สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โพลเผยคนอีสานติดใจจำนำข้าวราคาสูงลิ่ว หนุนเดินหน้า -เพิ่มราคาขึ้นอีก

โพลเผยคนอีสานติดใจจำนำข้าวราคาสูงลิ่ว หนุนเดินหน้า -เพิ่มราคาขึ้นอีก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

"อีสานโพล" เผยนโยบายรับจำนำข้าวรบ."ปูนิ่ม" โดนใจคนอีสาน หนุนเดินหน้านโยบายต่อ ยิ้มได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก แต่ยังไม่สะใจขอเพิ่มราคาขึ้นอีก พิลึก!กังวลเรื่องทุจริต แต่มีเคืองนักวิชาการติงจะส่งผลเสียในระยะยาว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 ต.ค. อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ทัศนคติของชาวอีสาน ต่อนโยบายรับจำนำข้าว” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรพึงพอใจนโยบายจำนำข้าว อยากให้มีโครงการไปเรื่อยๆ และเพิ่มราคารับจำนำขึ้นอีก แม้จะเสี่ยงต่อปัญหาการทุจริตและผลเสียในระยะยาวที่ถูกท้วงติงโดยนักวิชาการ
       
       ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อนโยบายการรับ จำนำข้าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร และกลุ่มตัวอย่างอาชีพอื่นๆ (ไม่ใช่เกษตรกร) ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
       
       เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อนโยบายรับจำนำข้าว ผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจแต่ กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรจะมีความพอใจน้อยกว่ากลุ่มเกษตรกร โดยมีรายละเอียดดังนี้ เกษตรกร ร้อยละ 51.8 รู้สึกพอใจอย่างมาก รองลงมา ร้อยละ 28.4 รู้สึกพอใจเล็กน้อย ตามมาด้วยร้อยละ 14.1 รู้สึกไม่พอใจเล็กน้อย และ มีเพียงร้อยละร้อยละ 5.7 ที่รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจเล็กน้อยร้อยละ 39.4 รองลงมาร้อยละ 32.3 รู้สึกพอใจเล็กน้อย ตามมาด้วย ร้อยละ 22.4 รู้สึกไม่พอใจเล็กน้อยและร้อยละ 5.9 รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก
       
       เมื่อถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า รู้สึกอย่างไรต่อการที่มีนักวิชาการจากหลายๆ สถาบัน ออกมาท้วงติงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร รู้สึกไม่เห็นด้วยเล็กน้อยเป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.5 ตอบว่าไม่เห็นด้วยเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 29.7 ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ตามมาด้วยร้อยละ 14.5 ตอบว่าเห็นด้วยเล็กน้อย และร้อยละ 8.2 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างมาก สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.9 ตอบว่าไม่เห็นด้วยเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 25.5 เห็นด้วยเล็กน้อย ตามมาด้วยร้อยละ 23.0 ตอบว่าไม่เห็นด้วยอย่างมาก และร้อยละ 9.6 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างมาก
       
       อีสานโพล ได้สอบถามต่อถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุดต่อนโยบายรับจำนำข้าวนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 30.2 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ได้ประโยชน์มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 24.7 เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการโรงสีที่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการ ตามมาด้วยร้อยละ 19.9 เห็นว่าเป็นกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต และร้อยละ 19.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายใหญ่ และร้อยละ 5.5 ที่คิดว่าเป็นกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ส่งออกข้าวที่เป็นเครือข่ายของรัฐบาล เป็นต้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร กลับมีความเห็นที่แตกต่าง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 30.7 เห็นว่า นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต เป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด รองลงมาคือชาวนารายย่อย (ร้อยละ 25.5) โรงสีข้าวที่ได้รับสิทธิ์ (ร้อยละ 23.6) และชาวนารายใหญ่ (ร้อยละ 14.9) ตามลำดับ
       
