สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำนูณ ยก สุภา ค้านประมูล 3จี แบบอย่าง ขรก.รักษาผลประโยชน์ชาติ จี้ กสทช.ยกเลิก

คำนูณ” ยก “สุภา” ค้านประมูล 3จี แบบอย่าง ขรก.รักษาผลประโยชน์ชาติ จี้ กสทช.ยกเลิก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“คำนูณ” ยกย่อง “สุภา” รองปลัดคลังรักษาผลประโยชน์ชาติ ค้านประมูล 3จี ระบุเป็นแบบอย่างข้าราชการไทยที่นับวันหาได้ยาก ด้าน “ไพบูลย์” เรียกร้อง กสทช.ประชุมยกเลิกประมูล เหตุทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วชัดเจน
       
       ที่รัฐสภา วันนี้ (22 ต.ค.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ขอหารือถึงการประมูล 3จีของ กสทช.ว่า การประมูล 3จีที่ผ่านเมื่อดูค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับถือว่าเป็นคลื่น 3จีที่ถูกที่สุดในโลก เพราะเมื่อเทียบกับคลื่น 2จีในปัจจุบันเฉพาะเอกชนรายเดียวก็จ่ายเงินให้รัฐถึง 4 หมื่นล้านบาท หากคิดในฐานส่วนแบ่งรายได้ปัจจุบันมาเทียบ 15 ปีของการประมูล 3จี รัฐควรจะได้เงินขั้นสูง 7 แสนล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความชื่นชมนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงคลัง และประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ทำหนังสือคัดค้านการประมูลดังกล่าวว่าอาจส่อว่าจะขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ต้องถือว่าท่านเป็นข้าราชการที่นับวันจะหาได้ยาก เป็นคนที่ตรงไปตรงมาได้ชื่อว่าเป็นมือปราบไม้บรรทัด แต่ตลอดอายุราชการของท่านไม่เคยได้เป็นอธิบดี และกว่าจะได้เป็นรองปลัดกระทรวงถือว่าหวุดหวิดเฉียดฉิว ดังนั้นจึงขอชื่นชมและขอให้ข้าราชการประเทศไทยโดยเฉพาะกระทรวงการคลังถือ เป็นแบบอย่าง เพราะมีอีกหลายเรื่องที่รัฐหรือกระทรวงการคลังได้ค่าตอบแทนจากทรัพยากรของ ชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือควรจะได้เรียกคืนทรัพย์ของชาติกลับคืนมา
       
       ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมใน สังคม วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบการฮั้วประมูล 3 จี ในเบื้องต้นพบว่าอาจจะมีการกระทำผิดจริงและทำให้รัฐขาดรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพราะรัฐควรได้รับ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีการกระทำบางประการทำให้ได้เพียง 4.2 หมื่นล้านบาท
       
       ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ จึงขอเรียกร้องไปยังประธาน กสทช.ให้เร่งเรียกประชุม กสทช.โดยเร็ว เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และมาตรา 35 (5) และตาม พ.ร.บ.กสทช.มาตรา 45 และตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว กสทช.เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการเห็นชอบผลประมูล 3จี และออกหนังสือรับรองคลื่นความถี่ แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กลับเร่งรีบเห็นชอบผลการประมูลและออกหนังสือใบอนุญาต ดังนั้นหาก กสทช.ยังเพิกเฉยไม่มีการประชุมเพื่อยกเลิกผลการประมูลดังกล่าว ประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. อีก 6 ท่านก็อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 เพราะเมื่อรู้ว่าการประมูลมีการกระทำผิดแล้วและละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อยก เลิกการประมูลถือว่ามีความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่


ทีดีอาร์ไอชำแหละประมูล3Gพิสดารเอื้อเอกชน

ทีดีอาร์ไอชำแหละประมูล 3 G สุดพิสดาร กสทช.ทิ้งความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ขณะที่ผู้ประกอบการได้"ลาภลอย"
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความ "เศรษฐศาสตร์ชันสูตรว่าด้วยการประมูล 3G พิสดาร" โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับการประมูล 3 จี โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปุจฉา: การประมูล 3G ในต่างประเทศกับในประเทศไทยต่างกันอย่างไร?

