สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3กูรูประสานเสียงเตือน ปีหน้าเศรษฐกิจโลกแย่ แนะทางรบ.เตรียมรับมือ

3กูรูประสานเสียงเตือน ปีหน้าเศรษฐกิจโลกแย่ แนะทางรบ.เตรียมรับมือ

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมปฐกถาพิเศษเรื่อง " จุดเปลี่ยนการค้าโลก:ไทยจะเดินอย่างไร" ที่กระทรวงพาณิชย์ ในงานครบรอบ 92 ปีกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม--ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2555

ศุภชัย พานิชภักดิ์

เลขาธิการ อังค์ถัด

เศรษฐกิจ โลกปีนี้น่าจะโตไม่ถึง 2.5% ปีหน้าจะแย่กว่าปีนี้ ทำให้การค้าโลกโตไม่ถึง 5% ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนการค้าโลก ที่น่าจับตาจากนี้ไปคือการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) จะยังไม่มีความคืบหน้าแม้ในปีหน้าก็ไม่คืบหน้า จะมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศต่างๆ หันมาผลักดันเรื่องที่ตนเองต้องการนอกกรอบพหุภาคี และหันไปเจรจากันเองมากขึ้น หากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจจะเสียเปรียบได้

จะ มีการผลักดันประเด็นที่ตกค้างจากประชุมดับเบิลยูทีโอ ที่สิงคโปร์ คือการแข่งขันทางการค้า แรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อโดยรัฐเพิ่มมากขึ้น และยังมีแนวโน้มรัฐบาลประเทศต่างๆ จะลงมาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งจะขัดกับการเจรจาที่ต้องการให้มีการเปิดเสรี

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยต้องเตรียมปรับโครงสร้างเพื่อรับมือคือวางยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยใช้ประโยชน์ระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ให้มากขึ้น เช่น การเร่งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยการค้า (ทริปส์) ในเรื่องยา และการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า รวมทั้งร่วมมือทางการค้าในกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และเออีซีบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ให้มากขึ้น

วีรพงษ์ รามางกูร

ประธานคณะกรรมการ ธปท.

กระทรวง พาณิชย์เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการค้าต่างประเทศนั้นถูกต้อง และเป็นเรื่องที่ทำมาตลอด ราชการต้องเป็นกำลังหนุนกองทัพสู้กับการค้าของประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นทั้งผู้อุ้มชู ดูแล คุ้มกัน ทำหน้าที่เป็นผู้นำทัพหน้า ส่วนกระทรวงการคลังและ ธปท. จะเป็นผู้ระวังหลัง ให้ความสะดวกกับผู้อยู่แนวหน้า เพราะลักษณะเศรษฐกิจไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยทำการค้าทั่วโลกไม่ถึง 1% ฉะนั้นการเป็นประเทศเล็ก จำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกในการผลักดันเอกชนให้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ และไทยเองก็ยังลดปัญหาเรื่องการผลิตที่ล้นตลาด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศในการดึงผลิตภัณฑ์ส่วนเกินออกไป

ที่ ผ่านมาเราสามารถพึ่งพาต่างประเทศได้ดี และพึ่งพาตนเองอย่างเช่น นายธนินท์ (เจียรวนนท์ ประธานกรรมการซีพี) บุกเบิกอาหารสัตว์และสินค้าเกษตร จนเป็นบริษัทที่สามารถขยายตัวไปทั่วเอเชีย ไทยมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นทุกหน่วยงานราชการจะต้องสนับสนุนในการอำนวยความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งในต่างประเทศให้มากขึ้น แม้ผมจะเป็นประธานบอร์ด ธปท.แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็จะใช้สติปัญญานำพา ธปท.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เราอยู่บนทางสามแพร่งที่จะ ต้องเลือกเลี้ยวไปทางไหนดี โลกข้างหน้าเป็นเหว หัวรถจักรคือสหรัฐและอียู (สหภาพยุโรป) ซึ่งอย่าหวังว่าสหรัฐจะฟื้นตัวเร็ว เพราะยังแข่งขันในเรื่องผลิตภัณฑ์ไม่ดีเท่ากับภาคบริการและบุคลากร ซึ่งได้มีการต่อยอดเทคโนโลยีและนำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสร้างประโยชน์ เชิงการค้า จะพบว่าที่ผ่านมาแม้สหรัฐจะมีปัญหา แต่ก็จะผ่านพ้นไปจากการนำไอทีเข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนาวายทูเค วิกฤตแฮมเบอเกอร์ เป็นต้น อีกทั้งอเมริกายังให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านบุคลากร ขณะที่ยุโรปขณะนี้เหมือนคนอ้วนและมีลูกเล็กผูกขาไปด้วยกันทำให้เดินลำบาก เพราะใช้เงินสกุลเดียวกัน เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหาโดยรวมก็จะมีปัญหาตามไปด้วย ทางแก้คือการลดค่าเงินเพื่อให้ค่าแรงและราคาสินค้าถูกลง

