สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กสทช. ดุเดือด ร่อนหนังสือถึงปลัดคลังให้พิจารณาการกระทำของ สุภา ปิยะจิตติ

กสทช. ดุเดือด ร่อนหนังสือถึงปลัดคลังให้พิจารณาการกระทำของ “สุภา ปิยะจิตติ

จากประชาชาติธุรกิจ

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่น.ส.สุภา  ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. มีใจความโดยสรุปว่า ได้มีความเห็นต่อกรณีการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 3G ของ กสทช. ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูลด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ หรืออาจมีลักษณะการสมยอมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 

 

สำนักงาน กสทช. โดยความเห็นชอบของประธาน กสทช. จึงได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง ปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้พิจารณาการกระทำของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ที่ทำหนังสือดังกล่าว รวมถึงเผยแพร่และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายแขนงทำให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ได้รับความเสียหาย จากการกระทำดังกล่าว เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และผิดพลาดในข้อกฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. ทำผิดกฎหมาย เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz  รวมถึงการที่ น.ส.สุภา อ้างว่าปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลังด้วยนั้นเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช. รวมถึงสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดกับประชาชนทั่วไป

 

จึงขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการกับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และให้ น.ส.สุภา รับผิดชอบต่อการกระทำที่เจตนาสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อบุคคลอื่นต่อไป


กสทช. ทำหนังสืออัดยับรองปลัดคลัง ยันประมูล 3G ไทย"เป็นสากล"ได้มาตรฐานโลก

นอกจากจะเมินคำเตือนจากรองปลัดคลังว่าการประมูลคลื่น 3G อาจเข้าข่ายพรบ.ฮั้ว กสทช.ยังทำหนังสืออัดกลับปลัดกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาดำเนินการกับรองปลัดฯ แถมขอให้ตัวรองปลัดฯรับผิดชอบ"การกระทำที่เจตนาสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ อื่น"เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ย้ำการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3G นี้สอดคล้องกับระบบสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว ยืนยัน กสทช. กำลังเล็งออกประกาศคุมค่าบริการดาต้า-เสียง 3G โดยจะตั้งหลักเกณฑ์อัตราขั้นสูงด้านดาต้าขึ้นใหม่เพื่อให้คนไทยใช้งานไม่แพง ส่วนด้านเสียงจะปรับแก้ไขให้ต่ำกว่าราคา 99 สตางค์ที่ใช้อยู่ในขณะนี้
         วันนี้ (19 ต.ค.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้พิจารณาการกระทำของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งส่งหนังสือถึงประธาน กสทช. และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วว่าการประมูล 3G ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนาการประมูล และอาจมีลักษณะสมยอมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วย งานรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
       
       ในจดหมายระบุว่า การที่รองปลัดกระทรวงการคลังมีหนังสือ-เผยแพร่-ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ล้วนทำให้ กสทช. ทุกส่วนได้รับความเสียหาย เนื่องจากทั้งหนังสือและข่าวล้วนผิดจากข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า กสทช. ทำผิดกฎหมาย
       
       "การกระทำของนางสาวสุภา และการอ้างอิงถึงคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ย่อมนำความเสื่อมเสียมาสู่คณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิหลายหน่วยงาน ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนางสาวสุภา รวมถึงการอ้างว่าปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลังด้วยนั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม และสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นกับสาธารณชนทั่วไป จึงขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการกับนางสาวสุภา และขอให้นางสาวสุภารับผิดชอบต่อการกระทำที่เจตนาสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นต่อไป" ตามเนื้อความในจดหมายจากเลขาธิการ กสทช.
       
       ในจดหมาย นายฐากรระบุว่า กสทช. เป็นองค์กรของรัฐ ที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยความในมาตรา 47 ซึ่งบัญญัติให้ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มีองค์กรของรัฐที่เป็น อิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
       
       ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และดำเนินการดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและ ระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ได้บัญญัติให้ ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด และเงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่น ดิน กสทช. จึงเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับของรัฐ และต้องดำเนินการการจัดสรรคลื่นความถี่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดย เฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ
       
       อีกทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับ ท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลคลื่นความถี่ กสทช.จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และพระราชบัญญัติองค์จัดสรรคลื่นความถี่ ฯ มาตรา 45 ดังกล่าว ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์จะหารายได้เข้ารัฐเพียงประการเดียว แต่ได้กำหนดหลักเกณฑ์โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากการใช้ คลื่นความถี่เป็นหลักควบคู่กับประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในจุดที่มีความสมดุล
       
       "ดังนั้นวิธีการประมูลในครั้งนี้จึงได้กำหนดขั้นตอนและ กระบวนการดำเนินการเป็นพิเศษโดยเฉพาะไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน โดยการดำเนินการนี้สอดคล้องกับระบบสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของต่าง ประเทศ"
       
