สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จัดทัพบิ๊กขรก.108 เก้าอี้ สร้างบารมีปู-สู้ประชามติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ระเบิดการเมืองที่จะทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนัก มีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 และร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่ารัฐบาลอาจจะเลือกแนวทางจัดทำประชามติ และแน่นอนรัฐบาลต้องใช้กำลังภายในอย่างมาก ในการขับเคลื่อนทั้งงบประมาณแผ่นดิน เพื่อระดมคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 22-23 ล้านเสียง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องสร้างความนิยมจากประชาชน เพื่อให้อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด

ฉะนั้น เครื่องมือกลไกสำคัญ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายของรัฐบาลในทางการเมืองได้ คือ ต้องคุมข้าราชการให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจากนี้ไปจะได้เห็นการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับหัวแถวแทบทุกกระทรวง เพื่อต้องการวางรากฐานมือไม้ที่ไว้ใจเข้ามาตอบสนองนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลอย่างยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในปีนี้ตำแหน่งหัวแถวของข้าราชการเปิดกว้างมาก เพราะตำแหน่งระดับ “หัว” ที่กุมกลไกภาครัฐทั้ง 20 กระทรวง ปลดระวางหรือเกษียณอายุพร้อมกันจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 108 คน

ระดับปลัดกระทรวง เกษียณ 8 คน คือ สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม จีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ระดับรองปลัดกระทรวง เกษียณ 24 คน ระดับผู้ตรวจ 21 คน ระดับอธิบดี 26 คน และที่น่าจับตามอง คือ ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัด และระดับเอกอัครราชทูต 13 ตำแหน่ง รวมผู้บริหารระดับสูงที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ ทั้งสิ้น 108 ตำแหน่ง

1 ปีที่ผ่านมา มีบางตัวอย่างการแต่งตั้งโยกย้ายที่สังคมกังขาว่าส่อหมิ่นเหม่ว่าเป็นการดึง พรรคพวกญาติพี่น้องของตัวเองเข้ามารับตำแหน่ง เพื่อมาเป็นมือไม้ในการทำงานมากกว่ายึดหลักคุณธรรมจริยธรรมและความรู้ความ สามารถ

ตัวอย่าง 2 กรณีในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นข่าวโจษจันและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ว่า เป็นการโยกย้ายโดยสายตรงจากฝ่ายการเมือง โดยที่มีเป้าหมาย “ล้างบาง” ขั้วอำนาจเก่าสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เรืองอำนาจ รวมถึงต้องการเปิดทางให้บุคคลที่เป็นมือเป็นไม้ขึ้นมาทำงาน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่รัฐบาลเข้ามาทำงานใหม่ๆ คือ การเด้ง ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเก้าอี้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน เพื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ขึ้นมาทำหน้าที่ ผบ.ตร.แทน ทำให้ ถวิล ตกเก้าอี้ เลขาธิการ สมช. มานั่งตบยุงเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

อีกกรณีในกระทรวงการคลัง แม้จะมีการโยกย้ายชุดใหญ่รวดเดียว 6 เก้าอี้ ได้แก่ สมชาย พูลสวัสดิ์ จาก รองปลัด ไปเป็น อธิบดีกรมศุลกากร เบญจา หลุยเจริญ รองปลัด เป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็น รองปลัด

เป็นที่น่าประหลาดใจมาก เพราะการโยกย้ายล็อตใหญ่ครั้งนี้สังคมกลับไปให้ความสำคัญหรือโฟกัสแค่ ตำแหน่งที่ “เบญจา” มากกว่าทุกๆ คน เพราะทราบกันดีว่าเบญจาเป็นคนสนิทเจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกวางตัวว่าจะให้ดูแลกรมเกรดเออย่างกรมสรรพากร แต่เนื่องจากถูกกังขาในกรณีการเก็บภาษีหุ้นครอบครัวชินวัตรรัฐบาลที่ผ่านมา จึงไม่ได้ขยับ

ดังนั้น การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในปีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คงจะสมใจในการจัดวางคนของตัวเองเข้ามากุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นบวกเสมอ หากการดำเนินการดังกล่าวปราศจากระบบคุณธรรมจริยธรรมหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ปฏิบัติกันมา เพราะอาจทำให้พบกับกระบวนการต่อต้านหนักเข้าไปอีกจากทั้งใต้ดินและบนดิน และถึงเวลานั้นยากที่จะเกิดการปรองดอง

จริงอยู่ ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมเป็นปัญหายาวนานเกิดขึ้นกับทุกรัฐบาลที่ ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจตั้งใจในการแก้หรือไม่ เช่นเดียวกับรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม การซื้อขายเก้าอี้ด้วยการตัดตอนอำนาจการเมืองไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการแต่ง ตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง

มีการเสนอปรับแก้หลักเกณฑ์ หรือวิธีการในการคัดสรรผู้บริหารระดับกลางและสูง โดยเฉพาะระดับปลัดกระทรวงที่เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีประจำกระทรวงเท่านั้น เป็นผู้เสนอชื่อ แต่ข้อเสนอใหม่ คือ สร้างกระบวนการคัดสรรจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในกฎ ก.พ. เรื่องการโอนย้าย มาตรา 63 ของระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมา 1 ชุดต่อ 1 กระทรวง ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลจากภายนอก คัดเลือกว่าที่ปลัดกระทรวงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์การคัดสรรด้วย การเปิดรับสมัครจากภายในและนอกกระทรวง โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวคัดให้เหลือ 3 รายชื่อ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเพียง 1 ชื่อ

สำหรับระดับอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด กลไกการสรรหาคล้ายคลึงกัน คือ จะมีกรรมการทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสรรหา กล่าวโดยสรุป คือ พยายามตัดตอนการใช้อำนาจแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการประจำ แนวคิดดังกล่าวนำเสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เข้ามาสู่อำนาจใหม่ๆ จนปัจจุบันยังอยู่เป็นแค่ข้อเสนอบนหน้ากระดาษ

อย่างไรก็ตาม การจัดทัพข้าราชการเพื่อทำงานสนองนโยบายรัฐบาลสามารถทำได้ตามกฎหมายบริหาร ราชการแผ่นดิน แต่สิ่งสำคัญ คือ การแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวงหรืออธิบดี ฯลฯ ที่เป็นข้าราชการระดับสูงอยู่ในฐานะที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างฝ่ายการเมืองกับ ฝ่ายข้าราชการประจำ ในการพิจารณาแต่งตั้งต้องยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม คำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กร ประชาชน ประเทศชาติ เป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นการปรองดองจะไม่เกิด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จัดทัพบิ๊กขรก. 108 เก้าอี้ สร้างบารมีปู สู้ประชามติ

view