สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิวอี3พลิกผันดันน้ำมันไม่ขึ้นศก.โลกยังแย่-ซัพพลายยังล้น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

พลิกผันตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั่วโลกส่วนหนึ่งซึ่ง เพ่งเล็งเก็งกันไว้ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันจะปรับตัวพุ่งสูงให้เห็นกันอีกครั้ง หลังจากที่บรรดาธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก พร้อมเพรียงพร้อมใจงัดหลากหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้เมื่อช่วงต้น เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

เพราะนอกจากตัวเลขการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจนน่า จับตามองอยู่เพียงแค่วันสองวันแล้ว วันที่สามหลังการประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ (คิวอี 3) ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ก็ปรับตัวลดลงถึง 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราว 120 บาท) หลังจากที่เปิดตลาดไปได้เพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น ขณะที่อีกสองวันถัดมา ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ร่วงไปแล้วอีก 5.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราว 168 บาท)

นับเป็นการปรับตัวร่วงลงอ่อนค่าลงต่อเนื่องอย่างชัดเจน ชนิดที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต้องตกอยู่ในอาการตะลึงงัน จนต้องรีบควานหาคำอธิบายเป็นการใหญ่

ทั้งนี้ ตามทฤษฎีของหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว หากมีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถาโถมเข้าสู่ระบบพร้อมๆ กัน ย่อมส่งผลให้มูลค่าของบรรดาสินทรัพย์ที่มีค่าในตนเองอย่างน้ำมันหรือทองคำ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นภูมิต้านทานเงินเฟ้อ

แน่นอนว่า เมื่อยึดตามหลักทฤษฎีข้างต้น การที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศใช้แผนทุ่มซื้อพันธบัตรไม่อั้น เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในกลุ่มผู้ใช้สกุลเงินยูโร การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงนโยบายรอบใหม่ด้วยวงเงิน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) จนกว่าเศรษฐกิจประเทศจะฟื้นตัว และการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยการเพิ่มขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์เป็น 80 ล้านล้านเยน จากเดิม 70 ล้านล้านเยน (ราว 30.4 ล้านล้านบาท) และยืดโครงการออกไปอีก 6 เดือน จนถึงสิ้นปี 2556 จึงย่อมทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วหน้าขานรับข่าวดีดังกล่าว จนกระทั่งธนาคารสหรัฐ เมอร์ริล ลินช์ ถึงกับคาดการณ์อย่างมั่นใจว่า คิวอี 3 ครั้งนี้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดถีบตัวเพิ่มสูงขึ้น 14% ภายในปี 2556

แต่จนแล้วจนรอด การซื้อขายน้ำมันตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมีแต่การเทขายโดยไม่รู้สาเหตุแน่ชัดออกมาอย่างต่อเนื่อง จนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ควรจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการคิวอี 3 ตามทัศนะของนักวิเคราะห์หลายคน รวมถึง ฟรานซิสโก บลานช์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดโภคภัณฑ์และตลาดอนุพันธ์โลกจากธนาคารเมอร์ริล ลินช์ ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุประการแรกที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ามีส่วนเกี่ยว ข้องกับการเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่กระเตื้องไปตามการคาด การณ์ก็คือข้อเสนอจากซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารน้ำมันของโลก ซึ่งกล่าวชัดเจนว่าจะผลิตน้ำมันเพิ่มเติมป้อนเข้าสู่ตลาดเพื่อบรรเทาราคา น้ำมันให้อยู่ในระดับประมาณไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราว 3,000 บาท) และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายใหญ่

ท่าทีดังกล่าวของซาอุดีอาระเบียสืบเนื่องมาจากความกลัวที่กัดกร่อนมา อย่างยาวนาน ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงไปอีกเมื่อน้ำมันมีราคา แพงขึ้น จากเดิมในปัจจุบันที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาได้ส่งผลต่อปริมาณความต้อง การน้ำมันในตลาดไปเรียบร้อยแล้ว โดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างเลวร้ายของสหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรลเลยทีเดียว

ดังนั้น ประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย จึงต้องงัดหลากหลายมาตรการขึ้นมาใช้เพื่อรักษาปริมาณความต้องการน้ำมันใน ตลาดในปัจจุบันไว้

ขณะที่เหตุผลประการต่อมา สะท้อนจากปัจจัยประการแรก คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างมากได้ส่งผลต่อปริมาณการบริโภคใน ตลาด ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นว่าตลาดจะเติบโตได้ทันกับผลพวงมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจที่รัฐบาลทุ่มลงไป

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า นักลงทุนและนักวิเคราะห์ชั้นแนวหน้าต่างเห็นตรงกันว่า นโยบายของภาครัฐทั่วโลกอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ทันกับเวลา ที่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์กำลังขยายผลผลิตออกมา โดยมีดัชนีจีเอสซีไอของสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ 24 ชนิดเป็นหลักฐานยืนยัน

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของดัชนีข้างต้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดตลาดสิ้นปีที่ระดับ 667 ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลงมาแล้ว 2% นับตั้งแต่อีซีบีประกาศใช้นโยบายช่วยซื้อพันธบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.ย. และลดลงถึง 4% ตั้งแต่ที่เฟดประกาศใช้คิวอี 3เมื่อวันที่ 13 ก.ย.

ทิศทางดัชนีจีเอสซีไอข้างต้นสวนทางกับเมื่อช่วงปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เฟดประกาศใช้มาตรการคิวอี 2 ด้วยวงเงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 70ล้านล้านบาท) โดยดัชนีจีเอสซีไอพุ่งทะยานขึ้นถึง 92%

เรียกได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้มีแววซบเซาหนักและนาน ยิ่งเมื่อบริษัทวิจัยข้อมูลการเงินมาร์กิต เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) เดือน ก.ย. ของ 17 ชาติสมาชิกกลุ่มยูโรโซน ว่าปรับตัวลดลงเหลือ 45.9 จุด จาก 46.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าสภาพเศรษฐกิจเฉพาะภูมิภาคยุโรป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กาย วูล์ฟ นักกลยุทธ์จากบริษัทค้าหลักทรัพย์ มาเร็กซ์ สเปกตรอน กรุ๊ป สรุปไว้สั้นๆ ว่า ราคาน้ำมันในปีนี้อยู่ระหว่างปัจจัยด้านปริมาณสำรองที่ยังคงมีอย่างเหลือ เฟือเพียงพอ กับแรงผลักจากนโยบายคิวอี และความหวังว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้น ส่งผลให้ความต้องการและราคาน้ำมันในปีนี้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงชนิดที่คาดการณ์ กะเกณฑ์ไม่ค่อยได้

ความกลัวและความไม่เชื่อมั่นที่เกิดขึ้นส่งผลให้แม้จะมีการทุ่มมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจจากบรรดาธนาคารกลางออกมา เช่น มาตรการคิวอี 3 ทว่ากระแสตอบรับจากตลาดก็เป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยจะสดใสสักเท่าไรนัก

หรืออาจกล่าวได้ว่า คิวอี 3 ก็ดี หรือการทุ่มซื้อพันธบัตรก็ดี ก็อาจไม่ช่วยเยียวยาฉุดรั้งเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้ได้

สอดคล้องกับความเห็นของ ริก เดอเวอเรลล์ หัวหน้าวิจัยตลาดโภคภัณฑ์จากเครดิต สวิส ที่เขียนผ่านไฟแนนเชียลไทมส์ ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อปี 2552 ที่สภาพเศรษฐกิจและระบบการเงินในขณะนั้นมีเสถียรภาพมากกว่ามาก

ดังนั้น การหวังให้คิวอี 3 ให้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

และการหวังพึ่งแต่คิวอี 3 หรือนโยบายจากบรรดาธนาคารกลางทั้งหลายแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาเช่นเดียวกัน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิวอี3พลิก ผันดันน้ำมันไม่ขึ้น ศก.โลกยังแย่ ซัพพลายยังล้น

view