สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระเจ้าช่วย! ไต้ฝุ่น แกมิ แรงสุดคณา 8 ต.ค. ผ่าทุ่งกรุงเก่า-นครสวรรค์

พระเจ้าช่วย! ไต้ฝุ่น “แกมิ” แรงสุดคณา 8 ต.ค. ผ่าทุ่งกรุงเก่า-นครสวรรค์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

พยากรณ์ชิ้นล่าสุดโดยศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning Center) ฟันธง ปลายทางของไต้ฝุ่นแกมิ (Gaemi) อยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ราบใหญ่ในภาคกลางของไทย พายุแกมิเปลี่ยนเส้นทางในชั่วเวลาข้ามคืน หลังจากทุกสำนักฟันธงในวันอังคารที่ผ่านมาว่า พายุชื่อเกาหลีจะพัดเข้ากัมพูชาและไปหมดเแรงใน จ.เสียมราฐ ศูนย์ JTWC แห่งนี้เป็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ หน่วยงานที่ได้ชื่อในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทำหน้าที่นี้มานานหลายสิบ ปี โปรดติดตามความคืบหน้าของพายุลูกนี้ต่อไป.. ที่นี่.


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ขอให้ช่วยกันภาวนาอีกครั้ง คราวนี้ขอให้ภาคกลางของไทย และเมืองหลวงของไทยรอดปลอดภัยจากอุทกภัยอีกในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ขณะที่สำนักอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งทั่วโลก ออกพยากรณ์ครั้งใหม่ พายุโซนร้อนแกมิ (Gaemi) นั้นแรง และอึดอย่างสุดคณา มุ่งหน้าเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าใจกลางที่ราบใหญ่ระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.นครสวรรค์ในช่วงวันที่ 7-8 ต.ค.นี้
       
       แกมิเปลี่ยนเส้นทางในชั่วเวลาข้ามคืน หลังจากสำนักต่างๆ พยากรณ์ในตอนค่ำวันอังคาร 2 ต.ค.ว่า มันจะพัดเข้าภาคกลางเวียดนามในวันที่ 6 ต.ค. จากนั้น จะปักหัวลงต่ำเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชา ไปสิ้นฤทธิ์ลงในแถบ จ.เสียมราฐ
       
       เพียงไม่กี่ชั่วโมง แกมิกลับโงหัวขึ้นแบบปึ๋งปั๋ง ตั้งหลักใหม่ พัดเข้าภาคกลางเวียดนามทะลุทะลวงผ่านภาคใต้ของลาว ผ่าเข้าใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทะลุถึงที่ราบใหญ่ในภาคกลางของไทยในที่สุด ในสภาพที่เริ่มอ่อนตัวลงกลายเป็นดีเปรสชัน
       
       บางสำนักฟันธงว่า แกมิจะไปถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 ต.ค. ซึ่งหลายท้องถิ่นจะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาจังหวัด อีกสำนักหนึ่งมองต่อไปข้างหน้า พายุลูกนี้จะฝ่าด่านผ่านขุนเขาตามแนวชายแดนเข้าไปจนถึงพม่า ก่อนจะสิ้นฤทธิ์ลงในอ่าวเมาะตะมะ
       
       แกมิก่อตัวขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา เพียง 4 วัน สปีดตัวเองขึ้นเป็นพายุลูกใหม่ แข่งกับพายุโซนร้อนอีกลูกหนึ่ง ที่ก่อตัวขึ้นทางตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และในวันนี้ แกมิมีขนาดใหญ่โตกว่าหลายเท่า จนดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรหยุดยั้งมันได้
       
       แผนภูมิพยากรณ์ที่ออกโดยสำนักแจ้งเตือนความเสี่ยงจากพายุโซนร้อน หรือ Tropical Storm Risk ในกรุงลอนดอนแสดงให้เห็นว่า พายุโซนร้อนแกมิจะทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 (Category 1) ขณะพัดเข้าฝั่งเวียดนาม และทะลวงผ่านตอนใต้สุดของลาว ก่อนจะลดระดับลงเป็นดีเปรสชันแบบทันทีทันใด เมื่อเข้าสู่ดินแดนไทยที่ จ.อุบลราชธานี
       
       สำนักอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอยได้ออกเตือนอีกฉบับ หนึ่งในเช้าตรู่วันพุธ 3 ต.ค. ให้เรือหาปลาใหญ่น้อยทุกลำในทะเลจีนใต้ต้องหลบเข้าหาที่กำบังพายุกับคลื่นลม แรงที่อันตรายมาก ขณะเดียวกัน ทางการจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ภาคกลางตอนบน ลงไปจนถึงนครโฮจิมินห์ จะต้องจัดเตรียมมาตรการรับมือกับฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน
       
       เคลื่อนตัวช้าๆ แต่นำมวลไอน้ำปริมาณมหึมามหาศาลติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง ส่งผลจะทำให้เกิดฝนตกหนักครอบคลุมอาณาบริเวณกว้าง .. นี่คือภาพรวมของพายุโซนร้อนลูกใหญ่ในวันนี้ และหากสภาพการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามนี้ ตลอดเส้นทางเคลื่อนตัวของมัน และตลอด 5 วันข้างหน้า
       
       สำหรับชาวไทย จะต้องช่วยกันภาวนาใหม่ ให้พายุลูกนี้อ่อนแรงลงในเร็ววัน ขณะเดียวกัน มืออีกข้างต้องรีบเก็บข้าวของขึ้นที่สูง.

เอาอยู่!? เอาอยู่!?
หลากหลายแหล่งที่มา

แผน ภูมิพยากรณ์สีสันสวยงาม ที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์แห่งนี้อาจจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย .. แต่เมื่อดูขนาดอันใหญ่โตของไต้ฝุ่นลูกนี้ น่าสะพรึงกลัวอย่างที่สุด หลายสำนักฟันธงตรงกันปลายทางของมันอยู่ที่ทุ่งราบใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใน ภาคกลางของไทย ถึงเวลาจะต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เช่น ภาวนาไปด้วย เก็บข้าวของไปด้วย.

แผนภูมิพยากรณ์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ กลางในกรุงฮานอย ที่ออกในเช้าวันพุธ 3 ต.ค. แสดงขนาดอันมหึมาของพายุแกมิ (Gaemi) ที่คาดว่าจะปั่นตัวเองขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ในอีก 3 วันข้างหน้า เวียดนามที่มีประสบการณ์ไล่จับพายุมานานและมากกว่าใครๆ ในอนุภูมิภาค สั่งทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือแล้ว.

ภาพที่จำลองขึ้นจากข้อมูลดาวเทียม MTSAT แสดงพายุโซนร้อนแกมิ (Gaemi) กำลังป่นตัวเองในทะเลจีนใต้ใกล้กับหมู่เกาะพาราเซล หลายสำนักฟันธง พายุชื่อเกาหลีกำลังจะทวีความเร็วใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ใน 3 วันข้างหน้า และข้อมูลในวันนี้บ่งชี้ว่า ปลายทางของมันในต้นสัปดาห์หน้าคือทุ่งราบใหญ่ภาคกลางของไทยระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นครสวรรค์.

บางสำนักฟันธงล่วงหน้าตั้งแต่วันองคาร ไต้ฝุ่นแกมิจะทะลุทะลวงผ่านที่ราบใหญ่ของไทย ไปจนถึงอ่าวเมาะตะมะ หรือกระทั่งเขตอู่ข้าวในรัฐมอญของพม่า อีก 4-5 วันข้างหน้า ..โปรดอย่ากระพริบตา.

แผน ภูมิพยากรณ์โดยสำนัก TSR ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นหน่วยพยากรณ์อากาศที่มีประสบการณ์สูงมากอีกแห่งหนึ่ง แสดงเส้นทางเคลื่อนตัวล่าสุด ของพายุโซนร้อนแกมิ (Gaemi) ซึ่งจะสปีดตัวเองขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 (C-1) ในอีก 3 วันข้างหน้าขณะพัดเข้าฝั่งเวียดนาม ทะลุลาว ทะลวงเข้าภาคอีสานของไทย ตรงดิ่งไปยังที่ราบใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะเป็นดีเปรสชั่น นำฝนตกหนักให้ชุ่มฉ่ำไปทั่ว.