       เมื่อสอบถามว่า ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ (เสียประโยชน์) มากที่สุด ต่อนโยบายจำนำข้าวนี้ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.1 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อย รองลงมาร้อยละ 21.6 เห็นว่าเป็นโรงสีที่ได้รับสิทธิ ตามมาด้วยร้อยละ 14.5 เห็นว่าเป็นผู้บริโภคข้าว ร้อยละ 9.8 เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 7.7 เห็นว่าเป็นชาวนารายใหญ่ ร้อยละ 5.7 เห็นว่าเป็นผู้ส่งออกข้าว ร้อยละ 2.2 เห็นว่าเป็น ธนาคาร ธกส. และร้อยละ 1.4 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างอาชีพอื่นๆ มีความเห็นไปในทิศทางคล้ายกัน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 40.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่จะเสียประโยชน์ รองลงมาร้อยละ 21.4 เห็นว่าเป็นผู้บริโภคข้าว ตามมาด้วยร้อยละ 20.2 เห็นว่าเป็นโรงสีที่ได้รับสิทธิ ตามมาด้วยร้อยละ 7.1 เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 4.3 เห็นว่าเป็นชาวนารายใหญ่ ร้อยละ 2.5 เห็นว่าเป็นผู้ส่งออกข้าว ร้อยละ 1.6 เห็นว่าเป็น ธนาคาร ธกส. และร้อยละ 2.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
       
       นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งใดที่รัฐควรปรับปรุงต่อนโยบายรับจำนำข้าวมากที่สุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าควรป้องกันการทุจริต รองลงมาเห็นว่าควรเพิ่มราคาจำนำให้สูงขึ้นร้อยละ 31.8 ตามมาด้วยจ่ายเงินชาวนาให้เร็วขึ้นร้อยละ 20.4 จำกัดปริมาณรับจำนำ เพื่อเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อย ร้อยละ 10.1 ลดราคาจำนำลงมีเพียงร้อยละ 2.9 และ อื่นๆ เช่น ลดราคาปุ๋ย หรือสร้างเครือข่ายเกษตรกรร้อยละ 0.5 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตสูงกว่า โดยมีผู้ตอบสูงถึงร้อยละ 48.1 รองลงมาเห็นว่าควรเพิ่มราคาจำนำให้สูงขึ้น ร้อยละ 23.9 ตามมาด้วยจ่ายเงินชาวนาให้เร็วขึ้นร้อยละ 14.6 จำกัดปริมาณรับจำนำ เพื่อเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อยร้อยละ 8.7 ลดราคาจำนำลงร้อยละ 4.0 และ อื่นๆ เช่น ลดราคาปุ๋ย หรือสร้างเครือข่ายเกษตรกร ร้อยละ 0.6
       
       เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ต้องการให้ดำเนินนโยบายนี้ต่อไปหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60.9 เห็นว่า ควรดำเนินนโยบายต่อไปเรื่อยๆ รองลงมาร้อยละ 16.8 เห็นว่า ควรทำเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำเท่านั้น ตามมาด้วยร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรทำอีก 2-3 ปี และมีเพียงร้อยละ 8.9 เห็นว่าให้ทำปีนี้เป็นปีสุดท้าย และไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.8 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 39.8 เห็นว่า ควรดำเนินนโยบายต่อไปเรื่อยๆ รองลงมาร้อยละ 32.3 เห็นว่า ควรทำเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำ ตามมาด้วยร้อยละ 14.9 เห็นว่าให้ทำปีนี้เป็นปีสุดท้าย ร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรทำอีก 2-3 ปี และไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.6
       
       “จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้เห็นว่า เป็นที่น่ากังวลว่าเกษตรกรเริ่มเสพติดต่อนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลและยัง ต้องการให้เพิ่มราคารับจำนำข้าวให้สูงขึ้นอีก แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่า นโยบายประชานิยมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและเศรษฐกิจโดย รวมได้ แต่ชาวบ้านหรือเกษตรกรยังเห็นว่า นโยบายดังกล่าว เอื้อผลประโยชน์ต่อตน นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังได้สะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานมีความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร เกือบ 1 ใน 5 และกลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรเกือบ 1 ใน 3 เห็นว่า ผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ซึ่งหากสามารถกำจัดปัญหาการทุจริตได้ และสร้างความชัดเจนโปร่งใสต่อระบบการจำนำข้าวได้ ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ต่อนโยบายนี้ อย่างไรก็ดี ยังพบว่า ยังมีชาวนารายย่อยจำนวนมากที่เสียประโยชน์ในนโยบายนี้ ทั้งนี้อาจมาจากเงื่อนไขในการรับจำนำข้าว ที่อาจไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อยรวมถึงการกดราคารับซื้อจากโรงสี ดังนั้นการจำกัดโควตาการรับจำนำและการตรวจสอบการรับซื้อข้าวจากโรงสีที่เข้า ร่วมโครงการโดยหลายฝ่าย จะเป็นการช่วยชาวนารายย่อยอย่างแท้จริง” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย


"ปู" เต้น นักวิชาการรุมสวดจำนำข้าว รี่ง้างปาก"บุญทรง"หากลิ่นตุ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ยิ่งลักษณ์” ร้อนก้น พณ.กั๊กแจงผลโครงการจำนำข้าว สั่งทีมงานเค้นข้อมูล“บุญทรง” มึนก.พาณิชย์อ้างความลับหวั่นกระทบกลไกตลาด แถมไม่มีรายได้เข้าคลัง จนต้องกู้เพิ่มมาทำโครงการรอบใหม่ จับพิรุธอาจมี “สต๊อกลม” ตามที่ฝ่ายค้านโจมตี หลังเอกชนพร้อมซื้อแต่ไม่มีข้าวขาย

       
       รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า จากกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ชี้แจงผลประกอบการโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/55ระหว่างเดือน ต.ค.54 ถึง ก.พ.55 ที่มีผลผลิตข้าวเข้าโครงการรวม 17 ล้านตัน วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท และสิ้นสุดโครงการไปแล้ว ทำให้รัฐบาลสามารถนำออกจำหน่ายได้ตามสิทธิ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้อ้างว่า นำข้าวจำนวนดังกล่าวออกจำหน่ายให้กับต่างประเทศในลักษณะซื้อขายข้าวแบบรัฐ ต่อรัฐ หรือจีทูจี แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีรายละเอียดว่านำไปจีทูจีกับประเทศใด จำหน่ายข้าวออกไปเท่าไร หรือนำไปแลกกับสิ่งใดของประเทศใดมา รวมไปถึงไม่มีการสรุปผลกำไรขาดทุนของโครงการรายงานนายกรัฐมนตรีหรือคณะ รัฐมนตรีเลย
       
       รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความห่วงใยที่ข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายค้านและภาควิชาการที่ออกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์รายงานสรุปโดยเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการทวงถามอยู่เป็นระยะ แต่ทางกระทรวงพาณิชย์โดยนายบุญทรงมักอ้างว่า หากมีการเปิดเผยตัวเลขออกมา อาจทำให้เกิดปัญหากลไกการตลาดได้ ที่สำคัญหากมีการนำออกจำหน่ายจริง เหตุใดรัฐกลับไม่ได้รับเงินหรือผลตอบแทนเพื่อนำมาหมุนเวียนในโครงการเลย และกระทรวงพาณิชย์กลับเสนอให้คณะรัฐมนตรีกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาทำโครงการรอบ ใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนผู้ค้าขาย ที่ไม่มีผลผลิตข้าวไปจำหน่าย ทั้งที่มีผู้ซื้อจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา เนื่องจากผลผลิตข้าวทั้งประเทศได้เข้าสู่โครงการรับจำนำของรัฐบาล หากรัฐบาลไม่นำเข้าระบบก็ไม่สามารถซื้อขายได้ ภาคเอกชนที่มีความพร้อมที่จะรับซื้อจากรัฐบาลก็ขาดโอกาสไปด้วย
       
