สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตายหรืออยู่ สู้หรือถอย ชะตากรรมและมลทิน ยงยุทธ 1 ทศวรรษทุจริตอัลไพน์หลอน

ตายหรืออยู่ สู้หรือถอย ชะตากรรมและมลทิน"ยงยุทธ" 1 ทศวรรษทุจริตอัลไพน์หลอน

จากประชาชาติธุรกิจ

มติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ไล่ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ออกจากราชการ ฐานผิดวินัยร้ายแรง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นมติที่เห็นพ้องตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่า เมื่อครั้งที่ "ยงยุทธ" รักษาการตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2545 ได้ใช้อำนาจรับรองการซื้อขายที่ดินจำนวน 732 ไร่ ระหว่างวัดธรรมิการามวรวิหาร กับบริษัทอัลไพน์กอล์ฟ เรียลเอสเตท และบริษัทอัลไพน์กอล์ฟสปอร์ตคลับ ซึ่งมี อุไรวรรณ เทียนทอง-วิทยา เทียนทอง-ชูชีพ หาญสวัสดิ์ พี่ชายของ "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รมช.มหาดไทย (มท.2) คนปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้น ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมาที่ดินดังกล่าวก็ถูกขายทอดให้กับตระกูล "ชินวัตร" ซื้อขายในนาม "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" ในราคาสูงถึง 500 ล้านบาท เมื่อปี 2540 ทั้งที่ในความเป็นจริง ที่ดินดังกล่าวเป็นของ "นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา" ซึ่งบริจาคให้แก่วัดธรรมิการามฯ จึงถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่สามารถซื้อขายได้

ดังนั้นการกระทำของ "ยงยุทธ" จึงถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ถูก อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย สั่งลงโทษ สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุตั้งแต่ปี 2545 ว่า พฤติการณ์ของ "ยงยุทธ" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ครั้งนั้นกลับไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษทางวินัย เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงแค่คำแนะนำให้แก่รัฐบาล ไม่มีผลทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามแม้ในปี 2555 ป.ป.ช. และ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ชี้มูลความผิด แต่ "พระนาย สุวรรณรัฐ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธาน อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า

"การลงโทษทางวินัยนี้ ผู้ถูกลงโทษอยู่ในเกณฑ์ได้รับการล้างมลทิน ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทิน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตามแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่อาจเทียบเคียงได้ตามเรื่องเสร็จที่ 440/2526 และหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร.1011/272 ลงวันที่ 7 กันยายน 2555 ผลของการล้างมลทินให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ"

"ทำให้นายยงยุทธยังไม่ขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองแต่อย่างใด สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นส่วนเรื่องจริยธรรม มหาเถรสมาคม และวัดธรรมิการามฯ ได้เห็นชอบด้วยที่อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ปฏิบัติไปแล้ว"

จึงเท่ากับใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินในมาตรา 5 ที่ระบุว่า "ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ" มาลบล้างความผิดให้กับ "ยงยุทธ"

แต่ปัญหาของ "ยงยุทธ" ไม่ได้จบลงตรง พ.ร.บ.ล้างมลทิน เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ตีความตามตัวอักษรว่า คนที่จะได้รับการล้างมลทินนั้นจะต้องได้รับโทษ "ทั้งหมด" หรือ "บางส่วน" ไปก่อน หากกรณี "ยงยุทธ" ยังไม่เคยได้รับโทษแม้แต่น้อย

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "คงจะต้องตรวจสอบในทางข้อกฎหมายต่อไป เพราะนายยงยุทธยังไม่เคยได้รับโทษเลย และการจะขาดคุณสมบัติหรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การเรียกร้องความผิดชอบทางการเมืองของนายยงยุทธ ในแง่มาตรฐานที่จะสร้างไว้ในอนาคต"

"เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ถ้านายกรัฐมนตรีปล่อยให้นายยงยุทธอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่า สุดท้ายเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่"

ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า กรณีของ "ยงยุทธ" ไม่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน เพราะ "ยงยุทธ" ยังไม่ได้รับโทษ

เมื่อไม่เข้าข่ายกฎหมายล้างความผิด ทำให้ความผิดยังคงติดตัว ส่งผลต่อการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.

ช่องทางที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังส่ง "ยงยุทธ" ไปขึ้นเขียง คือ 1.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3.ศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วน "ดาบ" อันเป็น "ข้อกฎหมาย" ที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เชือดคือ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6) เป็นบุคคลที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (4) เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวใช้ถ้อยคำเดียวกับมาตรา 102 (6) และเมื่อเรื่องถูกชงขึ้นสู่มือขององค์กรอิสระ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. "ยงยุทธ" อาจถึงคราวร้อน ๆ หนาว ๆ ซึ่งพรรคเพื่อไทย และ "ยงยุทธ" ย่อมรู้ซึ้งถึงอำนาจที่มีอยู่ของทั้ง 3 องค์กรอิสระนี้เป็นอย่างดี และยังเชื่อว่าองค์กรอิสระทั้ง 3 เป็นกลไกของมือที่มองไม่เห็นที่คอยจัดการพรรคเพื่อไทยให้พ้นกระดาน ซึ่งมีเหตุผลรองรับ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึง "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" รมว.ต่างประเทศ ให้ทบทวนการออกหนังสือเดินทางให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง หรือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยกึ่งแนะนำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทำประชามติ ขออนุญาตประชาชนก่อนว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ รวมถึงกรณีที่วินิจฉัยให้การเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ของ "จตุพร พรหมพันธุ์" สิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคในวันเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีคุณสมบัติการรับสมัครเป็น ส.ส.