แผน ภูมิพยากรณ์โดยสำนัก TSR ในกรุงลอนดอน โฟกัสตรงปลายทางของพายุแกมิ (Gaemi) ในวันจันทร์ 8 ต.ค. มองให้ชัดๆ จะพัดผ่านบ้านใครบ้าง พายุโซนร้อนแกมิ (Gaemi) จะสปีดตัวเองขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 (C-1) ในอีก 3 วันข้างหน้าขณะพัดเข้าฝั่งเวียดนาม ทะลุลาว ทะลวงเข้าภาคอีสานของไทย ตรงดิ่งไปยังที่ราบใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะเป็นดีเปรสชั่น นำฝนตกหนักให้ชุ่มฉ่ำไปทั่ว.

สำนัก อุตุนิยมวิทยาในฮ่องกง รวบรวมเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุแกมิจากหลายสำนักในภูมิภาคนี้ มารวมแสดงให้เห็นเป็นแนวเดียวกัน พายุชื่อเกาหลีเปลี่ยนเส้นทางอย่างรวดเร็วมากในชั่วเวลาข้ามคืน ตามบรรดาลแห่งธรรมชาติ ปลายทางในอีก 5 วันข้างหน้าคือที่ราบใหญ่ภาคกลางของไทย พยากรณ์ของสำนักต่างๆ ในเช้าวันพุธ 3 ต.ค.นี้ อาจจะทำให้ชาวกรุงเทพฯ เริ่มอึดอัดกันอีกครั้ง.


ช่วยกันภาวนาให้พายุ “แกมิ” สิ้นฤทธิ์โดยไว..ในเขมร

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เวียดนามกำลังเฝ้าจับตาพายุโซนร้อนลูกใหม่อย่างใกล้ชิด ในขณะที่หลายสำนักพยากรณ์มองทิศทางการเคลื่อนตัวของมันในช่วง 3-4 วันข้างหน้า ซึ่งมันจะหยุดอยู่แค่ในตอนเหนือของกัมพูชา แต่ถ้าหากโชคร้าย มันก็อาจจะกลายเป็นหายนะสำหรับชาวกรุงเทพฯ ด้วย
       
       ความน่ากลัวก็คือ แกมิ (Gaemi) พายุโซนร้อนชื่อเกาหลีก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ แทนที่จะเป็นทะเลแปซิฟิกทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์เช่นเดียวกับ พายุลูกอื่นๆ กว่า 10 ลูกก่อนหน้านี้ มันจึงเป็นเสมือนภัยใกล้ตัวที่จ่ออยู่ตรงประตูหน้าบ้าน
       
       สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอยออกประกาศในค่ำ วันอังคาร 2 ต.ค.ว่า แกมิมีโอกาสที่จะทวีความเร็วใกล้ระดับไต้ฝุ่น และเคลื่อนตัวเข้าฝั่งในอีก 48 ชั่วโมงข้างหน้า อย่างช้าๆ ด้วยความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
       
       ก่อตัวขึ้นในวันที่ 29 ก.ย. ในทะเลทางทิศใต้ของเกาะหว่างซา (Hoang Sa) หรือ พาราเซล (Paracel) แต่ด้วยอิทธิพลของไต้ฝุ่นเจลาวัต (Jelawat) ที่อยู่ไกลออกไปทางตะวันออก ทำให้พายุแกมิถูกดึงเอาไว้ที่จุดเดิม พอดิ้นหลุดออกมาได้ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่พายุโซนร้อนมาลิกซี (Maliksi) ที่มีขนาดใหญ่โตกว่าก่อตัวขึ้นทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ แกมิก็จึงถูกรั้งเอาไว้เป็นหนที่สอง
       
       แต่ในวันนี้ มันพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าเข้าฝั่ง มุ่งหน้าลงทิศตะวันตกเฉียงใต้
       
       ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ เวียดนามบอกว่า พายุลูกนี้ยังคงเคลื่อนตัวช้าๆ ไม่รีบไม่ร้อน แต่ถึงแม้ว่ามันจะยังอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร แกมิก็กำลังทำให้ท้องทะเลปั่นป่วน และฝนตกหนักตั้งแต่ภาคกลางตอนบน จนถึงภาคใต้ของประเทศ ทางการประกาศให้เรือประมงทุกลำต้องเข้าฝั่ง หรือเข้าหาที่กำบังคลื่นลมแรง
       