       ***กสทช. เล็งออกประกาศคุมค่าบริการดาต้า-เสียง 3G***
       
       ในขณะที่ยังไม่มีความเห็นจากปลัดกระทรวงการคลังต่อหนังสือจาก เลขาธิการ กสทช. ฝ่าย กสทช. เดินหน้าเรียก 3 ผู้ประกอบการ "เอไอเอส-ดีแทค-ทรู" รับหนังสือแจ้งผลการประมูลพร้อมแจ้งยอดชำระเงินประมูลแล้ว คาดออกใบอนุญาตได้ภายใน 7 วันหลังเข้าบอร์ด กทค. โดยฐากรยืนยันเตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์อัตราขั้นสูงด้านดาต้า ส่วนด้านเสียงจะปรับแก้ไขประกาศที่มีอยู่เดิม
       
       รายงานข่าวแจ้งว่าวันนี้ (19ต.ค.) ภายหลังจากเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ได้มีการลงมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับ กิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz 4 ต่อ 1 เสียง จากนั้นสำนักงาน กสทช.จึงได้มีการส่งหนังสือแจ้งผลการประมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเข้ามารับหนังสือในวันนี้
       
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ได้มารับหนังสือแจ้งผลการประมูล พร้อมทั้งแจ้งยอดชำระค่าประมูลที่แต่ละรายต้องมาจ่ายให้กับ กสทช. ภายใน 90 วันหลังจากได้รับหนังสือแล้ว
       
       โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 รายจะต้องนำเงินจำนวน 50% ของเงินประมูลรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,269,375 ล้านบาทที่ต้องนำมาจ่ายให้กับสำนักงาน กสทช. ก่อนจะส่งต่อไปยังกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
       
       “ทั้งนี้ ภายหลังจากผู้ประกอบการมาจ่ายเงินงวดแรกแล้ว สำนักงาน กสทช. จะนำเรื่องเข้าบอร์ด กทค. และหลังจากนั้นภายใน 7 วัน กสทช.จะสามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้”
       
       นอกจากนี้ นายฐากรให้ข้อมูลว่าล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ได้มีการหารือที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงในการ ให้บริการส่วนของดาต้า เพื่อเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบการตั้งราคาค่าบริการไม่แพงจนเกินไปในอนาคต โดยเตรียมแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการด้านเสียงขั้นสูงที่เดิม กสทช. กำหนดไว้จำนวน 99 สตางค์ให้ถูกลงมากกว่าปัจจุบัน
       
       “เรามั่นใจว่าค่าบริการด้านดาต้าและเสียง จะต้องมีค่าบริการที่ถูกกว่าในปัจจุบันแน่นอน โดยในตอนนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของกสทช.ที่จะเดินหน้าต่อไปหลังจากประมูลเสร็จ เรียบร้อยแล้ว”
       
       ทั้งนี้ กสทช.จะใช้เกณฑ์ 2 ข้อในการคิดคำนวนอัตราค่าบริการที่จะออกเป็นประกาศ คือ 1.วงเงินการประมูลของทั้ง 3 รายและ 2.วงเงินที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายจะต้องนำไปลงทุน
       
       ล่าสุด เอไอเอสเป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่นำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย กสทช. เป็นเงิน 7,824,375,000 บาท (ราว 7.825 พันล้านบาท) มาชำระ คาดว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นจะนำเงินประมูลมาชำระในเวลาต่อไป


ก.คลัง ร่อนหนังสือด่วน จี้ กสทช.ทบทวนประมูล 3จีฮั้ว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“กวพ.อ.” ส่งหนังสือด่วนที่สุด ระบุ “กสทช.” ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง ขัดระเบียบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 4 วอนทบทวน เหตุรัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกสทช.อาจเข้าข่ายทำผิด กม.
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ต.ค. เมื่อเวลา 23:35 น. สำนักข่าวอิศรา แพร่ข่าวว่า คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ต.ค.2555 ถึงประธาน กสทช. อ้างถึงการประมูลไลเซ่นส์ 3 จีดังกล่าว ที่มีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ช่วง (สลอต) ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าประมูล 1 ราย ต้องยื่นข้อเสนอ 3 สลอต ผลปรากฏว่า ได้ผู้ชนะการประมูลซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายใหญ่ๆ ในประเทศ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทคเนคเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยทั้ง 3 ราย ประมูลได้คลื่นความถี่ 3 สลอตเท่ากัน
       
       คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 4 กำหนดให้การจัดหาพัสดุของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในสังกัดการบังคับบัญชาหรือการกำกับของฝ่าย บริหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวที่กิจการ โครงการ หรือการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามระเบียบนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก กวพ.อ.ให้จัดหาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ต้องกำหนดเป็นการเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม
       
