สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมคิด แนะสร้างสมดุลศก. หยุดพึ่งพาส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"สมคิด"แนะรัฐบาลปรับสมดุลศก. หยุดพึ่งพาการส่งออก พร้อมปรับแนวคิดจำนำข้าว-ประกันราคาข้าว ชี้เป็นแค่การแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ "การสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศในทศวรรษหน้า" ในงานสัมมนา "KK Wealth Panorama ครั้งที่ 1"  เรื่อง "Wealthy and Healthy Portfolio Management" จัดโดย บลจ.เกียรตินาคิน เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ คือ

ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้ของประชากร (GDP per Capita) ประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150,000 บาทต่อปี มีความมั่งคั่งของประเทศประมาณอันดับที่ 90 ของโลกถือเป็นระดับกลางๆ แต่ถ้ามองพัฒนาการของประเทศของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2504 (แผนพัฒนาการเศรษฐกิจฉบับที่ 1) ถือว่ามีพัฒนาการที่สูงมาก จากที่เคยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน (แผนพัฒนาการเศรษฐกิจฉบับที่ 11) โดยมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมากจากภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา

แต่ปัจจุบันจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขอีก 4 - 5 ปี เพราะปัญหาหลัก ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นปัญหาที่ผสมผสานระหว่าง 1) ความกลัว และ 2)ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังไม่ได้รับการปฏิรูป สถาบันการเงินภาครัฐก็ไปอุ้มเอาไว้ในท้ายที่สุดจะกระทบธุรกิจของสหรัฐแน่นอน เมื่อสหรัฐและยุโรปเป็นเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของโลกด้วยเช่นกัน ปัจจุบันอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และ จีน  BRICs รวมทั้งประเทศในเอเชียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวให้เห็นโดยถ้วนหน้ารวมทั้งจีนเอง

"ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในจุดเสี่ยง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจไทยจะพึ่งการส่งออก ต้องยอมรับว่าเครื่องจักรตัวนี้ ไม่ได้มีแรงผลักที่ดีเช่นในอดีตแล้ว ไทยกำลังจะก้าวสู่วงจรขาลงของการส่งออกหากสถานการณ์โลกยังเป็นเช่นนี้ ดังนั้นไทยจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตโดยพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศกับการส่งออกให้ดี ต้องเน้นการเติบโตจากภายในไม่ใช่พึ่งพิงการส่งออกเช่นในอดีตที่ผ่านมา"

ปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ให้ได้ คือ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 60% อยู่ในภาคเกษตร แต่มีส่วนในการสร้างผลผลิตให้กับประเทศไม่ถึง 10% ของจีดีพี ประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 30-40 ล้านคน กลายเป็น “ภาระ” ไม่ใช่ “สินทรัพย์” ประเทศไทยจะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยังไงก็ตาม หากไม่สามารถเปลี่ยนคนส่วนใหญ่กลุ่มนี้จาก “ภาระ” ให้มาเป็น “สินทรัพย์” เพื่อจะสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้ประเทศไทยก็ยากจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

@แนะปฏิวัติการเกษตร-หยุดอุดหนุน

รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะการรับจำนำข้าวก็ดี การประกันราคาข้าวก็ดี เป็นแค่การแก้ไขปัญหาชั่วคราว ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาว เหมือนการรดน้ำลงใบไม่ใช่การรดน้ำลงที่ราก และยิ่งทำนานไปจะยิ่งแย่ลงยิ่งจนลงด้วยสำหรับประเทศ ยกตัวอย่าง บราซิลรัฐประกาศหยุดการอุดหนุนสินค้าเกษตรแล้วนำเงินตรงนั้นไปลงทุนพัฒนาวิจัย “ปฏิวัติการเกษตร” อย่างจริงจังจนสามารถเปลี่ยนจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของเขาให้มีมูลค่ามากขึ้นได้

