สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ญี่ปุ่นกระอักจ่อ ศก.ถดถอย ศึกใน-นอกรุมเร้า เล็งซบต่างแดน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

หลังจากหมิ่นเหม่อยู่บนปากเหวมาได้สักระยะหนึ่ง ในที่สุดก็เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก กำลังจะก้าวเข้าสู่สัญญาณสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วอย่างแท้จริง

แน่ชัดเสียจน เซอิจิ มาเอฮารา รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ต้องเอ่ยปากยอมรับว่า ดินแดนซามูไรแห่งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไปแล้ว ว่าจะไม่มีทางก้าวเข้าสู่สถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศจะถดถอยอย่างเด็ดขาด

เหตุผลก็เพราะบรรดาสารพัดผลลัพธ์ หรือยอดรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยแสดงตัวออกมามากมายอย่างต่อเนื่อง ล้วนกลายเป็นหลักฐานยืนยันชี้ชัดมัดแน่นหนาจนญี่ปุ่นดิ้นไม่หลุด

ไล่เรียงตั้งแต่ตัวเลขการส่งออกที่เริ่มลดลง ตามด้วยผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก จนนำไปสู่การประกาศปรับลดการคาดการณ์ผลกำไรประจำปี ก่อนตอกย้ำด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่หล่นฮวบลงมาต่อเนื่องทุกไตรมาสจนน่าใจหาย และปิดท้ายด้วยตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศซึ่งลดน้อยถอยลง เรื่อยๆ

ทั้งนี้ รายงานจากรัฐบาลญี่ปุ่นฉบับล่าสุด ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา หรือระหว่างเดือน ก.ค.–ก.ย. พิจารณาจากตัวเลขจีดีพีซึ่งใช้เป็นปัจจัยบ่งบอกถึงการเติบโต หดตัวลงถึง 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหดลง 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส

ในส่วนของตัวเลขการส่งออกประจำไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกของญี่ปุ่นลดลงถึง 5% และลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่การส่งออกเมื่อเดือน พ.ค.–มิ.ย.ปีที่แล้ว ที่หดตัวถึง 6%

ด้านอัตราการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอีกไตรมาสที่ 0.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 0.6%

ขณะที่ตัวเลขรายจ่ายลงทุนก็มีชะตากรรมเดียวกัน คือลดลง 3.2% ซึ่งนับเป็นอัตราการปรับลดที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยลดลงถึง 5.5% ในช่วงเดือน เม.ย.–มิ.ย. 2552 ช่วงเดียวกับที่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ

ปิดท้ายด้วยหลักฐานยืนยันตัวสุดท้ายกับยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่น โดยกระทรวงการคลังที่เผยตัวเลขดุลการค้าเดือน ก.ย. ว่ามีมูลค่าสูงถึง 5.59 แสนล้านเยน (ราว 2.16 แสนล้านบาท) นับเป็นการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2522 หลังยอดการส่งออกหดลง 10.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 4.1%

พร้อมกันนี้ นักวิเคราะห์บางสำนักยังได้คาดการณ์ไว้ว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากเลยที เดียว ที่ยอดขาดดุลการค้าของประเทศญี่ปุ่นตลอดทั้งปีนี้ น่าจะมีปริมาณมากถึง 4.73 ล้านล้านเยน (ราว 18.92 ล้านล้านบาท)

จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เรียกได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในขณะนี้อยู่ในช่วงขาลงเรียบร้อย

กลายเป็นคำถามข้องใจนักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ว่าถึงสาเหตุของความอ่อนด้อยที่เกิดขึ้น

เพราะก่อนหน้านี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีสัญญาณแนวโน้มการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเป็นไปในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขผลประกอบการของบริษัทต่างๆ และอัตราการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวมากขึ้นกว่าการคาดการณ์ของนัก วิเคราะห์ส่วนใหญ่

ถึงขั้นที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเห็นตรงกันว่า ญี่ปุ่นน่าจะประคับประคองเอาตัวรอดจากภาวะถดถอยไปได้ แต่แล้วการคาดการณ์กลับตาลปัตร โดย ทัตสึชิ ชิกาโนะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนเลย์ ซิเคียวริตี ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ประดังเข้ามา พร้อมกัน

ปัจจัยภายใน ก็คือ ภาวะเงินฝืดที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นทุกยุคทุกสมัยพยายาม แก้ไขมาโดยตลอด เห็นได้จากแถลงการณ์ร่วมกันล่าสุดของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ยืนยันว่า ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเงินฝืดที่ยืดเยื้อของประเทศ โดยมาตรการแก้ไขล่าสุด รวมถึงการที่บีโอเจมีมติผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด

 

พร้อมกันนี้ ต่อเนื่องจากปัจจัยด้านเงินฝืด ก็คือความพยายามฟื้นฟูจากความเสียหายของฝีมือภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ อย่างแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม เมื่อเดือน มี.ค. 2554 ที่ต้องเจอกับปัจจัยสกัดดาวรุ่งมากมาย

เริ่มต้นด้วยการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดของตลาดหลักๆ ของโลก อย่างสหรัฐและยุโรป โดยเฉพาะเขตยูโรโซน ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง สะเทือนภาคการส่งออก หนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