ตอนนี้ สถานการณ์ยุโรปรอเวลาที่จะระเบิด ควรต้องยอมตัดนิ้วร้าย แล้วหันไปใช้เงินสกุลของตัวเอง โดยลดค่าเงิน หากไม่เช่นนั้นอียูก็จะล้มทั้งแผงส่งผลให้ตลาดโลกซบเซา ซึ่งรวมถึงจีนด้วย และขณะนี้จีนก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นในส่วนของการบริหารจัดการของจีนในการดูแลสภาพเศรษฐกิจ และจากการไปเยือนจีนก็พบว่าเศรษฐกิจล้ำหน้ามาก ค่าจ้างแรงงานก่อสร้างสูงถึง 400-500 บาท ขณะที่ไทยอยู่ที่ 300 บาท ซึ่งสะท้อนว่าสภาพเศรษฐกิจและแรงงานของจีนมีทักษะที่สูงขึ้น

นอกจาก นี้ควรจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคและการส่งออกใน ซีกภาคตะวันตกของไทย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 30-35% ขณะที่พึ่งพากลุ่มการค้าในตะวันออกประมาณ 70-80% เป็นเพราะว่าค่าขนส่งที่ถูกจากที่ทวายเป็นตัวช่วย เพราะสหรัฐยังไม่ฟื้นและอียูก็รอวันตาย ส่วนจีนก็มองว่ายังไม่มีปัญหา คาดว่าคงเร่งปรับตัวโดยจะเห็นว่าขณะนี้จีนกำลังเร่งลงทุนในประเทศและมีการ ผลักดันธุรกิจไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันในเรื่องค่าเงินหยวนที่แข็งค่า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย

เมื่อ ดูจากที่ตั้งประเทศไทยที่ตัดกับโครงการการลงทุนสาธารณูปโภคกับโลจิสติกส์ที่ จะตัดเข้ามาไทยในเส้นทวายพอดี เพราะโครงการแรกที่มีการเชื่อมมาบตาพุด แหลมฉบังและทวาย เพื่อเพิ่มการค้าในกลุ่มประเทศตะวันตกของไทยให้ขยายตัว เชื่อว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่

ใน ช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนี้ ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเร่งลงทุน เพราะเชื่อว่าการส่งออกจะมีการชะลอตัวแน่นอน ควรใช้ข้อได้เปรียบจากการเกินดุลการค้าตลอด 15 ปี มาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยกันลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีเงินออมสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาล ก็ต้องเร่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนขยายตัว และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งแต่ละโครงการกว่าจะเสร็จจะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี ส่วนเงินเฟ้อนั้นคงทำอย่างไรไม่ได้ เพราะราคาสินค้าเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลาย ต้องยอมรับว่าราคาสินค้าต้องแพงขึ้น ซึ่งวิธีการดูแลเงินเฟ้อคือการเร่งรายได้ให้สูงขึ้น ไม่ใช่ไปกดราคาสินค้า เรื่องนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ธปท. แต่ก็ยังสามารถช่วยทำงานได้

ธนินท์ เจียรวนนท์

ประธานกรรมการ ซีพี

เศรษฐกิจ โลกในปีหน้าจะแย่กว่านี้ปีนี้ แต่ไม่อยากให้ท้อใจ ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ ต้องเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ต้องเร่งลงทุน และส่งเสริมนักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยใช้ทุนสำรองสะสม 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไทยมีอยู่และเป็นอันดับ 13 ของโลก มีหนี้ระยะสั้นไม่กี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีหนี้สูงกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นหนี้ระยะสั้น