วิสัชนา: ในต่างประเทศ รัฐออกแบบการประมูลให้เอกชนแข่งขันกัน เพราะรู้ว่าเอกชนจะพยายามประมูลต่ำ

ในประเทศไทย รัฐออกแบบการประมูลไม่ให้เอกชนแข่งขันกัน แต่เอกชนกลับพยายามประมูลสูง!!

การประมูล 3G ของ กสทช. จบลงไปแล้ว พร้อมกับทิ้งความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ “ลาภลอย” เป็นกำไรแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท เพราะราคาคลื่นที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินมากมาย

ทันที่ที่จบการประมูล ร่องรอยความผิดปรกติก็เริ่มปรากฏมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวเสียงข้างน้อยใน กสทช. ตลอดจน ผู้บริหารกระทรวงการคลังต่างออกมาท้วงติงว่าการประมูลนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ “กฎหมายฮั้ว” แม้กระทั่งที่ปรึกษาประธาน กทค. เองก็ยังทำหนังสือเสนอล้มประมูล เพื่อไม่ให้ กสทช. ต้องเสี่ยงคุกตะราง

อย่างไรก็ตาม กสทช. กลับเร่งเดินหน้าออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสามรายอย่างรีบร้อน และแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้ที่ท้วงติงทั้งหลาย ในขณะที่ สื่อมวลชนบางส่วนก็ประสานเสียงไปทางเดียวกับ กสทช. โดยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ประชาชนไปสนใจเรื่องอื่น เช่น อัตราค่าบริการ 3G ในอนาคต โดยไม่พยายามสืบเสาะหาความผิดปรกติในการประมูลที่เกิดขึ้นเลย

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอใช้วิชา "เศรษฐศาสตร์ชันสูตร" (forensic economics) มาชวนท่านผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ว่า มีความผิดปรกติในการเคาะราคาในการประมูลอย่างไร และความผิดปรกติดังกล่าวน่าจะเกิดจากอะไร
คำถามที่ต้องการคำตอบ

ดังที่ทราบกัน ในการประมูลครั้งนี้ AIS เสนอราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ส่วน DTAC และ TRUE เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูล ผลก็คือทำให้รัฐได้รายได้รวมทั้งสิ้นเพียง 41,625 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.8% เท่านั้น และทำให้มูลค่าการประมูล 3G ในประเทศไทยต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
คำถามที่เกิดขึ้นกับการประมูลมี 2 คำถาม คำถามแรกคือ ทำไมการประมูลจึงล้มเหลวจนสร้างความเสียหายต่อประชาชนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท? คำถามนี้ตอบง่ายมากว่า การประมูลล้มเหลวเพราะ กสทช. ออกแบบให้การประมูลแทบไม่เหลือการแข่งขันเลย จึงทำให้ผู้เข้าประมูลทุกรายมั่นใจได้ว่า จะได้คลื่น 3G ไปตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องแข่งขันกันเสนอราคามาก

คำถามที่สองซึ่งที่น่าสนใจกว่า ก็คือ ทำไมการประมูลยังมีการแข่งขันเหลืออยู่ ทั้งๆ ที่กฎการประมูลถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดการแข่งขัน? โดยมีคำถามที่เกี่ยวเนื่องกันคือ AIS ทำไมจึงประมูลสูงกว่ารายอื่นมาก?
คำตอบที่เป็นไปได้

เหตุที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่น ก็น่าจะเพราะอยากได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยเลือกที่จะอยู่ติดกับย่านของ TOT ซึ่งทำให้ทั้งสองรายสามารถนำเอาคลื่นของตนมารวมกันเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ในขณะที่ DTAC และ TRUE ไม่ได้สนใจที่จะเลือกย่านความถี่ไหนเป็นพิเศษ ทั้งสองรายจึงประมูลต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้คือ ที่ราคาตั้งต้น การที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ราคาที่ AIS ประมูลนั้นสูงกว่ารายอื่นมากเกินความจำเป็น

