สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สหรัฐอเมริกา : บททดสอบจริงจะมาหลังการเลือกตั้ง

สหรัฐอเมริกา : บททดสอบจริงจะมาหลังการเลือกตั้ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประธานาธิบดีโอบามาได้รับเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัยด้วยคะแนนเสียงนำนายรอมนีย์มากเกินคาด แต่ผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งหนึ่งในสาม
ของวุฒิสภาก็สามารถสรุปได้ว่าสถานะทางการเมืองของสหรัฐในวันก่อนและหลังเลือกตั้งนั้นไม่แตกต่างกันและยังจะมีความเสี่ยงที่การเมืองสหรัฐจะอยู่บนพื้นฐานของความแบ่งแยกเช่นเดิม เพราะประชาชนอเมริกันเลือกนายโอบามาแห่งพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี แต่ยังเลือกให้พรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (โดยรีพับลิกันน่าจะยังมีเสียงในสภาผู้แทนฯ มากกว่าเดโมแครตประมาณ 50 เสียง) เช่นเดิม ในขณะที่เดโมแครตมีเสียงข้างมากในวุฒิสภาเล็กน้อยเช่นเดิมเช่นกัน (ประมาณ 55 ต่อ 46) แปลว่ายังจะเกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกันของทั้งสองพรรค ทำให้ยากต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยประธานาธิบดีในอนาคต ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

บางคนอาจมองว่าชัยชนะอย่างขาดลอยของประธานาธิบดีโอบามาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นั้นจะทำให้พรรคเดโมแครตมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในการเจรจากับฝ่ายรีพับลิกันเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) หรือการปรับขึ้นของภาษีและการลดงบประมาณรายจ่ายในวันที่ 1 มกราคม 2013 ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและนายโอบามาก็น่าจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นในการแสวงหาข้อตกลงเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและควบคุมหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยทางการคลังใน 3-4 ปีข้างหน้า

แต่ก็อาจมองได้ในทางกลับกันว่า ความแตกแยกที่มีมาก่อนการเลือกตั้งก็น่าจะคงอยู่ต่อไปหลังการเลือกตั้ง เพราะบุคคลที่คุมอำนาจในส่วนต่างๆ ของการเมืองสหรัฐก็ยังเป็นคนเดิม คือโอบามาเป็นประธานาธิบดีและในฝ่ายรีพับลิกัน นาย Boehner ก็จะยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ต่อไป นาย Reid ก็จะคุมเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาเช่นเดิม ทั้งนี้แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ มองว่าการหาเสียงที่มีการใส่ร้ายป้ายสีกันและผลคะแนนเลือกตั้งที่แพ้-ชนะกันไม่มาก (ในเชิงของคะแนนเสียงจากประชาชนโดยรวม) น่าจะทำให้ฝ่ายรีพับลิกันอาจมองว่าที่ฝ่ายตนพ่ายแพ้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานทางการเมือง (เช่นนโยบายของรีพับลิกันไม่โดดเด่นและมีประโยชน์ต่อประชาชนเท่ากับนโยบายของเดโมแครต) แต่เป็นผลมาจากยุทธวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อคะแนนเสียงสนับสนุนนายโอบามาและนายรอมนีย์นั้นแตกต่างกันไม่มากนัก หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะมีความเสี่ยงว่าต่างฝ่ายต่างก็จะยึดมั่นในจุดยืนเดิมของตัวเอง

กล่าวคือรีพับลิกันจะเน้นการลดภาษีให้คนรวยและคนจนอย่างเสมอภาคกัน เพราะเชื่อว่าคนรวยจะนำเงินไปลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจะลดรายจ่ายเพื่อลดบทบาทและลดการขาดดุลงบประมาณ แต่เดโมแครตจะต้องการเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดการขาดดุล แต่ต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำกับภาคธุรกิจและการเงินมากกว่าการปล่อยให้ภาคเอกชนเดินหน้าอย่างอิสรเสรี หากเป็นเช่นนั้นจริง ควันหลงจากการเลือกตั้งที่ใส่ร้ายป้ายสีกันกับความเชื่อมั่นในจุดยืนเดิมของแต่ละฝ่ายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้การเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยง

หน้าผาทางการคลังจะยืดเยื้อและประสบความสำเร็จได้ไม่ง่ายนัก

บทวิเคราะห์ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้งคือบทบรรณาธิการของ Financial Time ซึ่งสรุปว่า

1. ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องถูกทดสอบความเป็นผู้นำในทันที กล่าวคือเขาจะก้าวข้ามความแตกแยกและร้าวฉานระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกันที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐพิการทางนโยบายได้หรือไม่

2. ในสี่ปีที่ผ่านมาโอบามาฟื้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง คือราคาหุ้นปรับตัวกลับไปใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2009 และประสบความสำเร็จในการทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น (และการว่างงานก็เริ่มลดลง) แต่นักธุรกิจก็ยังขาดความมั่นใจโดยยัง “นั่งทับ” เงินสดที่มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยไม่ยอมนำเงินดังกล่าวออกมาลงทุนขยายกิจการและจ้างงาน

3. ประธานาธิบดีโอบามาประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากฝ่ายรีพับลิกันเลยแม้แต่เสียงเดียว กล่าวคือเขามี “เพื่อนสนิท” น้อยคนในรัฐสภาแตกต่างจากประธานาธิบดีคลินตันที่สามารถโน้มน้าวนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกันเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้

4. นโยบายต่างประเทศก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายประธานาธิบดีโอบามาอย่างมากในสองเรื่องคืออิหร่านกับจีน ในส่วนของอิหร่านนั้น โอบามาคงจะพยายามหาทางออกโดยใช้มาตรการคว่ำบาตรผสมผสานกับการเจรจาทางการทูตใน 1 ปีข้างหน้าที่อิหร่านน่าจะยังไม่สามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ โดยหวังว่าจะมีช่องทางในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เพราะประธานาธิบดี Ahmadi Nejad จะพ้นตำแหน่งในปีหน้า แต่หากไม่สำเร็จอาจต้องเตรียมมาตรการกดดันด้านอื่นๆ รวมทั้งการโจมตีแหล่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในปี 2013-2014

5. ในส่วนของเอเชียนั้น ประธานาธิบดีโอบามาคงจะดำเนินนโยบายเพิ่มบทบาทของสหรัฐเพื่อคานอำนาจและบารมีที่เพิ่มขึ้นของจีนต่อไปอีกในอนาคต ทั้งนี้กระแสความรักชาติของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนใต้เป็นภัยคุกคาม (threat) ที่เผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้นสหรัฐก็คงจะต้องพะวงกับความเสื่อมถอย (decline) ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐที่เป็นเสาหลักในเอเชีย

6. แต่หากปัญหาต่างประเทศไม่ปะทุขึ้น สหรัฐก็คงจะมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้สหรัฐได้เปรียบยุโรปอย่างมากด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการคือ 1. สหรัฐดำเนินนโยบายอย่างทันท่วงทีในการเพิ่มทุนให้กับระบบธนาคาร (ทำให้ธนาคารปล่อยกู้และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่ายุโรปที่ระบบธนาคารยังมีข้อจำกัดอย่างมาก) 2. การใช้เทคโนโลยี hydraulic fracturing เพื่อเจาะเอา shale gas มาใช้ เป็นการปฏิวัติทางพลังงานซึ่งช่วยให้ต้นทุนด้านพลังงานของสหรัฐถูกลงอย่างมาก น่าจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่ง 3. ประเทศเม็กซิโกยังเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกที่จะช่วยให้สหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันกับจีนได้ 4. นอกจากนั้นก็จะยังสามารถพึ่งพาแคนาดาเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น Financial times ทิ้งท้ายว่าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาน่าจะมีข้อสรุปร่วมกันว่าสหรัฐจะฟันฝ่าอุปสรรคข้างหน้าไปได้และสหรัฐก็จะยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพเป็นที่หนึ่งของโลก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สหรัฐอเมริกา บททดสอบจริง หลังการเลือกตั้ง

view