รัฐบาลต้องเอาเงินออกมาใช้ ต้องลงทุนในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศ เช่น ท่าเรือ คมนาคม โลจิสติกส์ รถไฟรางคู่ความเร็วสูง ระบบชลประทาน หรือใช้เงินส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำเอทานอล เพราะได้ราคาดีกว่าการปลูกข้าวทั้งนั้น แต่จะต้องมีแผนรองรับใน 5-10 ปี จะใช้วัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตเอทานอลเท่าไร และจะลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละเท่าไร ไม่อยากให้แบงก์ชาติกังวลภาวะเงินเฟ้อมากไป เพราะว่าผลกระทบมาจากราคาน้ำมันที่ไทยไม่สามารถควบคุมได้ และเห็นว่าควรจะนำเงินทุนสำรองที่มีอยู่สูงมาก ไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะดีกว่า

เห็นด้วยกับการรับจำนำข้าว เพราะไปถามเกษตรกร เกษตรกรบอกว่าจำนำดีกว่าประกันรายได้ ไม่ได้พูดแทนเกษตรกร เพราะการขายข้าวราคาถูก เงินไปตกกับใคร ชาวนาไม่ได้อะไร แต่นักธุรกิจได้ ซื้อถูกไปขายถูก ทำง่าย นักธุรกิจค้าข้าวพอใจ แต่จำนำซื้อแพง ขายแพง ทำยาก มีโอกาสขาดทุน พ่อค้าไม่พอใจ โดยรัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือพ่อค้าที่ได้รับผลกระทบด้วย

คู่ แข่งสำคัญของไทยคือ พม่า ไม่ใช่เขมรหรือเวียดนาม เพราะเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวและขายได้น้อยกว่า พม่าจะเป็นคู่แข่งน่ากลัวมากกว่า แต่ไทยไม่ต้องกลัว ต้องส่งเสริมให้นักธุรกิจของไทยไปซื้อของพม่าไปขายทั่วไป เราคิดว่าจะซื้อวัตถุดิบทั่วโลกแล้วนำไปขายในตลาดอื่น ที่ไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เป็นแชมป์ข้าวราคาแพงดีกว่าแชมป์ข้าวราคาถูก เพียงแต่รัฐบาลจะดูแลส่วนที่เดือดร้อนอย่างไร สต๊อกของรัฐควรให้บริษัทเอกชนมาดูแลหากทำให้รัฐเสียหายจะได้ปรับได้

ตอน นี้เห็นความโดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ปัจจุบันไทยเป็นที่ 4 ของโลก มีการผลิตต่อปี 1.4 ล้านคัน รองจากจีนที่ผลิตได้ 18 ล้านคัน ญี่ปุ่น 8.3 ล้านคัน และเกาหลีใต้ 4 ล้านคัน น่าจะผลักดันเป็นที่ 3 หรือที่ 2 ของโลก และมีโอกาสสูงเพราะยี่ห้อของโลกก็มาผลิตในไทยแล้ว น่าจะมีการลงทุนในเรื่องการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มากขึ้น ก็จะเป็นศูนย์กลางในอาเซียนได้ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดทำเป็นหลักสูตร ลดปัญหาตกงานและแรงงานต่ำ

รวม ถึงส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว แค่วางแผนดึงนักท่องเที่ยวจากจีน หากคน 10% ของจีนหรือ 130 ล้านคนมาเที่ยวไทย ก็จะเกิดรายได้มหาศาล ควรสนับสนุนด้านโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว และลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษปลอดภาษี ให้เช่าที่ดินได้ 99 ปี เพื่อดึงให้มาลงทุน และให้เป็นแหล่งซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว และผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม เพราะธุรกิจเหล่านี้ไปแล้วจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ทุกวันนี้เขายังขาด ทั้งข้อมูล เงินทุน รัฐบาลต้องช่วย