       “กรณีสำนักงาน กสทช. ปรากฏว่า การดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 มีผู้ประมูล 3 ราย โดยมีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นน้อยครั้งเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการ ประมูล และคลื่นความถี่ที่ประมูลมีจำนวนพอดีกับผู้เสนอราคาที่สามารถจัดสรรได้รายละ 3 สลอต กรณีจึงถือได้ว่าการประมูลดังกล่าวไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตาม เจตนารมณ์ของการประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
       
       “ประกอบกับผู้ชนะการประมูลจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการอย่างต่อ เนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น หากการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่กรณีนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือมีอาจมีลักษณะการสมยอมราคาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกรรมการ กสทช.อาจอยู่ในข่ายต้องรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว จึงเรียบมาเพื่อโปรดพิจารณา” หนังสือดังกล่าวระบุ
       
       ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ลงนามโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 18 ต.ค. 2555
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรายังได้เปิดเบื้องหลังความชุลมุนในการรับรองการประมูลไลเซนส์ 3จี ว่า นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.ได้กล่าวทักท้วงว่า การประมูลไลเซนส์ 3 จี มีเรื่องผิดปกติเพราะงานวิจัยที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นร่างแรกได้คำนวณมูลค่าคลื่นความถี่ 3 จีไว้ที่ 6,676 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ แต่เหตุใดเมื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อ กสทช.จึงเหลือเพียง 6,440 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ นอกจากนี้ การคำนวณราคาขั้นต่ำของทั่วโลกจะต้องดูจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลด้วย ซึ่งตัวเลขขั้นต่ำที่ 67% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่จริงแล้วจะต้องมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 6 ราย ส่วนการประมูลไลเซนส์ 3 จีของ กสทช.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย ถ้าคำนวณจากมาตรฐานของประเทศอื่นๆ จะต้องใช้ตัวเลขขั้นต่ำที่ 82% ของมูลค่าคลื่นความถี่
       
       “ผมอยากดูพฤติกรรมการเคาะราคาของแต่ละบริษัท เพราะสงสัยว่าเหตุใด 6 ใน 9 สลอต ถึงประมูลได้ในราคาตั้งต้น หากได้้เห็นก็เชื่อว่าจะได้รู้ยุทธศาสตร์ของผู้เข้าร่วมประมูล” นพ.ประวิทย์กล่าว
       
       การทักท้วงของ นพ.ประวิทย์เรื่องการกำหนดราคาขั้นต่ำและวิธีการออกแบบการประมูลทำให้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค. กล่าวขึ้่นมาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ที่ผ่านมามีกรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.บางคนไปให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทำให้องค์กรเสียหาย มีการลือกันว่ากรรมการ กสทช.ถึง 9 คนถูกซื้อตัว ตนเสียใจจริงๆ ที่ กสทช.ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งๆ ที่หากตั้งราคาขั้นต้นไลเซนส์ 3จีไว้สูงกว่า 4,500 ล้านบาท ก็อาจจะไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จนเกิดความเสียหายมากกว่านี้
       
       หลังการทักท้วงไปมาระหว่าง นพ.ประวิทย์และนายสุทธิพล ทำให้ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.กล่าวผ่านไมโครโฟนด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า ที่เดินทางมาร่วมประชุม กทค.ในวันนี้เพราะต้องการมาลงมติว่ารับรองหรือไม่รับรองการประมูลไลเซ่นส์ 3จีในวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะมาฟังการอภิปรายเพื่มเติมในเรื่องเดิมๆ อีก
       
       การประชุม กทค.ยืดเยื้อไปกว่า 3 ชั่วโมง 30 นาที พ.อ.เศรษฐพงศ์จึงกล่าวขึ้นว่า “ในตอนนี้มี กทค.2 ท่านที่เดินออกจากห้องประชุมไปแล้ว ผมก็อยากจะเดินออกไปด้วย ถ้าไม่ติดว่าต้องเป็นประธานในที่ประชุม” ก่อนตัดบทให้ที่ประชุม กทค.ลงมติว่าจะรับรองผลการประมูลไลเซนส์ 3จีหรือไม่ทันที
       
       นพ.ประวิทย์จึงแย้งขึ้นมาว่า อยากจะขอดูบันทึกการเคาะราคาเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะสงวนการลงมติ การประชุม กทค.จึงหยุดไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ นพ.ประวิทย์ได้ดูเอกสารดังกล่าว และได้ลงมติไม่เห็นชอบ โดยให้เหตุผลว่าหลังจากดูพฤติกรรมการเคาะราคาของผู้เข้าร่วมการประมูล เห็นว่ามียุทธการการดึงราคาไว้อย่างชัดเจนจึงขอลงมติไม่เห็นชอบ
       
