สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณธรรม-จริยธรรมของผู้บริหาร

คุณธรรม-จริยธรรมของผู้บริหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการ กฎหมายอิสระ

เป็นผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะเป็นก็เป็นได้ คนที่จะเป็นผู้บริหารจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษเหนือบุคคลทั่วไป ซึ่งน่าจะมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ

ประเภทแรก เป็นพวกประจบสอพลอ เป็นคนรับใช้ เป็นเด็กในคาถาที่ผู้มีอำนาจสั่งได้ ซึ่งรวมถึงพวกคุณขอมาด้วย ประเภทนี้เป็นพวกตกต่ำที่สุด เพราะยังต้องซ้ายหันขวาหันรับใช้ผู้เป็นนายอยู่

ประเภทที่สอง มีความพิเศษที่เป็นน้องหรือเป็นญาติของผู้มีอำนาจ ประเภทนี้ดีกว่าประเภทแรก เป็นพวกทำบุญมาดี แม้ไม่มีความสามารถ เพียงท่องบทให้ได้ตามโพย ก็พอจะเอาตัวรอดไปได้ แต่จะทำได้ดีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเภทที่สาม เป็นพวกที่มาด้วยความสามารถ มีฝีมือเป็นที่ต้องการของผู้มีอำนาจ พวกนี้มักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะรักศักดิ์ศรี ชอบทำถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ นายใหญ่นายน้อยจึงไม่ค่อยจะปลื้ม

ท่านผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจวาสนาทั้งหลาย คงรู้ดีอยู่แก่ใจว่า อยู่ในประเภทใด

ผู้บริหารไม่ว่าจะมาจากประเภทใดก็ตาม หากจะเป็นผู้บริหารที่ดี มีคนสรรเสริญ ไม่ด่าลับหลัง ไม่ถูกขับไล่ให้ไปไวๆ ท่านต้องมีคุณธรรม-จริยธรรม ส่วนคุณธรรม-จริยธรรมมีความหมายอย่างไรอย่าไปถามคนแดนไกลเพราะเขาไม่รู้จัก

กรณี White Lies ที่คนระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับว่า พูดโกหก เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่า ผู้บริหารประเทศควรทำหรือไม่มีคุณธรรม-จริยธรรมในการบริหารหรือไม่

ก่อนที่จะไปถึงระดับประเทศ เรามาดูภาคเอกชนกันก่อนว่า ภาคเอกชนตื่นตัวในเรื่องคุณธรรม-จริยธรรม โดยตื่นตัวในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยหอการค้าไทยได้สร้างแนวร่วมต่อต้านการคอร์รัปชันของภาครัฐ ปัจจุบันน่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่าร้อยองค์กรแล้ว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือที่เรียกกันว่า IOD หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยภาคเอกชนตระหนักดีว่า การบริหารองค์กรใดๆ ให้อยู่รอด สามารถผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ จะต้องมีคุณธรรม-จริยธรรม มีความโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่โกหก

สิ่งที่ IOD สอนคือ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่กรรมการของบริษัทที่ดี ที่เรียกว่า Good corporate governance ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน 4 ประการ คือ Care การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ Loyalty การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือ หุ้น Obedience การปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ มติคณะกรรมการและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ Disclosure การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้องครบถ้วน โปร่งใสและทันเวลา

การออกมายอมรับของกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายรัฐมนตรีและ รมว.คลัง (รอง CEO ควบ CFO ในภาคเอกชน) ว่า การตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกขยายตัว 15% เป็นการโกหก โดยอ้างว่า “ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้พูดไม่จริงในบางเรื่องที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า White Lies ที่แปลว่า โกหกสีขาว”

ตำแหน่งของกิตติรัตน์ เป็นรองก็แต่นายกรัฐมนตรี ทุกคำพูดจึงมีความสำคัญกับประเทศ จากคำพูดที่ออกมายอมรับของกิตติรัตน์ ทำให้มีคำถามมากมายที่ตามมา