       ในช่วงเวลาเที่ยงวันของวันอังคารที่ผ่านมา หลายสำนักพยากรณ์ชี้ว่า แกมิจะไปสิ้นฤทธิ์ลงที่ชายแดนลาว-ไทย ในวันที่เสาร์ที่ 6 ต.ค. ตรงบริเวณรอยต่อแขวงสะหวันนะเขต-จ.มุกดาหาร และจำปาสัก-จ.อำนาจเจริญ-จ.อุบลราชธานี
       
       แต่เส้นทางพยากรณ์ที่ออกในคืนวันเดียวกันแสดงให้เห็นพายุแกมิกำลัง เบนหัวลงใต้มากยิ่งขึ้น โดยจะพัดเข้าเขตรอยต่อชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาในวันที่ 6 ต.ค. และมีปลายทางที่ จ.เสียมราฐ-อุดรมีชัย ในวันอาทิตย์ที่ 7 ซึ่งหมายความว่า จังหวัดต่างๆ ในเขตอีสานใต้ของไทยจะได้รับอิทธิพลไม่น้อย
       
       สำนักพยากรณ์ความเสี่ยงจากพายุโซนร้อน (Tropical Storm Risk) ในกรุงลอนดอน ได้ออกพยากรณ์คล้ายกันในคืนวันอังคาร แสดงเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุแกมิที่มุ่งสู่ จ.เสียมราฐ และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และสลายตัวไปในวันเดียว
       
       หมายความว่า อย่างน้อยที่สุด กรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง กับภาคตะวันออกจะได้รับผลกระทบน้อยลง และสภาพการณ์ต่างๆ ก็อาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่ผู้คนกำลังวิตกกันในสัปดาห์นี้
       
       แต่ใครจะไปรู้ใจลมฟ้าอากาศที่กำหนดโดยพระแม่แห่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ มนุษย์ทำได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ต้องจับตามองพายุแกมิแบบเกาะติดต่อไป.


ศุกร์นี้ 2 ทุ่ม พายุเกมี เข้าไทย

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนฉบับที่ 8 ระบุว่า พายุโซนร้อน “แกมี” (GAEMI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 880 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

หรือที่ ละติจูด 15.3 องศาเหนือ และ ลองจิจูด 117.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กม./ชม. พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง



และยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยในระยะนี้ คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 5-6 ตุลาคม 2555 และจะเริ่มมีผลกระทบกับลักษณะอากาศของประเทศไทยในช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม 2555

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสภาวะอากาศดังกล่าว สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบน

และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

เว็บไซต์ wunderground.com ตรวจสอบสภาพอากาศ ได้คาดการณ์ว่า พายุแกมีจะเดินทางเข้าสู่ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยเร็วขึ้น จากเดิมที่จะเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ในวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม เวลาประมาณ 15.00 น.

ปรับใหม่เป็นเข้าเวียดนามวันศุกร์ ประมาณ 08.00 น. ส่วนประเทศไทย จากเดิมคาดว่า พายุแกมีจะพัดเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม เวลาประมาณ 03.00 น. ล่าสุด มีการปรับใหม่เป็นเข้าสู่ประเทศไทยวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม เวลา 20.00 น.

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป 


"คมนาคม"รับมือพายุแกมิห่วง2จุดเสี่ยงวิภาวดีฯ-ไอซีดีลาดกระบัง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      "คมนาคม"เผยถนนวิภาวดีและไอซีดีลาดกระบัง พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบพายุแกมิเร่งลงพื้นที่วางแผนรับมือ “ชัชชาติ”มอนิเตอร์ระดับน้ำคลองด้านตะวันตกและตะวันออกของกทม.รายวันสั่งทช .เร่งยกถนนเลียบแม่น้ำท่าจีนและคลอง 13 เป็นคันชั่วคราวก่อน โดยบางจุดสูงกว่าระดับน้ำเพียง 5 ซม.พร้อมประสาน ทบ.ขอพื้นที่  พล.ม.2 และ ร.1 พัน.1 รอ.เป็นแก้มลิงและลดการระบายน้ำออกถนนแก้รถติดวิภาวดี 
       
