สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อะไรจะเกิดขึ้นในปี 2556

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เสถียร ตันธนะสฤษดิ์



เผลอแพลบเดียว เราก็จะต้องอำลาปี 2555 ไปแล้ว
เผลอแพลบเดียว เราก็จะต้องอำลาปี 2555 ไปแล้ว ยังจำได้ว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผมได้เรียนท่านผู้อ่านไปในเรื่องเดียวกันนี่แหละ ตอนนี้มาย้อนดูก็ ถูกบ้าง ผิดบ้างนะครับ ก็ลองดูอีกทีหนึ่งว่าในปีหน้า 2556 จะมีอะไรเกิดขึ้น เช่นเคยนะครับทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดๆ และโปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้นะครับ

เรื่องแรก มันเป็นข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่ง แต่อาจจะเป็นแนวทาง (theme) ในการเดินทาง (journey) ของพวกเราในปีหน้าได้นะครับ ข่าวที่ว่าก็คือ USD Indexได้ปรับตัวสูงขึ้น 2.26 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่มาก เพียงแต่อยากบอกว่า Index ตัวนี้บ่งชี้ว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินทุน เข้ามาสู่อเมริกาส่งผลให้ USD มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะเป็นตัวนำ (Leading Indicator) ว่าเศรษฐกิจอเมริกาน่าจะกระเตื้องขึ้นจริงๆ ในระยะเวลาต่อไปประมาณ 2-3 ไตรมาสจากนี้ ซึ่งก็คือประมาณกลางปี 2556 ถึง ต.ค. 2556 จำเรื่องที่ผมเคยเล่าปฏิกิริยาของตลาดเงินซึ่งมักจะ “lead” ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเสมอได้ไหมครับ ที่เล่าเรื่องนี้ก็เพียงแต่จะ “สะกิด” พวกเราให้ตื่นตัวเล็กน้อยจะได้ไม่ตกรถไฟ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วเราต้องทำอย่างไรบ้าง คงไม่ต้องบอกในรายละเอียดนะครับ เอาแบบสั้นๆ ก็ซื้อหุ้น, ขายพันธบัตร, ซื้อทอง, ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ นะครับ ข้อสำคัญเราต้องชิงลงมือก่อนจะได้รับประโยชน์ที่ฝรั่งเรียกว่า First Mover Advantage

เรื่องที่สอง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ในเดือนมีนาคมของปีนี้ (2555) ผมเล่าเรื่องปัญหา Geopolitics ให้ท่านฟัง แต่ดูเหมือนท่านผู้อ่านจะรู้สึกเฉยๆ พอเดือนกันยายน ผมเอ่ยไว้อีกเล็กน้อยในเรื่องASEAN Banking Integration Framework เอาไว้ว่ามันอาจจะเป็นอุปสรรคในการบรรลุดังกล่าว ก็เลยขอบอกว่าอย่าลืมนะครับว่ามีระเบิดเวลาในเรื่องนี้อยู่ 2 ลูก ลูกแรก ไทย+กัมพูชา เรื่องเขาพระวิหาร ลูกที่สอง ASEAN ในส่วนที่ต้องทะเลาะกับจีนเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ หากมันเกิดขึ้นจริงถึงแม้ว่าผมเชื่อว่าระเบิดทั้งสองลูกไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน/ค่าเงินในตลาดบ้านเรา แต่อาจจะถูกใช้เป็น “ข้ออ้าง”ได้ ความคาดหวังของพวกเราทุกคนก็คงจะเหมือนกัน คือ ไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้นหรอก

เรื่องที่สามที่คาดว่าน่าจะเป็นประเด็นก็คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capita Flow) ผมเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังอยู่หลายครั้ง ว่าโลกการเงินในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างมากถึงมากที่สุด ทุกคนยอมรับว่าโลกเราแคบลงอย่างมาก ซึ่งก็จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และในบางกรณีหรือหลายกรณีก็จะมีความรุนแรงแถมเข้ามาด้วย สินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets) ทุกอย่างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการย้ายเงินทุนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น,พันธบัตรและแม้กระทั่งสุดยอดฮิตติดอันดับอย่างทองคำ