       ต่อมา รศ.ประเสริฐกล่าวว่า “ที่บอกว่าวอล์กเอาต์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ผมแค่ไปนั่งพักนอกห้องประชุม เพราะเห็นว่าที่พูดกันเรื่องหลักเกณฑ์การประมูล ตอนนี้มันจบแล้ว มันเลยมาแล้ว กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ควรจะเดินหน้าไปสู่การลงมติเสียที เพราะผมเองก็มีวุฒิภาวะเพียงพอจะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการ ประมูลไลเซนส์ 3จีดังกล่าว”


“อารีพงศ์ ”เร่งสยบประเด็นร้อน “สุภา” ทิ้งบอมบ์ 3G ถล่ม 3 กลุ่มทุนใหญ่หวิดหัวทิ่ม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สุภา” ทิ้งบอมบ์ 3G ส่อฮั้วทุจริตทำเอาสะเทือนกันทั้งวงการ “อารีพงศ์” เร่งสยบประเด็นร้อนไม่ให้ลุกลาม ยันเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว ไม่มีผลทาง กม. เพราะหน่วยงาน กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระ

       
       นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.) ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยท้วงติงว่า ขั้นตอนการประมูลประมูลคลื่นความถี่ 3จี อาจเกิดการฮั้วประมูลนั้น เรื่องดังกล่าวถือเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงไม่มีผลตามกฎหมายได้
       
       นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระ มีกฎระเบียบควบคุมอยู่แล้ว โดยในข้อสังเกตที่ กวพ. ระบุว่า การประมูลดังกล่าว ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามขั้นตอนการประมูลว่าด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ เพราะส่อเค้าให้เห็นถึงการสมยอมราคากันอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า ทาง กวพ. จะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบต่อไปในอนาคต
       
       โดยเมื่อเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 น.ส.สุภา ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลใบอนุญาต 3จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 9 สล็อตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นที่สล็อตละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งมีภาคเอกชนผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายเดิม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) โดยทั้ง 3 บริษัทได้จัดตั้งบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูล
       
       ผลปรากฏว่า บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งก็คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เป็นผู้เสนอราคาเพียงเจ้าเดียวในการประมูล รวมเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ขณะที่บริษัทในเครือดีแทค ซึ่งก็คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือของทรู ไม่มีการเสนอราคาเพิ่มจากราคาเริ่มต้นที่ กสทช.กำหนดไว้ คือ สล็อตละ 4,500 ล้านบาทแต่อย่างใด แต่ทั้งสองบริษัทกลับได้สิทธิ และได้รับใบอนุญาตในอีก 6 สล็อตที่เหลือ
       
       จากผลการประมูลดังกล่าวที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประมูลที่เกิดขึ้น เป็นไปตามข้อร้องเรียน และข้อคัดค้านของหลายฝ่ายที่พยายามจะคัดค้านให้ กสทช.ปรับหลักเกณฑ์ก่อนการประมูล แต่ กสทช.ไม่ได้ปรับแก้ ยังคงเดินหน้าประมูลโดยไม่สนใจข้อร้องเรียนของทุกฝ่าย
       
       ดังนั้น ตนซึ่งมีหน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมถึงประสบการณ์ด้านการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวของ กสทช. และผู้เข้าร่วมประมูล 3จี ดังกล่าวว่ามีพฤติกรรม หรือการกระทำที่ส่อไปในทางร่วมมือกันทุจริตต่อผลประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐ คือ คลื่นความถี่ ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างใดหรือไม่ ในประเด็นดังต่อไปนี้
       
       1.กสทช.มีการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3จี ในแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
       
       2.รูปแบบ และวิธีการประมูลแบ่งเป็น 9 สล็อต ที่ กสทช.กำหนดขึ้น ถือเป็นการประมูลแบบใหม่ โดยไม่มีการอ้างอิงมาตรฐานการประมูลจากที่ใด หรือกฎ ระเบียบ ข้อบังคับใดๆ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 2 รายไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ถือเป็นความผิดมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า
       
       เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้ใด โดยทุจริตทำการออกแบบกำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคา อย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของ รัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่าง เป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือไม่
       
       3.การที่บริษัทที่เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ไม่เคาะเสนอราคาเพิ่มเติมจากราคาเริ่มต้นที่ กสทช.กำหนดไว้ คือ สล็อตละ 4,500 ล้านบาท คือ เป็นการร่วมกันกระทำความผิด ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า
       
       “ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา กับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้า หรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันไม่ใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กสทช. ร่อนหนังสือ ปลัดคลัง พิจารณาการกระทำ สุภา ปิยะจิตติ

view