สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของจีน นัยต่อการส่งออกของไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก


นับ ตั้งแต่จีนเปิดประเทศในปี 2521 และเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในปี 2544 จีนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงมีความสำคัญต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2554 จีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งโลก และยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยสัดส่วนราว 10% ของมูลค่านำเข้ารวมของทั้งโลก 

อย่างไรก็ ตาม ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เรื้อรังนับตั้งแต่เกิดวิกฤต Subprime ในปี 2551 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงจีนชะลอลง ได้มีส่วนทำให้จีนต้องกลับมาทบทวนแนวนโยบายเศรษฐกิจของตนเอง โดยเฉพาะการลดการพึ่งพาการส่งออก และหันไปพึ่งพาตลาดในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นแทน รวมถึงการพัฒนาการผลิตและการส่งออกจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ (low-value added) ไปสู่การผลิตและการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high-value added) และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี (technology-based) มากขึ้น

การ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตสินค้าของจีนในครั้งนี้ ได้แรงสนับสนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในช่วง Subprime ที่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การกระตุ้นการลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ พบว่า 12.3% ของเม็ดเงินทั้งหมดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3 ล้านล้านหยวน หรือเท่ากับ 370 พันล้านหยวน เป็นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการนำเข้าสินค้าทุนจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการพัฒนาชนบทอีก 1,870 พันล้านหยวน

คิดเป็น 62.3% ของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการลงทุนมูลค่ามหาศาลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ รัฐบาลจีนในการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในรูปแบบเดิม ๆ ท่ามกลางปัจจัยค่าจ้างแรงงานในประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีนดังกล่าว นับเป็นความท้าทายสำคัญต่อการส่งออกของไทยที่ปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกไปจีน สูงถึงราว 12% ของมูลค่าส่งออกรวม และกว่า 70% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีนเป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางที่จีนนำไปผลิตและส่งออกต่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าส่งออกสินค้า อุตสาหกรรมของไทยไปจีน กับมูลค่าส่งออกของจีนที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างใกล้ชิด สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในระดับสูงระหว่างสองประเทศ

ดังนั้น หากไทยยังต้องการรักษาการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนในระยะ ถัดไปเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนารูปแบบสินค้าส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่มสูง และใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองและสนับสนุนการพัฒนาการผลิตสินค้าของจีน จึงเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ยังพบ ข้อสังเกตประการสำคัญว่าจีนมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว จากมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในอาเซียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสัดส่วนการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเดียวกันจากไทยมีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าจากมาเลเซียสามารถตอบสนองความต้องการในจีนที่กำลัง เปลี่ยนแปลงไปได้ดีกว่าไทย ทำให้ไทยจำเป็นต้องหันมาเร่งพัฒนาการผลิตและการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่า เพิ่มสูง และใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงมากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเกาะขบวนรถไฟของจีนในครั้งนี้

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเศรษฐกิจของจีนข้างต้น นับเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำคัญของภาคการส่งออกของไทยในระยะถัดไป เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อการรักษาสัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนแล้ว การพัฒนาการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ยังจะเป็นโอกาสสำคัญที่อาจผลักดันให้ไทยก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ ปานกลาง (middle-income trap) ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้อีกด้วย

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเปลี่ยนแปลงนโยบาย เศรษฐกิจของจีน นัย การส่งออกของไทย

view