ดังนั้นเมื่อคดีของ "ยงยุทธ" ถูกชงขึ้นสู่มือองค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีความเป็นไปได้ 2 ทาง

ทางที่ 1.ศาลรัฐธรรมนูญอาจยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายล้างมลทินมีผลย้อนหลังกลับไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตาม อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยชี้แจง โดย "ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ" ก็จะส่งผลให้ "ยงยุทธ" ย่อมไม่เคยถูกไล่ออก และไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102(6) และรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (4)

ทางที่ 2.หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน กรณีของ "ยงยุทธ" ที่ถูก "ไล่ออก" จากราชการ ย่อมเข้าข่าย "ลักษณะต้องห้าม" เทียบเคียงกรณีจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" ของสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุ-ผลทางกฏหมายที่แขวนบนเส้นด้าย ยังได้เป็นต่อหรือต้องไป ในอัตรา 50/50 แม้ "ยงยุทธ" จะให้สัมภาษณ์ว่า ไม่กังวล

"ขอความกรุณาทุกฝ่ายให้ความเคารพกับคำตัดสินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่รู้สึกกังวลหากฝ่ายค้านจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องชี้แจง หรือทำความเข้าใจใด ๆ กับข่าวที่คนเสื้อแดงชุมนุมให้ผมลาออก เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคล"

แม้คนใกล้ชิดในกระทรวงมหาดไทยจะวิจารณ์กันขรมว่า "ยงยุทธ" เก็บความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงซ่อนไว้ในหน้า แต่ความจริงทางการเมืองที่ฝ่ายค้านตั้งหน้าตั้งตาขับเคลื่อน ย่อมสั่นคลอนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้หวั่นไหว ว่าจะมีชะตากรรมตามรอย อดีตหัวหน้า สมัคร สุนทรเวช หรือหัวหน้า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือไม่


เปิด “พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 50” ชี้ชัด “ยงยุทธ” ไม่เข้าข่ายถูกล้างผิด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ชี้ชัดมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 50 ระบุชัด ล้างมลทินผู้ถูกลงโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค.50 แต่ “ยงยุทธ” ไม่เคยรับโทษ แถมถูก “ชูชาติ-อ.ก.พ.” เล่นแร่แปรธาตุนับวันเกษียณอายุราชการ แทนที่จะเป็นวันที่ต้องโทษ-ถูกลงโทษ

       
       จากกรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีเเละ รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยร้ายเเรงกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 546/2555 ลงนามโดยนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 เเต่ อ.ก.พ.อ้างว่านายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 30 ก.ย. 2545 ซึ่งเป็นวันที่นายยงยุทธมีอายุครบ 60 ปี ทำให้นายยงยุทธไม่ต้องรับโทษเเละไม่ต้องออกจากตำเเหน่งทางการเมืองใน ปัจจุบันนั้น
       
       ผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยละเอียด พบว่า ในมาตรา 5 ระบุอย่างชัดเจน ว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือใน วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ”
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายยงยุทธเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน (ที่จดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์) ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ หรือเรียกว่ากรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์
       
       โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิด เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
       
       ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม, มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า การกระทำนายยงยุทธผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
       
       ก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.นี้ มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน อยู่ดีๆ จะล้างมลทินโดยที่ไม่ได้รับโทษจากความผิดนั้นไม่เคยปรากฏ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยแจ้งมายัง ป.ป.ช.ตั้งแต่สมัยนางพรทิพย์ จาละ ดำรงตำเเหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีที่ข้าราชการยังไม่รับโทษมาก่อนต้องดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. จะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินไม่ได้

       พระราชบัญญัติ
       ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ
       พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
       พ.ศ. ๒๕๕๐
       __________
       ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
       ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
       เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
       
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
       
       โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
       
       จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
       
       มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย เดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐”
       
       มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป
       
       มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
       
       “ผู้ต้องโทษ” หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือให้กักกันและให้หมายความรวม ถึงผู้ถูกลงโทษโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการถูกลงโทษ โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
       
       “ผู้ถูกลงโทษทางวินัย” หมายความว่า ผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาคราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และให้หมายความรวมถึงผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่ง มีผลเช่นเดียวกับการถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย
       
       มาตรา ๔ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ
       
       มาตรา ๕ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือใน วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ
       
       มาตรา ๖ บรรดาผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอันมิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวัน ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ต่อไป
       
       มาตรา ๗ การล้างมลทินตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือ ประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
       
       มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
       รองนายกรัฐมนตรี
       
       หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นมหามงคลกาลอันสำคัญยิ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและให้เกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสม เด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมควรล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว และผู้ถูกลงโทษทางวินัยของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งได้รับการลงโทษทางวินัยไปแล้วและสมควรให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอัน มิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ พิจารณาสั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ต่อไปด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
       