"ไทยต้องคิด-ทำ เช่นนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงจะมีความกินดีอยู่ดีขึ้น ในอดีตที่ผ่านมา ไทยใช้การพัฒนาจากภายในไม่ได้เพราะคนในประเทศยากจน แต่ถ้าทำได้เกษตรกรประมาณ 30-40 ล้านคน ก็มีความหวังที่จะมีรายได้ที่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาความยากจน เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ต้องทำให้เขาบริหารจัดการตัวเองได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง รัฐเป็นพี่เลี้ยง แล้วค่อยใส่เงินเข้าไป เป็นต้น ถ้าไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่จะเพิ่มอำนาจซื้อให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เลย"

 
@ชี้ต้องกระจายอำนาจบริหาร
 

ไทยยังควรจะมีการกระจายอำนาจในการบริหารประเทศเพื่อให้ความเจริญต่างๆ ไปสู่ภูมิภาค ยกตัวอย่างจีนมีมหานครยักษ์ใหญ่ติดอันดับโลกอยู่ในจีนถึง 29 แห่ง ในสหรัฐ 13 แห่ง และเมืองใหญ่ของจีนนั้นหลายเมืองไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน เพราะรัฐเขากระจายอำนาจเพื่อให้เมืองสามารถพัฒนาไปได้ตามศักยภาพที่เมืองนั้นจะเป็นโดยรัฐคอยสนับสนุนด้านงบประมาณ ตรงข้ามกับไทยทุกอย่างบริหารแบบรวมศูนย์คิดจากส่วนกลางทุกอย่างออกจากกรุงเทพฯ กระจายงบไปตามกระทรวง ด้วยแนวคิดแบบนี้ไม่มีทางเลยที่จะเห็นเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในต่างจังหวัดของไทย เชียงใหม่ก็ไม่ใหญ่เท่ากรุงเทพฯ ไม่มีวันจะเห็นแม่ฮ่องสอนกลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมาได้เลยด้วยแนวคิดเช่นนี้

ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศเองไทยจะต้องมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า จะส่งเสริมอุตสาหกรรมใดที่จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาประเทศโดยไร้ซึ่งเป้าหมาย โดยในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นจะต้องมีเรื่องของ “นวัตกรรม” ภายในอุตสาหกรรมนั้นๆ เข้าไปอยู่ด้วย เพราะมองสินค้าที่ไทยผลิตในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร เทคโนโลยีก็ไม่ได้สูง แต่ในอนาคตไทยจะต้องมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนที่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องมีนวัตกรรม ไม่ใช่ผลิตแต่รับจ้างผลิต (OEM) เช่นในปัจจุบัน

"เพื่อจะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้ อ.ที่ทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น การเรียนการสอนก็จะต้องเปลี่ยนไปจากในอดีต รัฐเองจะต้องมีกลไกที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเกิดขึ้นและเติบโตขึ้น อย่างยั่งยืนแบบครบวงจร ถ้าไปดูวงเงินสินเชื่อทั้งระบบของไทยแล้วจะตกใจว่า ผู้ที่ได้เงินสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ในขณะที่ เอสเอ็มอีต้องดิ้นรนแสวงหาสินเชื่อกันเอง ซึ่งต่างกับสหรัฐ ทำให้สหรัฐเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีและธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ที่สำคัญของประเทศได้"


กรณีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 มองว่า ไทยต้องรู้จักใช้จุดเด่นและข้อได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของความพร้อมในการเปิด AEC แต่ประการใด ต้องรู้จักเล่นการเมืองระดับโลกเพื่อประโยชน์ของประเทศไม่ใช่เล่นการเมืองระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนตัว กรณีของพม่าออง ซาน ซูจี ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ใช้เกมการเมืองระหว่างประเทศทำให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจจะไปลงทุนในพม่า ไทยก็ต้องทำให้ได้ถ้าทำได้ทุกอย่างจะตามมาเอง

ปัจจุบัน สิงคโปร์ประกาศความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มาเลเซียเองก็มีความพร้อมและนโยบายที่ชัดเจน แต่สองประเทศนั้นยังมีชัยภูมิที่สู้ไทยไม่ได้ แต่ไทยต้องใช้ภูมิรัฐศาสตร์เล่นการเมืองระดับโลกให้เป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเอง เพราะว่าปัจจุบันหลายๆ ประเทศในอาเซียนก็กำลังทำอยู่


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมคิด แนะสร้างสมดุลศก. หยุดพึ่งพาส่งออก

view