ดังนั้น นอกเหนือจากต้องเฝ้ามองอิทธิพลทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่เกิดจากตลาดการเงิน (ไม่ว่าจะเป็นการเมือง,สังคม) แล้ว ต้องเฝ้าฟังเรื่องของ Capital Flows ให้มากจะได้ไม่เจ็บตัวหรือเจ็บตัวน้อยลง ในปี 2555 เราพูดถึงเงินทุนจะไหลเข้ามาในเอเชียของเรา เนื่องมาจากสภาวะที่เป็นที่รู้กันดีในยุโรป,อเมริกา คงไม่ต้องมาเล่าซ้ำอีก ผมก็ยังเชื่อว่าเรื่องทำนองนี้ก็คงจะยังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป ผลกระทบของเงินทุนไหลเข้า ก็มีการพูดจากันโดยทั่วไปมากแล้วเช่นกัน เพียงผมอยากจะเพิ่มเติมให้อีกสักเล็กน้อยว่า อเมริกาเริ่มมีแววว่าจะฟื้น ซึ่งหมายความว่า ตลาดการเงินของอเมริกาก็จะดีขึ้น และหมายถึงค่าของเงินดอลลาร์ที่น่าจะสูงขึ้น หากให้ผมคาดเดาก็คงจะเริ่มในครึ่งปีหลังของปี 2556 ดัชนีบ่งชี้ก็ได้กล่าวแล้วในข้อแรกนะครับ Implicationที่เกี่ยวกันกับเราก็คือการเคลื่อนไหวของทุนจะผันผวนมากขึ้นส่งผลให้ตลาดของเราผันผวนมากตามไปด้วย

เรื่องที่สี่เรื่องสุดท้าย ผมมองว่า เรายังคงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของวินัยการคลัง หากจะเรียนรู้จากอดีตของเราเอง วิกฤตเศรษฐกิจคราวก่อน (2540) เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินไทยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาด ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการ "เรียนรู้” และ “ปรับตัว” ไปมากแล้ว หากเราไม่อยากเห็นวิกฤตเศรษฐกิจคราวหน้าก็คงต้องตระหนักเรื่องวินัยการคลังให้มากๆ เอาแบบสั้นๆ ก็คือ รัฐบาลกู้เงินคงไม่ผิด

หากเราชำระเงินกู้นั้นได้ทั้งต้นทั้งดอกตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ หากรู้สึกว่าเริ่ม "ฝืด” ในการคืนเงินกู้ ก็อย่าฝืนเพราะหากเกิดวิกฤตขึ้นมาจากเรื่องนี้ จะมีผลลบติดตามอยู่เป็นระยะเวลานาน ไม่ต้องพูดถึงอำนาจการทำลายล้างสังคมเศรษฐกิจ ไปดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจดูก็จะทราบดี ตัวอย่างมีให้เห็น ในระดับประชาชนเดินดินทั่วไป ก็คงต้องดูแลเงินออมของตนให้จงดี แนวของผมก็คือ เน้นเรื่องสภาพคล่อง ต้องออกตัวได้ง่าย หนีได้ทัน หากภัยมา ในปัจจุบันการลงทุนก็มีความหลากหลายมากกว่าสมัยก่อนเยอะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลองเอามาดูรายละเอียดสักเล็กน้อยก็น่าจะเห็นหนทางปลอดภัยนะครับ

สุดท้ายมี”คาถา”สามคำในการปัดเป่าความหายนะอันอาจมาเยี่ยมเยียนเราคือ Market Risk (ความเสี่ยงด้านราคา), Liquidity Risk (สภาพคล่อง) และสุดท้ายSettlement Risk (การส่งมอบ) หากดูแลได้ดีไม่มืดบอดรับรองไม่มีเจ๊ง

จริงๆ ในระยะสั้นยังมีระเบิดเวลาอยู่อีก 2 ลูก ที่รอเราอยู่ และยังไม่มี “ฮีโร่.”มาปลดชนวนเอาเป็นว่าขอไปเป็นเดือนหน้าซึ่งจะเป็นฉบับต้อนรับปีใหม่พอดี โปรดติดตามได้นะครับ สุดท้ายขอให้ทุกท่านมีความสุขสงบ และปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อะไรจะเกิดขึ้น ปี 2556

view