สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมดทางยื้อเร่งระบาย7.5แสนตัน จับตาสยามอินดิก้าผูกขาดข้าวรัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

รัฐหมดหนทางเก็บสต๊อกข้าว 10 ล้านตัน ล้นโกดังท่วมประเทศ ยอมเปิดประมูลทั่วไปครั้งแรก 7.5 แสนตัน ยื่นซอง 28 ส.ค. ไม่บังคับต้องส่งออก วงการทำนายขาดทุนเละเทะ จับตา "สยามอินดิก้า" ผงาดขึ้นเบอร์ 3 ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุด



สต๊อกข้าวสารจากโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงผิดปกติตามนโยบายประชานิยมที่มีมากกว่า10 ล้านตัน ส่งผลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีทางเลือก และ "จำเป็น" ที่จะต้องเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหา 2 ประการ ได้แก่ การไม่มีโกดังเก็บข้าวมากพอที่จะเก็บทั้งข้าวโครงการรับจำนำเก่า (2554/55) กับข้าวที่จะเปิดรับจำนำใหม่ (2555/56) กับการขาดสภาพคล่องในการรับจำนำข้าว หากรัฐบาลไม่ยอมขายข้าวในสต๊อกเพื่อนำเงินมาคืน ธ.ก.ส. แม้จะขาดทุนเพียงใด

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว ได้ออกประกาศ 3 ฉบับ เรื่องการจำหน่ายข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และ/หรือส่งออกโดยวิธียื่นซองประกวดราคา (TOR) คิดเป็นข้าวสารทั้งหมด 753,000 ตัน

โดย TOR ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลต่ออธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ซึ่งการเสนอราคาซื้อข้าวสารสต๊อกรัฐบาลต้องเสนอราคาซื้อ ณ หน้าคลังสินค้าที่ขอซื้อเป็นเงินบาท และผู้ยื่นเสนอราคาต้องมีหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารหรือตั๋วแลกเงิน หรือเช็คธนาคาร ที่ออกโดยธนาคารตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น สั่งจ่ายกรมการค้าต่างประเทศ ในอัตรา 2% ของมูลค่าสินค้าที่ยื่นเสนอซื้อ

นอกจากนี้ผู้เสนอราคาซื้อขอใช้สิทธิดูสภาพข้าวสารที่เก็บรักษาได้ หากไม่ขอใช้สิทธิจะถือว่ายอมรับสภาพข้าวสารที่เสนอราคาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง โดยเงื่อนไข TOR ที่ประกาศเชิญชวนจนถึงวันที่เสนอราคาจะมีระยะเวลา 7 วัน ที่เอกชนไปตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดังที่จะยื่นราคาได้

รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า คณะทำงานจะเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคา โดยมีเกณฑ์ "ราคากลางอ้างอิง" ที่คำนวณจากราคาตลาด ซึ่งจะเจรจาต่อรองกับผู้เสนอซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาเท่านั้น ส่วนผู้ที่ได้รับการอนุมัติขายข้าวแล้วจะต้องทำสัญญาซื้อขายกับทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตร (อ.ต.ก.) ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่กรมแจ้งผลเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องวางหลักประกันเป็นเงินสดหรือเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารในอัตรา 5% ของมูลค่าข้าวสารที่ได้ตกลงซื้อขาย หากผู้เสนอราคาไม่มาทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกัน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่รัฐบาลเร่งเปิดประมูลข้าวลอตใหญ่ถึง 753,000 ตัน สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลไม่มีคลัง/โกดังสำหรับรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ และไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะให้ ธ.ก.ส.รับจำนำข้าวมากกว่า 400,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งนำข้าวในสต๊อกออกมาระบายเพื่อนำเงินกลับไปคืนให้กับ ธ.ก.ส.

