าวได้ราคา 15,000-20,000 บาทต่อตันอย่างที่รัฐบาลหาเสียงเอาไว้ ส่วนใหญ่ขายได้เพียง 9,000บาทเท่านั้น เพราะจุดรับซื้อมีการอ้างเรื่องน้ำหนัก หรือความชื้น

"ประเทศไทยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อต่างประเทศว่า โครงการจำนำข้าวมีเงินถึงมือเกษตรกรแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะนั่งเฉยๆไม่ได้ ต้องตอบว่าให้ได้ว่าเงินอีก 4 ใน 5 นี้ไปอยู่ในมือใคร และสองคือการมีสต็อคข้าวมากยิ่งเก็บข้าวไว้นานคุณภาพก็เสื่อม ต้องว่าจ้างเอกชนปรับปรุงข้าว และเวลาขายข้าวจากโกดังเมื่อไหร่ก็เป็นที่วิจารณ์กันทุกสมัย ถึงความไม่โปร่งใส การฮั้วกันบ้าง โกงกันบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์และการส่งออกของประเทศมีอุปสรรคมาก"นายเกียรติระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลยังใช้เงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)และออมสินในการรับจำนำแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ผลลัพท์ที่ได้ช่วยชาวนาได้เพียง 1.7 ล้านคน เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวกว่า 5.6 ล้านครัวเรือน รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะให้ ธกส.และออมสิน เป็นผู้แบกรับภาระในโครงการนี้จะไหวหรือไม่ และใครจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น จะอ้างว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบคงไม่ได้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปชป. อัดยับ จำนำข้าว ถึงมือชาวนา แค่9พัน

view