สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีเหล้า-บุหรี่ 1.25 หมื่นล้านบนน้ำตาของคนจน

ภาษีเหล้า-บุหรี่ 1.25 หมื่นล้านบนน้ำตาของคนจน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ในที่สุดรัฐบาลก็ได้เงินมาอีก 1.25 หมื่นล้านบาทจากการเก็บภาษีเหล้า-บุหรี่ แถมยังพ่วงด้วยการโยนหินถามทางเกี่ยวกับการเก็บภาษีเกมออนไลน์
อาวุธปืน รวมไปถึงภาษีลดโลกร้อนอย่างภาษีเครื่องปรับอากาศอีกด้วย ดูเหมือนว่ารายชื่อของ “ภาษีบาป” กำลังยาวขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รู้ว่า  ต่อไปจะมีสินค้าอะไรที่โดนหางเลขอีก
 

ผลดีของภาษีบาปงวดนี้มีสองข้อ ข้อแรก  รัฐมีรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ข้อสอง  เมื่อเหล้า-สุรา  ราคาแพงขึ้น  อาจทำให้หลายคนตัดสินใจที่จะลดหรือเลิกดื่ม-สูบ  อย่างไรก็ตาม  ผลดีทั้งสองข้อนี้เป็นผลดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
 

รายได้ที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทยก็ต่อเมื่อรัฐบาลนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง  เพื่อให้ประเทศมีรากฐานที่แข็งแกร่งสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
 

ด้านจำนวนนักดื่มนักสูบที่ลดลงนั้น งานวิจัยทั่วโลกให้ผลตรงกันว่า แม้ราคาของสินค้าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น  แต่การบริโภคไม่ลดลงมากนัก  เนื่องจากสินค้าทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เสพแล้วจะติด  ดังนั้นการมาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มราคาจึงไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการลดพฤติกรรมการดื่ม-สูบ
 

แม้ว่าภาษีบาปจะไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการลดพฤติกรรมการบริโภคสิ่งเสพติด  แต่หากมองในเชิงของการจัดเก็บรายได้แล้ว  ภาษีตัวนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง  เพราะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย    มีผู้เดือดร้อนแค่กลุ่มเดียว  จึงไม่ค่อยจะถูกสังคมต่อต้านมากเหมือนกับการเพิ่มภาษีประเภทอื่น  โดยเฉพาะภาษีรายได้หรือภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะกระทบกับทุกคน  จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมรัฐบาลถึงได้ให้ไฟเขียวในเรื่องนี้
 

สิ่งหนึ่งที่คนในรัฐบาลไม่ทราบ หลงลืม  หรือแกล้งหลงลืมไปก็คือ  ภาษีบาปนั้นเขาแนะนำให้ไม่เก็บกันตอนเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา เพราะภาษีประเภทนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนจนมากกว่าคนรวย
 

สมมติว่าถ้ารัฐบาลเก็บภาษีเหล้า  ทำให้ราคาเหล้าเพิ่มขึ้นสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกันทุกยี่ห้อ  ชาวบ้านซึ่งเคยดื่มเหล้าขวดละร้อย  ตอนนี้ต้องจ่ายเพิ่มอีกสิบบาท  เศรษฐีเคยกินเหล้าขวดละพัน  ต้องจ่ายเพิ่มอีกหนึ่งร้อยบาท  ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับคนทั้งสองกลุ่มต้องจ่ายเงินเพิ่มในสัดส่วนที่เท่ากัน  น่าจะยุติธรรมดีอยู่
 

แต่การจะดูแค่เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มคงไม่พอ  เราต้องดูรายได้และค่าใช้จ่ายในภาพรวมของเขาด้วย  สำหรับชาวบ้านที่หาเงินได้เดือนหนึ่งแค่เจ็ดแปดพันบาท  เงินเป็นสิบเป็นร้อยมีความหมายทั้งนั้น  ส่วนเศรษฐีเงินล้าน  เงินแค่เป็นร้อยสองร้อยไม่กระทบกับสุขภาพทางการเงินของเขา  ยังสามารถไปกินอาหารดีๆ  ดูหนัง  ตีกอล์ฟได้เหมือนเดิม
 