"น่าสังเกตว่า วิธีการระบายข้าวยังใช้ระบบยื่นซองและเปิดซองแบบลับ ๆ โดยไม่มีการเปิดเผยราคาให้สาธารณชนรับทราบ แต่ดีกว่าวิธีเดิมที่เปิดขายข้าวแบบเงียบ ๆ ลับ ๆ ถือว่าไม่โปร่งใสและทำให้รัฐบาลขายข้าวได้ราคาต่ำเหมือนเดิม เช่น ข้าวขาว 5% น่าจะได้ตันละ 16,000-16,500 บาท ขาดทุนตันละ 6,000-7,000 บาท จากที่รับจำนำมา 23,000 บาท มีปลายข้าวน่าจะได้ตันละ 15,000 บาท ใกล้เคียงตลาด แต่ที่แย่ที่สุดคือ ข้าวหอมมะลิที่รับจำนำเข้ามาสูงถึงตันละ 20,000 บาท คิดเป็นราคาข้าวสารสูงกว่า 30,000 บาท รัฐบาลต้องขาดทุนมาก เพราะข้าวในคลังมีข้าวหอมมะลิทั้งเกรดดีและไม่ดี แต่ไม่ดีเยอะมาก เอกชนที่ทำข้าวหอมมะลิไม่ค่อยกล้าซื้อข้าวลอตนี้ กลัวว่ามีการผสมยำเละปนกันทั้งข้าวหอมปทุม ข้าวพิษณุโลกที่รับเข้ามา และรัฐบาลเองก็ไม่รับประกันคุณภาพข้าวตอนขาย แต่ให้พวกเรายื่นราคาเสนอซื้อตามสภาพ ผมว่าคงไม่ค่อยสนใจและไม่ได้ราคา" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ยังมีข้อน่าสังเกตว่า การเปิดระบายข้าวด้วยวิธีการประมูลเป็นการทั่วไปครั้งนี้ ไม่ได้บังคับให้ต้องส่งออกข้าวที่ประมูลซื้อได้ไปต่างประเทศ แต่ยอมให้มีการจำหน่ายข้าวเหล่านี้ภายในประเทศก็ได้ ต่างจากในอดีตที่เปิดระบายข้าวและให้ส่งออกทั้งหมด เนื่องจากกลัวว่าราคาข้าวภายในประเทศจะตก แต่นี่เป็นนโยบายประชานิยม ไม่ว่าราคาที่แท้จริงในประเทศจะตกลงเพียงใด รัฐบาลซื้อหมด หมายถึงรัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนครั้งมโหฬารส่งผลต่อเงินที่ต้องนำไปจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส.รับจำนำข้าวในปี 2555/56

ในอีกด้าน วงการค้าข้าวกำลังจับตามองบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด (สถานที่ตั้งบริษัทอยู่ที่เดียวกัน) ที่โด่งดังซื้อข้าวรัฐบาลคนเดียวถึง 1.7 ล้านตันในอดีต แต่ปัจจุบันโดนฟ้องล้มละลายไม่สามารถยื่นซองประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ จะเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวลอตนี้กับกระทรวงพาณิชย์ด้วยหรือไม่ ปัจจุบันบริษัทสยามอินดิก้า ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศ เฉพาะ 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2555) ส่งออกไปต่างประเทศถึง 344,600 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกไป 228,500 ตัน จากยอดส่งออกทั้งปี 2554 ที่ 305,000 ตัน

"หลังจากเพรซิเดนท์ อะกริฯ โดนฟ้องล้มละลายไม่กี่ปี กลุ่มนี้ก็กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ขณะนี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 รองจากบริษัทนครหลวงค้าข้าว และบริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทหลังน่าจะส่งออกข้าว 400,000-500,000 ตัน และบริษัทดังกล่าวยังได้รับออร์เดอร์ข้าวจากอิรัก และอยู่ระหว่างการปรับปรุงอีกหลายหมื่นตัน" แหล่งข่าวกล่าว


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หมดทางยื้อ เร่งระบาย7.5แสนตัน จับตาสยามอินดิก้า ผูกขาดข้าวรัฐ

view