หลักเบื้องต้นในการประมูลก็คือ ในกรณีที่มีของชิ้นเดียว ผู้เสนอราคาสูงสุด จะได้รับของในการประมูลนั้นไป ส่วนในกรณีที่มีของหลายชิ้น เช่นในการประมูล 3G ครั้งนี้ ผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิในการเลือกของก่อน ในทั้งสองกรณี ราคาที่เสนอสูงสุดไม่จำเป็นต้องสูงมาก แค่ให้มากกว่าผู้ได้อันดับสองเล็กน้อย เช่น เฉือนกันสลึงเดียว บาทเดียว หรือในกรณีนี้เฉือนกันเพียง 225 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในการเคาะราคาเพิ่มแต่ละครั้ง ก็เพียงพอแล้ว

เราจึงควรถามว่า เหตุใด AIS จึงเสนอราคาประมูลมากกว่า DTAC และ TRUE ถึง 1,125 ล้านบาท ทั้งที่เสนอสูงกว่าเพียง 225 ล้านบาท ก็ทำให้ได้เป็นผู้ชนะประมูลตามที่ต้องการแล้ว ทำไม AIS ต้องจ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็นถึง 900 ล้านบาท?

เมื่อวิเคราะห์ดูการเคาะราคาในการประมูล เราจะพบว่า ราคาการประมูลของ AIS ที่สูงขึ้นเกิดใน 2 กรณีคือ หนึ่ง เมื่อมีผู้ประกอบการรายอื่น เลือกสล็อตความถี่เดียวกันกับที่ AIS เลือก ก็พบว่ามีการแข่งราคากัน ทั้งที่แต่ละฝ่ายสามารถหลบไปหาสล็อตอื่นที่ว่างอยู่ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับทั้งคู่ เพราะไม่ต้องเพิ่มราคาในการประมูลเลย (เปรียบเสมือนการย้ายไปหาเก้าอี้ที่ว่างอยู่ในการเล่นเก้าอี้ดนตรี แทนที่จะต้องสู้เพื่อแย่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน) และ สอง AIS เสนอราคาสูงขึ้นเองในบางสล็อต ทั้งที่ไม่มีคู่แข่งเลย โดยการเสนอราคาสูงขึ้นเพื่อแข่งกับตนเองดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการประมูล ซึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่า ทำไปเพื่อให้มั่นใจว่าชนะรายอื่น เพราะหากจำเป็นต้องเสนอราคาสูงขึ้นพื่อให้ตนเป็นผู้ประมูลสูงสุด ก็ยังสามารถทำในรอบท้ายๆ ได้

การกระทำของผู้ประกอบการทั้งสามราย โดยเฉพาะ AISจึงเป็นเรื่องที่แปลกพิสดารมาก เพราะทำให้ต้องเสียเงินประมูลมากเกินความจำเป็น ซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของบริษัทเอง

เราอาจอธิบายพฤติกรรมที่แปลกพิสดารนี้ได้หลายทาง หนึ่ง ผู้บริหาร AIS ที่เข้าร่วมประมูลมีสติปัญญาที่จำกัดมาก จนทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย ซึ่งสมควรถูกกรรมการบริษัทลงโทษ ปลดออกจากตำแหน่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หรือควรถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย

สอง การยื่นราคาสูงเกินจำเป็นอาจเกิดขึ้นจากความพยายาม “จัดฉาก” ของบางฝ่าย เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า การประมูลมีการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริง การประมูลนี้ไม่สามารถมีการแข่งขันจริงได้เลย เพราะถูกออกแบบไม่ให้มีการแข่งขันมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ DTAC และ TRUE ต่างต้องการได้คลื่นความถี่ในราคาต่ำที่สุด โดยไม่สนใจที่จะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อนเลย การแข่งขันใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็น “การแข่งขันเทียม” เพื่อสร้างภาพเท่านั้น

ข้อสันนิษฐานใดจะเป็นจริง หรือจะมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีก ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน แต่ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะหาข้อสรุปที่แท้จริงได้ไม่ยากนัก หากมีการตรวจสอบอย่างจริงจังโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ปปช.
ก่อนการประมูล ผู้เขียนเคยคิดว่า พิสดารมากแล้วที่ กสทช. ใจกล้าออกแบบการประมูลให้แทบไม่มีการแข่งขัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเลย แต่หลังการประมูล ผู้เขียนกลับพบว่า ที่พิสดารยิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้ประกอบการเอกชนพยายามหาช่องทางในการแข่งขันกันจนได้ ทั้งที่กติกาไม่เอื้อต่อการแข่งขันเลย!