ข้อมูลที่นำเสนอในแผนภูมิ  แสดงให้เห็นสัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซื้อเหล้า-บุหรี่ของคนกลุ่มต่างๆ  แบ่งตามลักษณะอาชีพ  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  คนที่เดือดร้อนที่สุด  คือ  คนงานเพราะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คิดเป็น 4%  ของค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคทั้งหมด  ส่วนพนักงานบริษัท/ผู้ประกอบวิชาชีพ  เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  เพราะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพียง 1.8%
 

นี่เป็นแค่ผลโดยตรงเท่านั้น  ผลโดยอ้อมจากภาษีนี้คือ  ทำให้ความรู้สึกของคนยิ่งแย่ลงไปใหญ่  ข่าวของแพง  มีผลทางจิตใจต่อคนทุกกลุ่ม  ชวนให้รู้สึกว่าบรรยากาศทางเศรษฐกิจย่ำแย่  จะทำอะไรก็ต้องกระเหม็ดกระแหม่อดออม
 

พอกำลังซื้อหดลง  แม่ค้าพ่อค้าขายของไม่ได้  เขาจะทำอย่างไรได้  นอกจากจะต้องขึ้นราคา ทีนี้แหละ พอสินค้าหลายๆ อย่างสามัคคีกันขึ้นราคา  ค่าครองชีพสูงขึ้น  คนมีรายได้น้อยมีแต่ตายกับตาย
 

ข่าวการเลิกจ้าง  ยอดคนตกงาน  น่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่าคนไทยกำลังเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นโยบายที่ออกมาควรจะนึกถึงหัวอกคนรายได้น้อยกับคนตกงานบ้าง
 

หากคิดจะเก็บภาษีแบบนี้เพื่อหารายได้เพิ่ม  ทำไมไม่เลิกนโยบายแจกเงินสร้างหนี้แทน  คิดไปคิดมาชักอดสงสัยไม่ได้ว่า  รัฐบาลวางแผนการแก้เศรษฐกิจไว้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แค่ไหน  แผนระยะกลางระยะยาวที่ว่าไว้ก็ไม่เห็นจะชัดเจนเสียที  หรือว่าแผนพวกนี้ไม่มีอยู่จริง  มีแต่แผนเก็บเงิน  กู้เงิน  และจ่ายเงินเท่านั้น
 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นไฟส่องทางให้ทุกคนเห็นว่า  จะต้องเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร  แม้ตอนนี้ลำบากก็ยังพอจะมีความหวังได้ว่า  ต่อไปชีวิตคงดีขึ้น  หากรัฐบาลเองยังเปลี่ยนแผนไปเรื่อยๆ  มีอะไรออกมาสร้างความประหลาดใจแบบนี้บ่อยๆ  ความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลก็จะลดลง
 

การบริหารจัดการคลังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าแค่การเลือกจ่ายเงินเลือกเก็บเงิน  ตามหลักเศรษฐศาสตร์การคลัง  ทุกอย่างที่รัฐบาลทำสามารถรักษาแผลและสร้างแผลให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้  ดังนั้น  ผู้นำประเทศและขุนคลังต้องคิดให้มากกว่าการนั่งดูตัวเลขทางบัญชี  ต้องทำตัวให้เป็นมากกว่านักวางแผนทางการเงิน  เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดไม่ใช่แค่ 15 ล้านเสียงที่ชอบกล่าวอ้าง  แต่เป็นชีวิตของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน
 

ไม่ต้องกังวลหรอกว่าใครจะโฟนอิน  ไม่ต้องห่วงหรอกว่าเสื้อสีโน้นสีนี้พูดอะไร  ฝ่ายค้านจะเล่นเกมไหน  ขอให้ทุ่มเทกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง  มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน  ให้คนไทยได้ลืมตาอ้าปาก  อย่าเพิ่มภาระให้กับคนจน เอาผลงานเข้าสู้  ถ้ารัฐบาลเก่งจริง  เดี๋ยวพวกนั้นก็แพ้ภัยตัวเอง  หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่การตอบโต้รายวัน แต่เป็นการดูแลบ้านเมืองและคนไทยให้ดี  ทำได้ตามนี้ประชาก็นิยมแล้ว


หมายเหตุ  บทความนี้ปรับปรุงมาจากบทความในคอลัมน์เดียวกันชื่อ “สุดท้ายบาปก็ตกกับคนจน” ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีเหล้า บุหรี่ 1.25 หมื่นล้าน บนน้ำตาของคนจน

view