ประการแรก กิตติรัตน์รักษาศีลห้าอันเป็นศีลขั้นต่ำของสัตว์ที่เรียกว่า คน ไม่ได้ การผิดศีลข้อมุสาจะทำให้ขาดความเชื่อถือของคนทั่วไป และจะมีคำถามตามมาว่านอกจากเรื่องเป้าหมายการส่งออกที่เป็นเรื่องโกหกแล้ว ยังมีเรื่องไหนอีกบ้างที่ได้พูดโกหกไว้ และต่อไปเราจะเชื่อถือคำพูดของคนโกหกได้อย่างไร

ประการที่สอง กิตติรัตน์อ้างว่า ได้รับอนุญาตให้พูดไม่จริงในบางเรื่องได้ คงต้องถามว่า ใครอนุญาต ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีผู้ที่ใหญ่กว่าเพียงสองเท่านั้น คือ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในเรื่องนี้กิตติรัตน์ได้รับอนุญาตจากใคร คิดเอาเอง หรือเชื่อตามทฤษฎีของฝรั่งชาติไหน

ประการที่สาม กิตติรัตน์อ้างว่า ที่ต้องโกหกเพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นนั้น ต้องการให้ใครเชื่อมั่นบ้าง ให้เชื่อมั่นเพื่ออะไร ถ้าไม่เชื่อมั่นแล้วจะเป็นอย่างไร และถ้าให้เชื่อมั่นอย่างผิดๆ ตามที่โกหกจะเกิดผลอย่างไร

ประการที่สี่ ต้องการโกหกเพื่อประโยชน์ของใคร ประเทศชาติได้อะไรจากการโกหก ถ้าความเป็นจริง ขยายตัวเพียง 5% ต่อให้กิตติรัตน์โกหกทุกวันว่าขยายตัว 15% ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นจริงได้ เพราะความเป็นจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดของกิตติรัตน์ แต่อยู่กับสถานการณ์ที่เป็นจริง ประชาชน นักลงทุน นอกจากไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการโกหกแล้ว ยังน่าจะได้รับความเสียหายด้วย การโกหกของกิตติรัตน์จึงไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ กับส่วนรวม แต่จะเกิดประโยชน์กับรัฐบาลที่ทำให้คนเข้าใจว่ามีฝีมือมีความสามารถในการบริ หาร จึงเป็นการโกหกเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล

ประการสุดท้าย ใครจะรับผิดชอบกับการโกหก หากเกิดความเสียหาย เช่น ถ้ามีนักลงทุนเชื่อถือในคำโกหกของคนระดับรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แล้วไปกู้หนี้ยืมสินมาขยายการลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออก แต่ปรากฏว่าเป็นการโกหกสีขาว แล้วเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากเชื่อคำโกหกนั้น ใครจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น

คนที่ชอบการโกหกน่าจะมีอยู่พวกเดียว คือพวกที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ต้องการให้นายใหญ่นายน้อยชื่นชมว่าตัวบริหารงานเก่ง ประสบความสำเร็จ แล้วก็นั่งชื่นชมกับคำสรรเสริญเยินยอ

เชื่อเถอะครับว่า ในความเป็นจริง ไม่มี White Lies หรอกครับ มีแต่ ไอ้ลายไอ้ด่าง ที่กระดิกหางให้เจ้าของที่โยนเศษอาหารให้กินทุกวัน


'ทนง'อัด'กิตติรัตน์'ไม่ควรโกหก เพื่อให้ความหวังประชาชน

"ทนง"อัด"กิตติรัตน์"ในฐานะขุนคลัง ไม่ควรโกหก! เพื่อให้ความหวังประชาชน ไม่ควรคาดคะเนเป้าหมายเศรษฐกิจ บอกเป็นหน้าที่สภาพัฒน์ฯ
ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ รายการ Morning News กรุงเทพธุรกิจทีวี วิพากษ์ กรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โกหกเพื่อชาติว่า รัฐมนตรีไม่ควรพูดโกหก เพื่อให้ความหวังประชาชน หน้าที่ของรัฐมนตรีควรออกมาเตือนประชาชน