สว.หนุนรองปลัดคลังค้านผลประมูล3จี

จาก โพสต์ทูเดย์

สว.หนุน รองปลัดกระทรวงการคลัง ค้านผลประมูล 3 จี ส่อขัด พ.ร.บ.ฮั้ว ชี้ค่าตอบแทบให้รัฐน้อยเกินไป

สุภา

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงปัญหาการประมูล  3 จีว่า การประมูล 3 จีที่ผ่านเมื่อดูค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับถือว่าเป็นคลื่น 3 จีที่ถูกที่สุดในโลก เพราะเมื่อเทียบกับคลื่น 2 จีในปัจจุบันเฉพาะเอกชนรายเดียวก็จ่ายเงินให้รัฐถึง 4 หมื่นล้านบาท หากคิดในฐานส่วนแบ่งรายได้ปัจจุบันมาเทียบ 15 ปีของการประมูล 3 จีรัฐควรจะได้เงินขั้นสูง 7  แสนล้านบาทหรือไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนล้านบาท

นายคำนูณ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมคุณสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงคลัง และประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็คทรอนิคส์ที่ได้ทำหนังสือ คัดค้านการประมูลดังกล่าวว่าอาจส่อว่าจะขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยว กับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ต้องถือว่าท่านเป็นข้าราชการที่นับวันจะหาได้ยาก และขอให้ข้าราชการประเทศไทยโดยเฉพาะกระทรวงการคลังถือเป็นแบบอย่างเพราะมี อีกหลายเรื่องที่รัฐหรือกระทรวงการคลังได้ค่าตอบแทนจากทรัพยากรของชาติน้อย กว่าที่ควรจะเป็นหรือควรจะได้เรียกคืนทรัพย์ของชาติกลับคืนมา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมใน สังคม วุฒิสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบการฮั้วประมูล 3 จี ในเบื้องต้นพบว่าอาจจะมีการกระทำผิดจริงและทำให้รัฐขาดรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาทเพราะรัฐควรได้รับ 5.8 หมื่นล้านบาทแต่ปรากฏว่ามีการกระทำบางประการทำให้ได้เพียง 4.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะจึงขอเรียกร้องไปยังประธานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เร่งเรียกประชุมกสทช.โดยเร็วเพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47  และมาตรา 35(5) และตามพ.ร.บ.กสทช.มาตรา 45 และตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว กสทช.เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการเห็นชอบผลประมูล 3 จี และออกหนังสือรับรองคลื่นความถี่

“ขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม.กลับเร่งรีบเห็นชอบผลการประมูลและออก หนังสือใบอนุญาต ดังนั้นหาก กสทช.ยังเพิกเฉยไม่มีการประชุมเพื่อยกเลิกผลการประมูลดังกล่าว ประธานกสทช. และกรรมการกสทช.อีก 6 ท่านก็อาจจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ฮั้วมาตรา 10 เพราะเมื่อรู้ว่าการประมูลมีการกระทำผิดแล้วและละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อยก เลิกการประมูลถือว่ามีความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่” นายไพบูลย์ กล่าว


“อาจารย์ มข.-ศิษย์หลวงตาบัวฯ” หนุน “รองปลัดคลัง” แฉ กสทช.มุบมิบ 6 คลื่นวิทยุ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

อาจารย์ ม.ขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก กสทช.พร้อมด้วยตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ยื่นหนังสือ-มอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจรองปลัดคลังยื่นหนังสือท้วงติง กสทช.จัดประมูล 3จี ส่อผิดกฎหมาย ร้อง “อารีพงศ์” อย่ารับเงินประมูล แฉ กสทช.มุบมิบปล่อยผี 6 คลื่นวิทยุออกอากาศ ทั้งที่เจ้าของเดิมคืนคลื่น แถมไม่เปิดตัวเลขค่าตอบแทนกรรมการ