       นายศรศักดิ์  แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกทม.โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคมเป็นประธานว่า ขณะนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุแกมิ 2 จุดใหญ่ ประกอบด้วย บริเวณถนนวิภาวดี-ดินแดน และบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือICD ลาดกระบัง โดยจะเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เพื่อวางแผนรองรับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ต.ค.นี้อย่างแน่นอน โดยการแก้ไขปัญหาน้ำถนนวิภาวดีนั้น จะสูบน้ำผ่านอุโมงค์กทม.สู่บึงมักกะสันก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนไอซีดีลาดกระบังนั้นนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่ตรวจสอบคาดว่าจะเสร็จเพื่อรองรับฤดูน้ำหลากปลายเดือนต.ค.นี้   
       
       นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จากการตรวจสอบระดับน้ำในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า พื้นที่ด้านตะวันออกยังมีปัญหาการผลักดันน้ำในบางจุด เช่น คลอง13 ซึ่งเป็นคลองหลักแนวเหนือใต้ในการดันน้ำลงทะเล แต่คลอง 13 ลอดใต้คลองรังสิต ทำให้น้ำจากคลองรังสิตเอ่อท่วมพื้นที่โดยรอบเพราะน้ำไหลไปคลองสิบสามไม่ได้ โดยระดับน้ำต่างกันเกือบ 1 เมตร ส่วนปั๊มน้ำที่ติดตั้งไว้เมื่อปีที่แล้วไม่มีแล้ว กำลังพิจารณานำเครื่องปั๊มน้ำติดตั้งอีก ซึ่งต้องประเมินการผลักดันน้ำในคลองต่อเนื่องทั้ง คลองแสนแสบ คลองลำปะทิว ที่มีนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังตั้งอยู่และการระบายน้ำของคลองบึงบัว คลองลำแตงโม เนื่องจากยังมีน้ำอยู่เต็มพื้นที่ 
       
       ทั้งนี้ จากการตรวจสอบระดับน้ำเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พบว่า ระดับน้ำคลองสิบสามต่ำกว่าถนน 25 เซนติเมตร  ส่วนแม่น้ำท่าจีนอยู่ต่ำกว่าถนน 5 เซนติเมตร ซึ่งได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เร่งยกระดับถนนตลอดแนวแม่น้ำท่าจีนและถนนแนวคลอง13 ขึ้นอีก 50 เซนติเมตรเพื่อเป็นคันกั้นน้ำแบบชั่วคราวก่อน โดยเฉพาะจุดที่ถนนมีระดับต่ำมาก 
       
       “หลักการต้องผันน้ำลงไปทางใต้ให้เร็วเพราะเครื่องสูบน้ำศักยภาพเกือบ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ที่ผ่านมาน้ำยังไปไม่ถึง โดยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษของฝั่งตะวันออกคือระดับน้ำคลอง13ส่วนฝั่ง ตะวันตกคือแม่น้ำท่าจีนซึ่งเท่าที่ดูก็ยังรับได้ภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วงและ เชื่อว่าสถานการณจะไม่รุนแรงเพราะเป็นปริมาณน้ำในพื้นที่และปริมาณน้ำฝนไม่ มีน้ำเหนือเหมือนปีที่แล้ว”นายชัชชาติกล่าว
       
       สำหรับแผนรองรับพายุลูกใหม่ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและจราจรในพื้นที่ กทม.นั้นนายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานกับพล.ม.2 รอ.สนามเป้าและค่ายทหาร ร.1 พัน.1 รอ.วิภาวดี เพื่อใช้พื้นที่เป็นแก้มลิง เนื่องจากมีพื้นที่ประมาณ 400ไร่ รองรับน้ำได้เกือบ 1 แสนลูกบาศก์เมตร โดยได้เข้าไปดูพื้นที่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งทางกองทัพพร้อมให้ความร่วมมือซึ่งจะเร่งเข้าไป ขุดลอกบึงด้านให้ลึกขึ้นเพื่อรองรับน้ำได้เพิ่ม และปรับปรุงการเชื่อมทางไหลของน้ำเพื่อให้การพร่องน้ำได้สะดวก โดยหลักการจะให้ชะลอการสูบน้ำออกมาภายนอกในช่วงฝนตกด้วย ซึ่งจะต้องหารือรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อที่พักอาศัยที่อยู่ด้านใน 
       
