สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระทบซึมลึก...สังคมไทย ผลพวงค่าแรง 300-เงินเดือน 15,000

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย รัตนา จีนกลาง

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง เมื่อ 1 เมษายน 2555 และจะบังคับใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยที่เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคเอกชนหรือฝ่ายนายจ้าง เพราะเป็นการปรับรวดเดียวสูงกว่า 40% โดยแทบไม่มีเวลาให้ฝึกปรือฝีมือแรงงานให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคู่ขนานไปกับค่าแรงหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ออกมาเรียกร้องให้บังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกัน

แต่หลังการบังคับใช้นโยบายประชานิยมนี้ได้เพียง 4 เดือน เริ่มปรากฏผลกระทบที่ชัดเจนตามคำทักท้วงก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เริ่มมีการลด-ปลดคนงาน หรือลดสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ที่สำคัญก็คือ ผลกระทบได้ขยายวงไปสู่อีก 70 จังหวัดที่รอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงต้นปี 2556 นี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะคนเลือกงานและขอขึ้นค่าแรง

บางส่วนย้ายเข้าไปทำงานใน 7 จังหวัดนำร่อง ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งในต่างจังหวัดประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตจำนวนมาก

ผลกระทบยังลุกลามไปถึงการจ้างงานในภาคการเกษตร ที่จำเป็นต้องพึ่งแรงงานจำนวนมากเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต

วันนี้ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าจ้างวันละ 300-400 บาทเพื่อให้ทันฤดูกาลผลิต

ทีนี้มาดูข้อมูลผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่สำรวจความเป็นอยู่ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่าส่วนใหญ่ยังรับมือได้ แต่รายเล็กมีแนวโน้มปิดกิจการกว่า 80,000-130,000 ราย และอีก 5 หมื่นรายอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ค่าแรง 300 เป็นตัวเร่งให้ปิดกิจการเร็วขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มก็เริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า

ในซีกของ "ผู้ใช้แรงงาน" ที่ตั้งความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายนี้ กลับเผชิญปัญหาไม่พึงประสงค์ตามมาหลายอย่าง เช่น นายจ้างบางรายบิดพลิ้วไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กดค่าแรง มีการปรับโยกย้ายตำแหน่ง ลดสวัสดิการ ลดโอที หรือนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง เป็นต้น

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ฟันธงว่า นโยบาย 300 บาทเป็นลบกับแรงงานไทย เพราะเมื่อหักลบค่าครองชีพกับค่าแรงแล้ว อาจไม่ได้ประโยชน์เมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น

"ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการเพิ่มทักษะการทำงานให้กับผู้ใช้แรงงาน ย่อมไปเบียดกำไรของบริษัทให้ลดลง ในระยะยาวแล้วธุรกิจเอสเอ็มอีจะหายไปเยอะ สุดท้ายจะเหลือแต่รายใหญ่ที่กลายมาเป็นคนคุมตลาดเองทั้งหมด"

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนมิถุนายน 2555 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 พบว่า มีจำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.2 แสนคน ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.3 แสนคน

ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าแรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างในโรงงาน หรือคนตกงานจากโรงงานปิดกิจการในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ได้อพยพกลับถิ่นฐานไปสู่ภาคการเกษตร เพราะก่อนหน้านี้พืชเศรษฐกิจหลายตัวราคาดี เช่น ปาล์ม ยางพารา อ้อย ข้าว แต่สถานการณ์ตอนนี้ได้พลิกผันไปโดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะยางพาราที่เคยสร้างรายได้อู้ฟู่ให้กับชาวสวนยางในภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ตอนนี้ราคาตกกราวรูดจากกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เหลือแค่ 70-80 บาท แม้จะยังพอมีกำไรอยู่บ้าง แต่รายจ่ายประจำทั้งผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าอาหาร และส่งลูกเรียนยังเต็มเพดานอยู่เหมือนเดิม การหวนกลับเข้าสู่ระบบโรงงานอีกครั้งก็ไม่ง่ายอีกต่อไป

นอกจากค่าแรง 300 บาทจะส่งผลต่อตลาดแรงงานแล้ว นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทก็เริ่มปั่นป่วนเช่นกัน เพราะทำให้เกิดค่านิยม "ปริญญาตรี" พ่อแม่ต่างทุ่มเทให้ลูกหลานเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีแทนสายอาชีพ

ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้บอกว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำปริญญาตรี 15,000 บาท มีผลทำให้ความต้องการของผู้เรียนกับคุณภาพการศึกษาสวนทางกันคือ คนอยากเรียนง่าย ๆ ถูก ๆ จบเร็ว ๆ เพราะได้วุฒิปริญญาตรีเหมือนกัน พอเรียนจบหางานทำก็หวังว่าจะได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน เพราะไม่มีทักษะหรือคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ขณะที่ในสภาพความเป็นจริงตอนนี้ นักศึกษาที่จบปริญญาตรีก็ตกงานเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

สถานการณ์ล่าสุดคือ นายจ้างบางส่วนได้เลือกที่จะจ้างพนักงานที่เรียนจบการศึกษาสายอาชีพในระดับ ปวช. หรือ ปวส. ทดแทนผู้ที่จบปริญญาตรี

นอกจากคนจบปริญญาตรีจะตกงานเต็มเมืองแล้ว ย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการผลิตของคนไทยที่ยากจะแข่งขันในอาเซียนหรือเวทีโลกได้


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กระทบซึมลึก สังคมไทย ผลพวง ค่าแรง 300 เงินเดือน 15 000

view