สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตโลกพลิกโอกาส ได้เวลากลุ่มทุนอาเซียนผงาด

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นับเป็นโอกาสในวิกฤตอย่างแท้จริง สำหรับ 10 ชาติสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพราะในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐกับยุโรปกำลังประสบปัญหาฝืดเคือง

แต่หลายๆ บริษัทในอาเซียนซึ่งกำลังยินดีปรีดากับผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างต่อ เนื่อง จากแรงบริโภคของประชาชนภายในประเทศ และจากจำนวนคู่แข่งขันในตลาดที่มีอยู่เพียงแค่หยิบมือ เริ่มเล็งเห็นโอกาสที่จะเจริญรอยตามรุ่นพี่เอเชียรายอื่นๆ เช่น ซัมซุง โตโยต้า หรือกระทั่งเพื่อนบ้านสมาชิกในกลุ่มเดียวกันอย่าง แอร์เอเชีย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับบนเวทีโลก

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากไม่รีบคว้าโอกาสนี้ไว้ บริษัทยักษ์ใหญ่จากอาเซียนก็จะพลาดโอกาสขยับขยายเติบโตเป็นผู้เล่นหลักของ โลกได้ ซึ่งอาจสั่นคลอนถึงความอยู่รอดของบริษัทเหล่านี้ในอนาคต

เพราะตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนเริ่มคับแคบไม่ใหญ่พอรองรับการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ที่บรรดาบริษัทคาดหวังตั้งเป้าไว้ในอนาคต

เพราะวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ ทำให้ทรัพย์สินในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงวิทยาการและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นของราคาแพงเกินเอื้อมของอาเซียน มีราคาถูกลงในระดับที่อาเซียนสามารถควักเงินจ่ายได้

เรียกได้ว่า สถานการณ์แวดล้อมล้วนเอื้ออำนวยประโยชน์และเป็นใจให้อาเซียนก้าวสู่เวทีโลก โดยมีบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติอาเซียนจำนวนหนึ่งได้เริ่มกระโดดลงสู่การแข่งขัน บนเวทีขนาดใหญ่ดังกล่าวอย่างคึกคักเรียบร้อยแล้ว โดยหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ได้รวบรวมกรณีตัวอย่างไว้มากมาย

เช่น กรณีบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่อย่าง ไทยเบฟเวอเรจ ลุยสู้ ไฮเนเก้น ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในศึกซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นของสิงคโปร์ ซึ่งครอบครองบริษัท เอพีบี ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ในอาเซียน เพื่อครองตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตสดใส

หรือกรณีที่รอยัล ดัตช์ เชลล์ ผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลกจากเนเธอร์แลนด์ ถอนตัวจากการซื้อหุ้นบริษัท โคฟ เอนเนอร์จี ของอังกฤษ หลังจากเจอคู่แข่งอย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. ที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาถือหุ้น 40% กับสแตต ออยล์ ในแคนาดา

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจน้ำมันในมาเลเซียที่อยู่ในระหว่างการตกลงซื้อขายกับบริษัท พลังงานในแคนาดา หรือบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง มาเลเซีย เกนติง ที่กำลังเจรจาธุรกิจกาสิโน รีสอร์ต ในไมอามีและนิวยอร์กของสหรัฐ และการซื้อห้างสรรพสินค้าระดับบนอย่าง ลา รินาสซองเตในอิตาลี ของเซ็นทรัลรีเทล กรุ๊ป ของไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตหนี้ในยุโรปและสหรัฐจะนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับหลายๆ ประเทศในอาเซียน

แต่บรรดานักลงทุน ตลอดจนนักวิเคราะห์ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจโลก ก็ยังอดมีประเด็นกังขาอยู่ภายในใจไม่ได้ว่า เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่จากอาเซียนแห่งนี้จะมีความพร้อมในการแข่งขันมากแค่ไหน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ความแข็งแกร่งของบริษัทสัญชาติอาเซียนทั้งหลายยังขาดความชัดเจนที่จะทำให้ โลกเชื่อมั่นได้ว่า บริษัทมีศักยภาพและความสามารถทัดเทียมเท่าทันดีพอที่จะต่อกรรับมือกับบริษัท ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอื่นๆ

เพราะการก้าวขึ้นสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกไม่ได้อาศัยเพียงแค่ทุนหนา เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกที่ยังคงความได้เปรียบในเรื่องวิทยาการความรู้และ เทคโนโลยีได้อย่างไม่น้อยหน้า

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปรากฏตัวอย่างของบริษัทสัญชาติอาเซียนจำนวนไม่น้อยที่ก้าวเท้าออกจากภูมิภาค แล้วเดินสะดุดหน้าคะมำ โดยหนึ่งในบทเรียนที่เห็นได้ชัดเจนนี้ รวมถึงบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยอย่าง ปตท. ซึ่งเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่หลังจากที่บริษัทในเครืออย่าง ปตท.สผ. ต้องรับมือกับวิกฤตน้ำมันรั่วในประเทศออสเตรเลีย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 ชื่อของ ปตท.สผ.กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากที่หนึ่งในบ่อน้ำมันภายใต้กรรมสิทธิ์ของ ปตท.สผ. ซึ่งซื้อมาจากบริษัท คูกี รีซอร์ส ของออสเตรเลีย เกิดเหตุน้ำมันรั่วในบริเวณทะเลติมอร์ ไม่ไกลจากชายฝั่งของออสเตรเลียสักเท่าไรนัก

เนื่องจากอุบัติเหตุดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในเหตุน้ำมันรั่วครั้งร้ายแรง ที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย โดยมีน้ำมันรั่วลงทะเลมากถึง 2 หมื่นลิตร ขณะที่ทางด้าน ปตท.สผ. จากการประเมินของนักวิเคราะห์ระบุว่า ต้องควักเงินจ่ายค่าเสียหายสูงถึงประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,300 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าความเสียหายจากการที่บริษัทต้องเลื่อนแผนการผลิตจากบ่อ น้ำมันดังกล่าวออกไป โดย ปตท.สผ.คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตจากบ่อน้ำมันแห่งนี้ได้อีก ครั้งภายในปีนี้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจข้ามชาติต่างเห็นตรงกันว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดทักษะความชำนาญ เทคโนโลยี และความรู้อย่างดีเพียงพอ

โจ สตุดเวลล์ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิจารณ์ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเชียน แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจผ่านหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ว่า สถานการณ์ ในขณะนี้ส่งผลให้หลายบริษัทในอาเซียนสามารถซื้อขายทำธุรกิจด้วยราคาที่เอื้อ อำนวยอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตราบใดที่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน เช่น โตโยต้า หรือซัมซุงแล้ว บริษัทในแถบอาเซียนยังคงขาดศักยภาพทางเทคโนโลยีที่จะต่อสู้กับคู่แข่งบนเวที โลกได้

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังมองว่า หลายๆ บริษัทของอาเซียนยังคงขาดประสบการณ์การแข่งขันในเวทีโลก เพราะการเติบโตทางธุรกิจของตนเองยังคงพึ่งพาสายสัมพันธ์ภายในบ้านเพื่อครอง ความเป็นหนึ่งในตลาด และอาศัยเพียงแค่เงินทุนมหาศาลในการขยับขยายเพิ่มความก้าวหน้าของบริษัท

และแน่นอนว่า ปัจจัยการเติบโตข้างต้นย่อมไม่พอแข่งขันกับคู่แข่งจากทั่วทุกมุมโลกได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกสามารถยอมรับนับถือจากภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสนิทใจใน ขณะนี้ก็คือ ความมั่งคั่งหรือเงินที่มีอยู่อย่างมหาศาล และโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่บริษัทข้ามชาติระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้

หลักฐานยืนยันความมั่งคั่งของอาเซียนก็เช่นกรณีที่ธนาคารดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนจากสิงคโปร์ สามารถประมูลซื้อธนาคารพีทีแบงก์ ดานามอน ของอินโดนีเซียไปแบบสบายๆ ด้วยมูลค่า 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.26 แสนล้านบาท) ในช่วงที่นักลงทุนชาติตะวันตกกำลังปวดหัวกับการแสวงหาหลักเกาะที่มั่นคงภาย ในบ้านตนเอง

หรือจะเป็นกรณีล่าสุดที่ธนาคารซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิงส์ ของมาเลเซีย ควักเงินซื้อหุ้นสาขาของธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) ในภูมิภาคเอเชียมูลค่าถึง 142 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,402 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความพยายามของซีไอเอ็มบีที่จะเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการ เงินของภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่หลักฐานโอกาสของอาเซียนก็คือ การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 หรืออีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการรวมตัวดังกล่าวจะเป็นการยกระดับให้อาเซียนกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาค ใหม่ที่มีความสำคัญ ด้วยขนาดจำนวนประชากรที่มากถึง 600 ล้านคน จาก 10 ประเทศ

เพราะประชาคมอาเซียนที่มาพร้อมการค้าขาย และการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน ผลผลิตอย่างเสรี ด้วยการรวมเป็นตลาดเดียว จะช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่ภายในบ้านทั้งหลายตระหนักถึงศักยภาพความสามารถของตน เอง รวมถึงพยายามหาทางส่งเสริมค้ำจุนฐานะของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อไขว่คว้าโอกาสมากกว่าปล่อยให้ประชาคมอาเซียนกลายเป็นอุปสรรค

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การเป็นประชาคมอาเซียนยังเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเห็นว่า จะเป็นโอกาสให้บรรดาผู้ประกอบการในภูมิภาคเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ซ้อมมือ ก่อนก้าวขึ้นสู่เวทีการแข่งขันโลกต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่จะก้าวสู่ความเป็นองค์กรที่เปี่ยมความสามารถและแข็งแกร่งย่อมไม่ ใช่เรื่องง่ายดาย และอย่างน้อยต้องมีบทเรียนแสนเจ็บปวดให้ก้าวผ่านเสมอ

เหมือนที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้จัดการกับเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น และสมาร์ตโฟนจากเกาหลีใต้แข่งขันได้อย่างสูสีกับสมาร์ตโฟนสัญชาติสหรัฐ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทสัญชาติอาเซียนทั้งหลาย ว่าจะยินยอมแบกรับและเอาจริงเอาจังกับบทเรียนบททดสอบเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บ ของตนเองต่อไปอย่างไร

หรือจะยอมจำกัดบทบาทเป็นเพียงแค่องค์กรกระเป๋หนักขนาดใหญ่คับบ้านต่อไป!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตโลก พลิกโอกาส ได้เวลา กลุ่มทุนอาเซียนผงาด

view