       
       วันนี้ (22 ต.ค.) ที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก กสทช.ยื่นหนังสือถึง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และยื่นหนังสือขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินงาน ต่อกรณีการประมูล 3จี ที่ส่อว่าจะผิดกฎหมาย ต่อ นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง หลังจาก นางสาวสุภา ยื่นหนังสือท้วงติงไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ซึ่งจัดประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ที่มีการออกแบบการประมูลทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างแท้จริง
       
       แต่ กสทช.กลับไม่พิจารณาหาทางแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ ปี 2553 มาตรา 45 และกลับเป็นปากเสียงแทนนายทุนอีก ว่า ต้องการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งมูลค่าความเสียหายนับเป็นจำนวนมหาศาลถึง 678,000 ล้านบาท เทียบกับระบบสัมปทานเดิมที่เอกชนเคยจ่ายให้รัฐ คือ ทีโอที และ กสท ซึ่งสามารถใช้ในการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่า ถ้าประชาชนต้องการ 3จี มาก รัฐอาจจะจัดให้บริการฟรีได้ด้วยเงินจำนวนนี้ด้วยซ้ำไป จึงขอส่งตัวแทนมาให้กำลังใจ และสนับสนุนแนวทางที่ไม่รับรองผลการประมูล และไม่รับเงินจากการประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       ขณะเดียวกัน ศ.ดร.รัตนา ศิริพานิช ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ยื่นหนังสือถึง นายอารีพงศ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ อย่าใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศแก้ไขปัญหางบประมาณแผ่นดินอันเนื่องมาจาก ความเสียหายต่อรัฐที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี จากการที่ กสทช.ได้จัดการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้เกิดความเสียหายต่อรายรับของรัฐอย่างมหาศาล ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เห็นว่า ความเสียหายดังกล่าวสามารถใช้ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯจำนวน 1.13 ล้านล้านบาท ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนยอดหนี้คงค้าง นอกจากนี้ หากงบประมาณรายรับของรัฐบาลลดลงไปมากเช่นนี้ อาจทำให้มีแนวความคิดที่จะมาใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ
       
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก นายอารีพงศ์ และ นางสาวสุภา ติดประชุม จึงมี นายนรวัฒน์ โชติกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กระทรวงการคลัง รับหนังสือและช่อดอกไม้แทน
       
       ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลในการยื่นหนังสือให้กำลังใจต่อรองปลัดกระทรวงการคลัง เพราะประเด็นสำคัญคือ พฤติกรรมของ กสทช.ที่จัดการประมูล สะท้อนถึงจริยธรรมและคุณธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการประมูล แต่เป็นการแบ่งเค้กให้ผู้ประกอบการ ซึ่งองค์กรอิสระไม่ใช่รัฐอิสระ แต่เป็นองค์กรที่กฎหมายสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความอิสระในการดำเนินงาน และป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง ส่วนประเด็นมูลค่าของ 3 จี เมื่อมองย้อนไปถึงสัมปทานของ 2 จีที่ภาครัฐได้รับเงินจากทั้ง 3 บริษัทเมื่อเทียบมูลค่าปีหนึ่งประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท
       
       แต่จากการประมูล 3จี โดยเฉลี่ย 15 ปี เพียงตกปีละ 3 พันล้านบาท ซึ่งจะแตกต่างประมาณ 15 เท่า ซึ่งรัฐจะสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นจึงควรให้กำลังใจคนกล้าอย่างข้าราชการประจำ ส่วนประเด็นที่ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทค.และเลขาฯ กสทช.กล่าวว่า บอร์ดเล็กเฉพาะ กทค.มีอำนาจที่จะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 จีได้ อาศัยมาตรา 27 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2553 โดยไม่ต้องผ่าน กสทช.แต่มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเขียนชัดเจนใน (4) ซึ่งพบว่าให้อำนาจเฉพาะ กสทช.ไม่มี กทค.ในมาตรานี้ เพราะฉะนั้นบอร์ดเล็กไม่มีสิทธิ์ให้อำนาจ ต้องนำสิ่งที่ประมูลเข้าสู่บอร์ดใหญ่พิจารณาเสียก่อนถึงจะมีอำนาจ
       
       ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นจากการประกาศของ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ปี 2555 ซึ่งได้ประกาศในภาคผนวก ฉ.ซึ่งเดิมจะมีสถานีวิทยุ 314 สถานีที่ได้รับสัมปทานก่อนหน้านี้ แล้วโดยบทเฉพาะกาลให้สิทธิ์คนที่เคยได้รับสัมปทาน แต่พบว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้รับอนุญาต พบว่า มีสถานีวิทยุสังกัดสำนักงาน กสทช.อยู่ 6 สถานี ได้แก่ เอฟเอ็ม 98.5 และ 106.5 กรุงเทพมหานคร, เอฟเอ็ม 89.0 จ.ภูเก็ต, เอฟเอ็ม 90.0 จ.ลำปาง, เอฟเอ็ม 99.0 จ.อุดรธานี และ เอฟเอ็ม 102.0 จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับคืนจากเจ้าของเดิม ซึ่งเห็นว่าไม่สบายใจ และอยากจะให้ชี้แจง เพราะจากการคืนคลื่นจะมีมาตรา 82 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดและเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ ซึ่ง กสทช.ต้องประกาศว่ามีจำนวนคลื่นความถี่กี่คลื่นอยู่ในมือ และใครที่ต้องการจะเข้ามาตรงนี้ให้แสดงเหตุผลในการถือครองคลื่นเหล่านี้ แต่การที่ระบุว่าคลื่นเหล่านี้ได้รับอนุญาตโดยระบุว่าเป็นของสำนักงาน กสทช.จึงอยากถามว่าใครเป็นผู้ประกอบกิจการขณะนี้ มันจะขัดกันหรือไม่ เพราะ กสทช.ไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการใดๆ ทั้ง 3 กิจการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนเกิดความสงสัย
       
       ด้าน นางสาวจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า การที่ กสทช.ไปให้ใบอนุญาตกับสำนักงานตัวเอง เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และมีผลทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ และกรรมการ กสทช.เป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากตัวเองมีส่วนได้เสียกับกิจการที่มีการประกอบกิจการอยู่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจยื่นศาลปกครอง แต่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ อาจจะทำหนังสือไปทาง กสทช.เพื่อขอคำตอบภายใน 7 วัน เพราะดูจากลักษณะที่ออกมาผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประกาศใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งก็ต้องรีบทำการยกเลิกโดยเร็ว และทำการแก้ไขเพื่อรองรับกับสถานีวิทยุที่กำลังจะหมดสิทธิทดลงออกอากาศในวัน ที่ 5 พ.ย.นี้
       
       นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่โปร่งใสของ กสทช.ที่พบว่า มาตรา 58 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ บัญญัติให้สำนักงาน กสทช.เปิดเผยข้อมูลหลายเรื่อง แต่ผลงานการวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ อย่างการศึกษาเรื่อง 3จี สาธารณชนกลับเข้าไม่ถึงข้อมูล และที่น่าสงสัยคือ อัตราค่าตอบแทนกรรมการ กสท. กทค.อนุกรรมการและที่ปรึกษาต่างๆ พบว่า ในเว็บไซต์ กสทช.ปรากฏเป็นรายชื่อเพียงอย่างเดียว ไม่ระบุตัวเลขค่าตอบแทน ซึ่งเป็นความไม่โปร่งใสอย่างชัดเจน และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อย่าลืมว่า การเป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากอำนาจทางการเมืองก็ถือว่าเป็นองค์กรของรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ โดยใช้อำนาจของรัฐเข้ามา ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำความเสียหายต่อรัฐ และทำตัวเหนือกฎหมาย ซึ่งในขั้นต้นก็มองเห็นว่าก่อนหน้านี้ได้ยื่นถอดถอนกรรมการ กสทช.ไปแล้วก็ต้องรอฟังก่อน


