สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ SME ไทย

แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ SME ไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมเขียนบทความนี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะต้องมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi) ที่กรุงโตเกียว

ซึ่งผมมาสอนที่นี่ปีนี้เป็นปีที่สอง ญี่ปุ่นยังน่าอยู่เหมือนเดิม และคนญี่ปุ่นมีอัธยาศัย และน้ำใจดีเสมอ และปีนี้ผมยิ่งประทับใจ เพราะมีประสบการณ์ที่ดีด้วยตัวเอง คือ วันหนึ่งรีบเดิน เพราะกลัวไปไม่ทันงานเลี้ยงจนส้นรองเท้าหลุด พอหาร้านซ่อมได้ คนซ่อมกลับไม่คิดเงิน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ผมเลยได้แต่ขอบคุณ และซึ้งในน้ำใจ ดังนั้น แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ดี แต่คนญี่ปุ่นยังมีน้ำใจ และอัธยาศัยดีเหมือนเดิม

แต่เรื่องที่จะเขียนวันนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับญี่ปุ่น แต่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล หรือ แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีหลายประเด็นน่าสนใจ คือ สองอาทิตย์ก่อน สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD จัดหลักสูตรซีจีสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรก และใช้ชื่อหลักสูตรว่า แนวทางสู่ความสำเร็จของเอสเอ็มอี ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี มีบริษัทขนาดกลางและเล็กมาร่วมกว่า 30 บริษัท โดยผู้เข้าอบรมเป็นทั้งเจ้าของกิจการ กรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูง และข้อมูลที่ IOD ได้จากผู้เข้าอบรมหลังการอบรมก็น่าพอใจ วันนี้เลยอยากเขียนเรื่องนี้ ว่าทำไมซีจีหรือ Corporate Governance จึงสำคัญต่อธุรกิจเอสเอ็มอี และในกรณีของไทย แนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับเอสเอ็มอีไทย ในความเห็นของ IOD น่าจะเป็นอย่างไร

แนวคิดที่จะผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปสู่ธุรกิจระดับเอสเอ็มอี มีเหตุผลสนับสนุนมาก คือ หนึ่ง จากประโยชน์ที่บริษัทขนาดใหญ่ได้จากการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ชัดเจนว่า สามารถช่วยธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเช่นกัน ที่สำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีเป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญที่สุด คือ กว่าร้อยละ 90 ของบริษัทในประเทศ จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้น ถ้าซีจีหรือแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีในประเทศสามารถถือปฏิบัติได้อย่างกว้างขวาง ผลที่จะตามมาก็คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งหมายถึง การเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศ อันนี้คือเหตุผลข้อแรก

เหตุผลข้อที่สอง ก็คือ ในบริบทของการแข่งขันทางธุรกิจที่จะมีมากขึ้นหลังการเปิด AEC ในอีกสองปีข้างหน้า การบริหารจัดการบริษัทโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะเป็นปัจจัยการแข่งขันที่สำคัญ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะในโลกธุรกิจปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในประเทศไทย หรือ บริษัทในอาเซียน ความแตกต่างในแง่ความสามารถในการผลิต และต้นทุนการผลิต ยิ่งวันยิ่งจะน้อยลงเนื่องจากผู้ผลิตสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี วัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน แรงงาน รวมถึงภาษีในต้นทุน หรือราคาที่ไม่แตกต่างกันมาก เพราะระบบเศรษฐกิจอยู่ในเศรษฐกิจโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างบริษัทในแง่ความสามารถในการแข่งขัน ก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ประเด็นนี้ทำให้การมีธรรมาภิบาล หรือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้กลายมาเป็นปัจจัยแข่งขันที่สำคัญ และเป็นคุณสมบัติที่นักลงทุนต่างประเทศมองหา เพื่อให้มั่นใจว่า เงินที่นำไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน หรือให้กู้ยืมจะไม่สูญเปล่า แต่ถูกนำไปใช้ให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะบริษัทมีการบริหารและการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

เหตุผลข้อที่สาม ก็คือ ถ้าเราดูปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัทเอสเอ็มอีที่เติบโตเป็นบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัทเหล่านี้จริงๆ แล้วจะไม่แตกต่างกับปัจจัยที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ เป็นปัจจัยชุดเดียวกัน เช่น การมีวินัยทางการเงิน มีจริยธรรม และจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ ให้ความสำคัญกับแผนธุรกิจ มีการควบคุมภายใน รวมถึงการบริหารความเสี่ยง และมีความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นคำถามก็คือ เราจะใช้ปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านี้มาเป็นกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับเอสเอ็มอีอย่างไร ที่จะเหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอี ตรงกับการคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่เป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของธุรกิจ

ในการตอบคำถามนี้ สิ่งแรกที่ต้องตระหนักเมื่อเรานึกถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ SME ก็คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีมีลักษณะของความเป็นหน่วยธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ ลักษณะแตกต่างสำคัญก็คือ ในระยะเริ่มต้นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีมักจะทำหลายหน้าที่พร้อมๆกัน คือ เป็นทั้งเจ้าของ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท การบริหารช่วงแรกมักไม่เป็นระบบ ทำคนเดียว มีลูกน้องไม่กี่คน และพอถึงระดับหนึ่ง กิจการขยายมากขึ้น มีการจ้างคนนอก จ้างผู้บริหาร เริ่มมีคนมาร่วมทุน เริ่มมีหลายเจ้าของ แต่การแยกแยะระหว่างอำนาจบริหารกับความเป็นเจ้าของมักไม่ชัดเจน ต่างกับบริษัทขนาดใหญ่ หรือ บริษัทจดทะเบียน ที่ความเป็นเจ้าของ และอำนาจบริหารแยกกันชัดเจนคือมีผู้ถือหุ้น มีคณะกรรมการบริษัท และผู้จัดการมืออาชีพ ขณะที่กรณีเอสเอ็มอีความเป็นเจ้าของ และอำนาจบริหารมักจะอยู่ในคนๆ เดียวกัน

ความแตกต่างนี้ทำให้มีคำถามว่า แล้วรูปแบบของการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เราใช้กับบริษัทจดทะเบียนจะใช้กับบริษัทแบบเอสเอ็มอีได้หรือไม่ เพราะรูปแบบของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ตัวอย่างเช่น แนวปฏิบัติของโออีซีดีมักจะพัฒนามาจากโมเดลการแยกอำนาจระหว่างเจ้าของกับผู้บริหาร (Agency Model) เพื่อให้เจ้าของหรือ คณะกรรมการบริษัทที่เป็นผู้แทนเจ้าของ สามารถมีแนวปฏิบัติที่ดีที่จะกำกับดูแลการบริหารงานของผู้บริหารมืออาชีพ หรือ Agent ที่ถูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ถูกจ้างมาบริหาร จะให้ความสำคัญกับประโยชน์ของบริษัท ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อตัวเอง ดังนั้น สาระหลักของแนวปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลกิจการบริษัทที่ใช้กับบริษัทจดทะเบียน จึงมุ่งประเด็นไปที่แนวปฏิบัติในการทำหน้าที่เหล่านี้ เช่น สิทธิผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

แต่ในกรณีของธุรกิจเอสเอ็มอี อำนาจบริหารและความเป็นเจ้าของไม่ได้แยกจากกัน แต่มักรวมศูนย์อยู่ที่คนๆเดียว ทำให้แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ใช้กับบริษัทใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียน จึงไม่เหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอี คำถามที่ตามมาก็คือ แนวการกำกับดูแลกิจการในกรณีของธุรกิจเอสเอ็มอีควรเป็นอย่างไร

ในการตอบคำถามนี้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยได้ศึกษาตัวอย่างของหลายประเทศที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เช่น กรณีของฮ่องกง และออสเตรเลีย รวมถึงสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีไทยข้อสรุปที่ได้ก็ คือ ปัจจัยการกำกับดูแลกิจการที่สำคัญต่อธุรกิจเอสเอ็มอีจากตัวอย่างประเทศเหล่านี้จะออกมาคล้ายๆกัน คือเน้นการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใสในการทำธุรกิจ การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การมีจริยธรรมและคุณธรรมในการทำธุรกิจ การมีแผนกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง ในกรณีของเอสเอ็มอีไทย การมีแผนธุรกิจจะเป็นปัจจัยที่มีการให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะทำให้ผู้ที่ติดตามความก้าวหน้าของบริษัทสามารถประเมินความสำเร็จของธุรกิจได้โดยเทียบกับแผนธุรกิจที่มี นอกจากนี้ การมีแผนธุรกิจยังสำคัญต่อการระดมทุน การบริหารความเสี่ยงและความเป็นระบบในการทำธุรกิจ

จากข้อมูลเหล่านี้ IOD มีข้อสรุปว่าปัจจัยที่สำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับเอสเอ็มอีไทย ก็คือ แนวปฏิบัติที่ธุรกิจเอสเอ็มอีควรมีอย่างน้อยในสามด้าน คือ หนึ่ง มีแผนธุรกิจ ซึ่งแผนธุรกิจต้องเป็นแผนที่มีความน่าเชื่อถือ สะท้อนข้อมูลที่เป็นจริง และมีการนำไปปฏิบัติได้จริง สอง มีการจัดทำงบการเงินที่ถูกต้องตามหลักบัญชี มีบัญชีเดียว ที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ และ สาม มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการทำธุรกิจ คือ ทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และกฏระเบียบของบริษัท มีจริยธรรม ไม่เอาเปรียบ และให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ดังนั้น ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีไทยสามารถมีแนวปฏิบัติที่ดีได้ในทั้งสามประเด็น ก็น่าจะเพียงพอที่จะยอมรับได้ว่า บริษัทมีธรรมาภิบาล หรือมี Corporate Governance ที่ดีในการทำธุรกิจ ที่เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอี ที่สำคัญทั้งสามปัจจัยนี้ โดยสาระแล้วก็คือ ปัจจัยกำหนดความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้น เอสเอ็มอีที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนและจริงจังในทั้งสามเรื่องนี้ น่าจะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเติบโตเป็นบริษัทใหญ่ได้

ก็หวังว่า IOD จะสามารถเผยแพร่แนวคิดนี้ให้เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง สำหรับเอสเอ็มอีไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดี SME ไทย

view