       อย่างไรก็ตาม เรื่องสิ่งอุดตันท่อต่างๆ ทำให้การระบายน้ำมีปัญหาไม่น่ากังวลแล้ว โดยถนนวิภาวดี การระบายน้ำเร็วขึ้น จากช่วงแรกใช้เวลา 6 ชั่วโมงเหลือ ประมาณ 40 นาทีเอง ซึ่งจะใช้เป็นตัวชี้วัดการปรับปรุงในแต่ละจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ถนนรัชดาภิเษก(บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนสถานทูตจีน ถนนหน้าเซ็นทรัลพระราม9 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ) ถนนราชวิถีตั้งแต่แยกซังฮี้-เชิงสะพานกรุงธน ถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกลำสาลี ซอยพร้อมพงษ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนศรีอยุธยา(บริเวณหน้าโรงเรียนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท 
       
       ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดี ทช.กล่าวว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้ การยกถนนของ ทช.ขึ้นเป็นคันกั้นน้ำแบบชั่วคราวจะแล้วเสร็จโดยเฉพาะจุดวิกฤติที่ระดับน้ำ ต่ำกว่าระดับถนนไม่มาก โดยขณะนี้ได้ให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่แล้วอยู่นั้น สำหรับ แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำท่าจีน จากปลากคลองพระยาบรรลือด้านแม่น้ำท่าจีน ถึงปากแม่น้ำท่าจีน วงเงิน1,265ล้านบาทส่วนแนวถนนเลียบคลอง13 วงเงินประมาณ 1,470 ล้านบาท


ผู้ว่าฯกทม.ประชุมรับมือพายุเกมี่ ย้ำขรก.ทำให้ดีที่สุดอย่าหวั่นไหวคำวิจารณ์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมผู้บริหารสำนักที่เกี่ยวข้องและผู้อำนวยการเขต 50 เขต เพื่อยืนยันความพร้อมในการรับมือปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ จากพายุเกมี (GAEMI) ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 55 รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่ายทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่าหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์แต่ขอให้ชี้แจงตามความเป็นจริงและปฏิบัติ งานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ตลอดจนเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากตรวจสอบสภาพอากาศแล้วคาดว่าจะเกิดฝนตกหนัก ให้ทุกฝ่ายเร่งประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมในความรับผิดชอบล่วงหน้า พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงบุคลากร เพื่อไม่เสียเวลาในการเดินทางและให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงานในการช่วยเหลือรถเสียฉุกเฉินตามแผน งานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำจะตรวจสภาพฝนจากเรดาห์ พร้อมทั้งรายงานผ่านศูนย์วิทยุอัมรินทร์ เพื่อแจ้ง 50 สำนักงานเขตให้พร้อมประจำพื้นที่และจุดเสี่ยงต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. แสดงความห่วงใยพื้นที่จุดเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในหมู่บ้านและชุมชนซึ่งตั้งอยู่นอกคันกั้นน้ำด้านตะวัน ออก เช่น เขตมีนบุรีและเขตหนองจอก เนื่องจากไม่ต้องการให้น้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัยนานเกินไป แม้ว่าบางจุดจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะสั้นได้ และบางจุดเป็นพื้นที่ต่ำมากอีกทั้งมีคลองล้อมรอบทำให้การระบายน้ำทำได้ยาก โดยกทม. จะเชิญกรมชลประทานลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อร่วมกันหา แนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งจำเป็นต้องประสานงานกับรัฐบาล เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้กำชับให้สำนักงานเขต ดูแล 27 ชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากในช่วงดังกล่าวอาจทำ ให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น  อีกทั้งให้สำนักเขตตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง หากผิดสังเกตให้แจ้งสำนักการระบายน้ำ เพื่อเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

พร้อม กันนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้ติดตามสถานการณ์พายุเกมี (GAEMI) อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม คาดการณ์เส้นทางพายุ และการติดตามพายุเข้าประเทศไทย ในเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ dds.bangkok.go.th “เกาะติดพายุเกมี (GAEMI)”  อีกทั้งรายงานสภาพฝนตกและน้ำท่วมปัจจุบันให้แก่ประชาชนรับทราบด้วย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระเจ้าช่วย ไต้ฝุ่น แกมิ แรงสุดคณา 8 ต.ค. ทุ่งกรุงเก่า นครสวรรค์

view