เท่านั้นยังไม่พอ สถานการณ์ยังเลวร้ายลงอีก เมื่อตลาดส่งออกที่แข็งแกร่งเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่อย่างประเทศจีนดัน มีชนวนข้อพิพาทเกาะเตียวหยู หรือเกาะเซนกากุ ให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีน จนหลายบริษัทโดยเฉพาะค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า หรือนิสสัน ต้องประกาศปรับลดกำลังการผลิต หลังการส่งออกรถในเดือน ก.ย.ปีนี้ ลดลงถึง 44.5% ขณะที่การส่งออกสินค้าโดยรวมไปยังจีนในเดือนเดียวกันลดลงถึง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือที่ 9.53 แสนล้านเยน (ราว 37.17 ล้านล้านบาท)

เคราะห์กรรมของญี่ปุ่นยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายและเอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้ของทั้ง สหรัฐและยุโรป ทำให้เงินเยนถือเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย จนนักลงทุนแห่ซื้อเป็นจำนวนมาก

ผลก็คือนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐและ 8.5% เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร กลายเป็นภาระหนักสำหรับภาคส่งออกของประเทศที่ทำให้สินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกมี ราคาแพงขึ้น เสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอื่นๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะเดียวกันแม้รัฐบาลจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะกระตุ้นการบริโภค ภายในประเทศ แต่มาตรการเหล่านั้นก็ดูจะไม่ได้ผลสักเท่าไรนัก ยืนยันได้จากตัวเลขการบริโภคในไตรมาสล่าสุดที่ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ยาสุโอะ ยามาโมโต นักวิจัยจากสถาบันวิจัยมิซูโอะ กล่าวว่า การที่ปริมาณการส่งออกมีจำนวนลดลงมหาศาล ไม่ต่างจากตัวเลขการบริโภคและรายจ่ายลงทุน สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าจากตลาดภายในและภาคนอกประเทศอยู่ในสภาพ อ่อนแออย่างแสนสาหัส จนน่าจะเข้าข่ายภาวะถดถอยแล้ว

ทั้งนี้ สิ่งที่โลกน่าจะได้เห็นจากรัฐบาลแดนซามูไรต่อจากนี้ ก็คือมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมจากธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงจากในระดับปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ผลกระทบในระยะสั้นที่จะตามก็คือ การชะลอการลงทุนของบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่น ยืนยันได้จากตัวเลขรายจ่ายลงทุนที่ลดลงในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นสิ่งที่ จุนโกะ นิชิโอกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากอาร์บีเอส ซีเคียวริตี ประจำกรุงโตเกียว มองว่า จะทำให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นทั้งหลายมีเงินทุนมากพอที่จะขยับขยายกิจการเพิ่ม เติม

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ต้องบอกว่า เมื่อความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงและทำอย่างไรก็เข็นไม่ขึ้นแน่นอน เพราะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่จำนวนประชากรของประเทศลดลง บรรดาผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลายย่อมเล็งเห็นแล้วว่า ไม่สามารถเติบโตในบ้านได้อีกต่อไป และต้องตัดสินใจหอบหิ้วทั้งเงินทุนและทรัพยากรที่มีไปลงทุนต่างบ้านต่าง เมืองมากขึ้น

แนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ในระยะยาวต่อจากนี้ น่าจะได้เห็นสารพัดกิจการจากแดนปลาดิบเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างชาติมากขึ้น โดยข้อมูลการสำรวจของนักวิเคราะห์ พบว่า ปี 2555 นี้ บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นประกาศทำข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา อยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.88 ล้านล้านบาท) มากกว่าปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.61 ล้านล้านบาท)

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ ซอฟท์แบงก์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่น ตกลงซื้อหุ้น 70% ของสปรินต์ เน็กซ์เทล ผู้ให้บริการเครือข่ายที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐ หรือข้อตกลงขนาดใหญ่ อย่างมารุเบนี ที่ซื้อเครือกาวิลอน กรุ๊ป บริษัทด้านการเกษตร เป็นเงิน 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.08 แสนล้านบาท)

หรือกรณีไดกินส์ อินดัสตรี บริษัทเครื่องปรับอากาศชั้นนำของญี่ปุ่น ซื้อกู๊ดแมน โกลบอล กรุ๊ป บริษัทผลิตระบบทำความร้อนและเครื่องปรับอากาศ มูลค่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.11 แสนล้านบาท) และกรณีเดนท์สุ ทุ่มเงิน 4,540 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซื้อเอจิส กรุ๊ป บริษัทโฆษณาอังกฤษ

ส่วนคำถามที่ว่า ประเทศไหนจะดึงดูดใจภาคธุรกิจของแดนซามูไรได้มากกว่ากันนั้น คำตอบนั้นคงอยู่ที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เองว่า จะพร้อมมากน้อยแค่ไหน

พร้อมทั้งในแง่ของการต้อนรับเงินทุนที่จะไหลเข้ามา และพร้อมในแง่ของการที่จะจัดการป้องกันไม่ให้การเข้ามานั้นเป็นอันตรายกับ ธุรกิจของประเทศตนเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ญี่ปุ่น กระอัก ศก.ถดถอย ศึกใน นอกรุมเร้า ซบต่างแดน

view