       (ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๗๐ ก หน้า ๑, ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๐)


กรณีตัวอย่างพ.ร.บ.ล้างมลทินฯเทียบเคียงกรณี'ยงยุทธ'

เปิดกรณีตัวอย่างการใช้พ.ร.บ.ล้างมลทินฯเทียบเคียงกรณี"ยงยุทธ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการถกเถียงกันว่า กรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ที่ถูก อกพ.กระทรวงมหาดไทย ลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการจะได้รับอานิสงส์จาก พร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 หรือไม่นั้น

จากข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้มา พบว่าเคยมีกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 แต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับ"การงดโทษ " ตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ที่ชี้ให้เห็นว่า  ต้องมีการดำเนินการพิจารณาเรื่องโทษทางวินัยให้เสร็จสิ้นก่อน พ.ร.บ.ล้างมลทินฯฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ไม่ใช่มาลงมติกันหลัง พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับแล้วและหากเป็นกรณีที่ "งดโทษ"  ก็ต้องมีการงดโทษและยุติเรื่องจริงๆ

โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายนปี 2552 ว่า พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)และพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ ปปง.ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงเนื่องจากตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)และนักการเมือง 200 คนโดยไม่ชอบ ซึ่งโทษทางวินัยคือ ไล่ออก ปลดออก

แต่หน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถดำเนินการตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลได้เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย เพราะบุคคลทั้งสองได้รับผลจาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯพ.ศ. 2550 เนื่องจากบุคคลทั้งสองเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรงกรณีเดียวกันและคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ไม่มีความผิด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องตั้งแต่ปี 2545 แล้ว

ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษทางวินัยที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ยุติเรื่องได้ ทั้งๆที่ในกรณีปกติหน่วยงานต้นสังกัดต้องลงโทษตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูล ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

และกรณีดังกล่าว สำนักงาน ปปง.และกระทรวงยุติธรรมได้ทำเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 468-469/2552 มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า รองเลขาธิการ ปปง. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผลกระทำความผิดทางวินัยร้ายแรง และได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ตามนัยมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กรณีเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 45/2545 ลงวันที่ 7 มีนาคม2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีความเห็นว่า พฤติการณ์บุคคลทั้งสอง มีมูลเป็นความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 มีนาคม2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งต่อมาคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่า ข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิดทางวินัย จึงเห็นควรยุติเรื่อง และนายกฯเห็นควรยุติเรื่องตามเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545

จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) มีความเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งยุติเรื่องจึงทำให้การดำเนินการทางวินัยสิ้นสุดลง ผู้ถูกดำเนินการทางวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ย่อมได้รับประโยชน์จากมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ที่ได้บัญญัติว่า “...บรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นๆ ต่อไป" ทำให้ข้าราชการที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ยุติเรื่องการลงโทษทางวินัยไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นๆ ต่อไป

นอกจากนั้นจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 11) ที่ได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่234/2552นั้น ผู้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ นั้นได้ แม้ว่าต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงก็ตาม

ดังนั้น การที่ผู้บังคับบัญชาไม่พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยตามมาตรา94 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


'ยงยุทธ'อ้างกฤษฎีกาปปช.ไม่มีหน้าที่ตีความกฎหมาย

"ยงยุทธ"อ้างกฤษฎีกากอดเก้าอี้ต่อตอกกลับปปช.ไม่มีหน้าที่ตีความกฎหมาย
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสาเหตุที่มอบหมายให้นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)นนทบุรี หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงจากกรณีที่ดินสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เนื่องจาก อยากให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายกับทุกฝ่าย และการยื่นครั้งนี้เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นมติพรรคหรือคำสั่งจากใคร อีกทั้งเป็นการยื่นตรวจสอบก่อนพรรคฝ่ายค้านจะดำเนินการ เพื่อเป็นการยืนยันว่าตนเองได้ทำตามกฤษฎีกาตีความไว้
   
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่มีการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจะให้ตนทำเช่นไรนั้น ก็ต้องไปถามนักกฎหมายที่ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม จะทำงานต่อไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และจะไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อีกต่อไป ขอให้เรื่องจบ ไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อต่อไป ขณะที่เอกสารนำแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน ชี้แจงเกี่ยวกับคดีที่ดินอัลไพน์นั้นเห็นว่า ต้องการให้ได้ทราบข้อเท็จจริง ส่วนผู้อ่านจะรู้สึกเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านเอง
 
ส่วนที่ป.ป.ช.ออกมาระบุว่าตนกำลังฝืนกฎนั้น อยากให้เข้าใจหน้าที่ของ ป.ป.ช.คือการพิจารณาลงโทษ ส่วนหน้าที่ในการตีความกฎหมายคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กกต. กพ. และตนพร้อมตอบกระทู้สดของฝ่ายค้าน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตายหรืออยู่ สู้หรือถอย ชะตากรรมและมลทิน ยงยุทธ ทศวรรษ ทุจริตอัลไพน์หลอน

view