ถามว่าในฐานะอดีตรมว.คลังเคยโกหกเพื่อชาติหรือเปล่า ดร.ทนงกล่าวว่า ไม่มี อย่างการลดค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องลึกๆ ก็ให้สัมภาษณ์เพียงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษา บางอย่างเราจะบอกว่าเราทำอะไร แล้วมันอาจสร้างความเสียหาย เราก็พูดได้ว่าเรากำลังศึกษาอยู่ ยังไม่ได้ทำกไร

นอกจากนี้ ดร.ทนง ยังเห็นว่า รมว.คลังไม่ควรไปคาดคะเนเป้าหมายเศรษฐกิจ เพราะหน้าที่นี้เป็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

"หน้าที่ของรัฐมนตรีควรบอกว่าเราจะบริหารอย่างไรให้ได้ตามเป้าหมายของสภาพัฒน์ฯ"

นอกจากนี้ ดร.ทนง ยังยกตัวอย่างถึงการตั้งเป้าหมายส่งออกในปีนี้ ขยายตัว 15% ว่า เขาได้เคยให้สัมภาษณ์แล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป เป็นอย่างนี้ คงเป็นไปได้ยาก รัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลังควรรับฟังว่าเรามีจุดอ่อนอย่างไร

"ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีผมต้องระวัง เพระเศรษฐกิจ สหรัฐ ยุโรป  มีปัญหา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราก็เจอน้ำท่วม ถึงจะพยายามทำให้ได้ตามเป้า แต่เราก็ต้องมีการปรับเป้าตลอด"


ไฟแนนเชียล ไทม์ส ตีข่าว กิตติรัตน์ “โกหกสีขาว” ชี้สังคมไทยรับไม่ได้-กระทบความน่าเชื่อถือรบ.ไทย

เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ไฟแนนเชียล ไทม์ส (เอฟที) สื่อสิ่งพิมพ์ด้านธุรกิจชื่อก้องโลก ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอนระบุ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง ตกเป็นเป้าของการโจมตีครั้งใหม่ หลังจากที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับหน้าตาเฉยว่าตนเอง “โกหกสีขาว” หรือ “white lie”แบบคำโตเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในเรื่องของเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ร้อย ละ 15 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากแทบทุกภาคส่วนในสังคมไทย
       
        รายงานของไฟแนนเชียล ไทม์สระบุว่า ดูเหมือนสังคมไทยจะรับไม่ได้ กับคำกล่าวของขุนคลังคู่ใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์รายนี้ที่ว่า “การเป็นรัฐมนตรีคลังจำเป็นต้องพูดโกหกเป็นบางครั้งเพื่อสร้างความรู้สึกที่ ดี” โดยสื่อดังด้านธุรกิจที่มียอดจำหน่ายกว่าวันละ 337,700ฉบับทั่วโลกรายนี้ ชี้ว่า การพูดปดมดเท็จของนายกิตติรัตน์ครั้งนี้ ทำให้หลายภาคส่วนในสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์และพากันตั้งคำถามถึงความเหมาะสม รวมถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยมีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อ
       
        ยิ่งไปกว่านั้น กระแสสังคมที่กำลังพลุ่งพล่านในเวลานี้ ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปสู่ข้อเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ลาออกจากตำแหน่งมาก ยิ่งขึ้น ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้นำองค์กรภาคธุรกิจจากทั่วฟ้าเมืองไทยต่างลง ความเห็นว่า ต่อไปนี้จะมีใครที่กล้าเชื่อถือการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อีก
       
        การโกหกสีขาวของนายกิตติรัตน์ยังถูกระบุว่า มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “การโกหกทางการทูต” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากในฐานะรัฐมนตรีคลัง นายกิตติรัตน์ควรจะตระหนักได้ว่า การคาดการณ์หรือการระบุเป้าหมายด้านการส่งออกที่ออกมาจากปากของผู้เป็น รัฐมนตรีสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ย่อมจะมีผลกระทบต่อการวางแผนทางธุรกิจของผู้ประกอบการจำนวนมาก และจำเป็นอย่างยิ่งที่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจะต้องมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหาร

view