       “มีการมองว่าการที่รัฐบาลกักเก็บข้าวไว้ในโกดัง ไม่ได้นำออกมาหมุนเวียนสู่ตลาด ทั้งที่มีความต้องการจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็ตรงกับที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ผลผลิตที่ได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวอาจไม่เต็มจำนวนตามที่กระทรวงพาณิชย์ แจ้งไว้ หรือมีการเวียนเทียนข้าวมาจำนำเพื่อแลกกับราคาที่รัฐบาลตั้งไว้สูงกว่าราคา ขายในตลาด หรืออาจจะเลวร้ายถึงขั้นมีการตกแต่งจำนวนหรือสต๊อกลม เรื่องนี้ท่านนายกฯค่อนข้างวิตก จึงได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษานายกฯ และคนใกล้ชิด พยายามไปเอาข้อมูลจากนายบุญทรง และกระทรวงพาณิชย์มาให้ได้ โดยเฉพาะตัวเลขงบประมาณที่นำไปรับจำนำ และผลการไปจีทูจีว่าไปแลกกับสิ่งใดมา ตลอดจนผลกำไรขาดทุน เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นผลดำเนินการของโครงการ” แหล่งข่าวเปิดเผย


โพลเผยคนเชื่อรับจำนำข้าวมีทุจริต

จาก โพสต์ทูเดย์

สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

นิด้าโพลเผยประชาชนส่วนใหญ่เชื่อโครงการรับจำนำข้าวมีทุจริต เอื้อประโยชน์กับนายทุนและโรงสี
         

เมื่อ วันที่ 8 ต.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.55 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา และกลุ่มอาชีพ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 64.53 เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 22.90 ไม่เห็นด้วย เนื่องจากทำให้มาตรฐานของข้าวไทยตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงและไม่มีความโปร่งใส และร้อยละ 12.57 ไม่แน่ใจและไม่ทราบรายละเอียด
         
เมื่อถามว่าควรดำเนิน โครงการรับจำนำข้าวเปลือกต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 49.64 ยังเห็นว่าควรทำต่อไป เนื่องจากเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง และจะได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น ร้อยละ 27.06 เห็นว่าควรทำต่อแต่ปรับปรุงตามกลไกราคาตลาด แต่ประชาชน ร้อยละ 20.18 เห็นว่าควรยกเลิกโครงการ เนื่องจากเห็นว่า ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ ขาดความโปร่งใส ราคาเกินความจริงจะทำให้ขาดทุนและต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น และร้อยละ 3.12 ไม่แน่ใจ
         
สำหรับในเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือก พบว่า ประชาชน ร้อยละ 66.29 เห็นว่า มีการทุจริต โดยให้เหตุผลว่าทุกโครงการก็น่าจะมีการทุจริต ถ้ารัฐบาลไม่เข้มงวดกับการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนและโรงสี รองลงมา ร้อยละ 26.42 ไม่แน่ใจ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้และยังจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ และร้อยละ 7.29 เห็นว่าไม่มีการทุจริต เนื่องจากรัฐบาลควบคุมได้ และต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน
         
ทั้งนี้ ประชาชน ร้อยละ 59.97 ยังเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะมีการสวมสิทธิ์ขึ้นได้ เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ร้อยละ 32.11 ไม่แน่ใจว่าจะมีการสวมสิทธิ์ เพราะอาจมีการปลอมแปลงข้าวจากต่างประเทศถ้าหากรัฐบาลไม่เข้มงวด และร้อยละ 7.93 คิดว่าไม่มีการสวมสิทธิ์ เนื่องจากมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน
         
ส่วน ด้านผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวต่อประเทศไทย พบว่า ประชาชน ร้อยละ 35.87 เห็นว่าอนาคตการส่งออกข้าวไทยจะแย่ลง มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 34.35 เห็นว่า อนาคตในระยะยาวเกษตรกรจะมีฐานะดีขึ้น ร้อยละ 34.19 เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานให้ชาวนาไทย และร้อยละ 19.94 เห็นว่าคุณภาพข้าวไทยแย่ลง
         
อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 66.77 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก อยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย แต่ยังมีประชาชน ร้อยละ 16.57 ที่เชื่อมั่นในระดับมาก ร้อยละ 13.37 น้อยที่สุด และร้อยละ 3.28 มากที่สุด


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โพลเผยคนอีสาน ติดใจ จำนาคำข้าว ราสูงลิ่ว หนุนเดินหน้า เพิ่มราคาขึ้นอีก

view