"โกร่ง-ซุป-ธนินท์" ชี้ปีหน้า ศก.โลกดิ่ง แนะไทยพลิกโฉมการค้า-ผุดโครงสร้างพื้นฐาน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "จุดเปลี่ยนการค้าโลก : ไทยจะเดินอย่างไร" ในงานวันพาณิชย์ ครบรอบ 92 ปี ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่าหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เอกชนดำเนินธุรกิจในต่างประเทศทั้ง กระทรวงพาณิชย์ และธปท. เพราะเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กต้องพึ่งพาการค้าโลก สำหรับเศรษฐกิจโลกคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐจะไม่ฟื้นได้ง่ายๆ รัฐบาลจึงต้องเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้เอกชนสามารถวางแผนได้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการเชื่อมมาบตาพุด แหลมฉบัง และท่าเรือทวายจะเพิ่มสัดส่วนการค้าฝั่งตะวันตกให้ขยายตัวอย่างมหาศาล จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 30% เทียบกับการค้าฝั่งตะวันออกมี 70% ซึ่งหากสำเร็จจะพลิกโฉมการค้าไทยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จีนจะขยายเขตการค้าให้ครอบคลุมทั่วเอเชีย และไทยก็เป็นประตูสู่อาเซียน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ต้องปล่อยให้ ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาของแพงที่ถูกต้องคือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งแนวคิดนี้ต่างกับแนวทางของธปท. ที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามความเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ


ด้าน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังถัดค์) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตไม่ถึง 2.5% เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังไม่คลี่คลาย ทำให้การค้าโลกขยายตัวไม่ถึง 5% ท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่กระจายไปทั่วโลกและสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยไทยต้องเตรียมรับมือการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น และศึกษาหาทางเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออก รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เหนียวแน่น

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะแย่ยิ่งกว่าปีนี้ โดยไทยต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก มาใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบ โลจิสติกส์ ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างการผลิต โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวให้เหลือเพียง 25 ล้านไร่ ในเขตชลประทาน และพัฒนาการผลิตให้สมบูรณ์แบบ เพื่อเพิ่มผลผลิตไม่ต่ำกว่า 67 ล้านไร่ในปัจจุบัน และหันไปแข่งเรื่องคุณภาพแทนด้านราคา ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงย่อมจะมีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ รัฐจึงควรเข้าไปช่วยผู้ที่เสียประโยชน์ให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด

"มั่น ใจว่าการจำนำข้าวดีกว่าประกันราคาแน่นอน เพราะเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และในอนาคตคู่แข่งด้านค้าข้าวของไทยไม่ใช่เวียดนาม หรือกัมพูชา แต่เป็นพม่า ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมนักลงทุนไทยซื้อข้าวพม่าไปขายทั่วโลก ขณะที่ข้าวไทยจะส่งไปขายอีกตลาดที่ราคาสูงกว่า เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จึงต้องการฝากรัฐบาลควรกำหนดแนวทางสินค้าเกษตรในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ในการส่งเสริมและกำหนดพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน เพราะตลาดโลกมีความต้องการพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย" นายธนินท์กล่าว

นอกจากนี้ ยอมรับว่าปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทั้งในโครงการรับจำนำและประกันรายได้ แต่รัฐบาลจะต้องวางมาตรการในการดูแล โดยหาตัวกลาง หรือบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือบริษัทที่เข้ามาดูแลคุณภาพข้าวโดยตรง ซึ่งหากมีคนกลางมาดูแลเชื่อว่าจะลดปัญหาการทุจริตน้อยลง และการเสียแชมป์การ ส่งออกข้าวนั้นส่วนตัวมองว่าหากติดอันดับแล้วขายข้าวราคาถูกก็ยอมที่จะเสีย แชมป์ดีกว่า โดยไทยต้องรักษาคุณภาพข้าวเพื่อให้ขายได้ในราคาสูง ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเป็นดาวเด่นของไทย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2-3 ของเอเชีย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 เพราะค่ายรถขนาดใหญ่มาลงทุนในไทยจำนวนมาก

ที่มา : นสพ.ข่าวสด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3กูรู ประสานเสียงเตือน ปีหน้า เศรษฐกิจโลกแย่ แนะทางรบ. เตรียมรับมือ

view