กสทช.แจงวุฒิฯยันประมูล3จีโปร่งใส

จาก โพสต์ทูเดย์

กสทช.แจงวุฒิสภาปม 3 จี ยันโปร่งใส ระบุ ลดราคาตั้งต้นเพื่อให้มีผู้ประมูลหลายราย ชี้ หากตั้งราคาตามจุฬาฯอาจไม่ได้ประมูล

การประชุมวุฒิสภา มีการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2553 ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)  ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยสว.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสอบถามถึงปัญหาการประมูลคลื่นความถี่ 3จี

ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ หนึ่งในกสทช.ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ชี้แจงว่า การเปิดประมูลของไทยในครั้งนี้กสทช.ได้ศึกษาบทเรียนที่ประสบความสำเร็จและ ความล้มเหลวของต่างประเทศตั้งแต่ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ซึ่งในกรณีของไทยเกือบเป็นประเทศสุดท้ายที่มีการประมูล 3 จี โดยหากไทยยังเลื่อนออกไปอีกเท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ จะมีคลื่นความถี่ย่านนี้ โดยผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าหากจัดสรรคลื่นความถี่สำเร็จจะ เกิดมูลค่าในตลาดโทรคมนาคมถึง 2 แสนล้านบาทในปี2556 และภาคเศรษฐกิจโทรคมนาคมจะโตขึ้นถึง 23%

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวอีกว่า การประมูล3จีของกสทช.เป็นไปอย่างโปร่งใส และราคาประมูลของไทยแพงที่สุดในเอเซีย โดยของไทยอยู่ที่0.47เหรียญสหรัฐ ต่อ กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ต่อประชากร สูงกว่าราคาประมูลที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่า ได้แก่ประเทศสิงโปร์ ประเทศเยอรมัน ประเทศเกาหลีใต้ และเป็นราคาที่สูงกว่า 3 เท่าของราคาประมูลที่กำลังพัฒนา ที่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และแม็กซิโก ส่วนสาเหตุที่กสทช.ไม่เห็นด้วยกับราคาตั้งต้น 6,440 ล้านบาทตามความเห็นของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะอาจทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลไม่มากเท่ากับราคา ตั้งต้นที่4,500ล้านบาท

"ถ้าหากเราเปลี่ยนตัวเลขราคาตั้งต้นเป็น 6,440 ล้านบาท สามรายอาจจะเหลือสองรายเหลืออาจจะเหลือหนึ่งราย หรือผมไม่แน่ใจว่าจะมีการประมูลครั้งนี้หรือไม่" พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับการกำหนดให้การประมูลเป็นแบบ 9 สล็อตแทนการใช้ระบบ N-1ก็มาจากความเห็นของคณะอนุกรรมการในกสทช.ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ มากมายทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเล็งเห็นว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการเข้ามาประมูลหลายราย

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวสรุปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในกรณีการหมดสัญญาสัมปทานของคลื่น 1,800 เมกกะเฮิร์ทซ (MHz) ในเดือนก.ย.2556 คาดว่าภายในเดือนพ.ย.ปีนี้จะมีข้อสรุปออกมา พร้อมกับร่างแผนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ร่วมกัน เพื่อปรับสภาพให้รัฐวิสาหกิจของไทยสองรายที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถ ปรับตัวไปสู่การผู้ประกอบการด้านโครงข่ายต่อไป

"กสทช.เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาเป็นใบอนุญาตต้องแลก ด้วยความเจ็บปวดในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงมีทั้งผู้เสียประโยชน์มีทั้งผู้ ได้ประโยชน์ แต่กสทช.ต้องสร้างสมดุลระหว่างการนำรายได้เข้ารัฐและการคงอยู่ได้ของผู้ ประกอบกิจการและประชาชนผู้บริโภคต้องได้รับบริการที่ดีและมีราคาที่เป็นธรรม พวกเราทราบดีว่าต้องฝ่าอุปสรรคไปให้ได้" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำนูณ สุภา ค้านประมูล 3จี แบบอย่าง ขรก. รักษาผลประโยชน์ชาติ กสทช. ยกเลิก

view