สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาล ข้อเสนอทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 หวังลดขัดแย้ง

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ : วันที่ 14 ธันวาคม พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย  พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์  ขอเสนอการจัดทำประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291

------- ตามที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... วาระที่ 1 และวาระที่ 2 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 77 คน และจากการคัดเลือกของรัฐสภา  จำนวน 22 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังไม่มีการลงมติในวาระที่ 3 เนื่องจากมีกรณีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา 68 ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหา  นั้น


ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง  เพื่อศึกษากรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ  ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในวาระที่ 3 นั้น ได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ  เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อแนะนำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว


อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีความไม่เข้าใจหรือความเห็นว่าควรจะมีการทำประชามติเสียก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้เสนอไว้ในรายงานว่า


ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง


คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า  เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความปรารถนาดี  มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี  หากประชามติไม่ผ่าน  หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้  หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกันทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่าไม่ใช่การถ่วงเวลาแต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ  กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นชอบร่วมกันว่า


1.แม้ว่าการลงมติในวาระที่ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชน 50,000 คนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ประสงค์จะให้มีการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้  คงมีเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

2.เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เกิดข้อยุติ  ลดความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ  เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม  เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ  เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะไม่มีการแก้ไขในเรื่องรูปของรัฐ  รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

3.รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง  สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนในทุกภาคส่วน  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณณรงค์  ชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลในการจัดทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม  เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

4.การทำประชามติในครั้งนี้ มีความชัดเจนว่า  เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง และเป็นความปรารถนาดี  เพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป  ดังนั้น  ไม่ว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์  หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามตินั้น

5.ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใดทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป


เปิดรายงานฉบับย่อ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลกรณีปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ด้วยรายงานของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลกรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลได้รับทราบว่ารายงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย  ในชั้นนี้จึงขอจัดทำรายงานฉบับย่อขึ้นก่อน


รายงานของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีความยาว ๕๐ หน้า ครอบคลุมเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่ ที่มาของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลรายชื่อคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล รายชื่อนักวิชาการที่มาให้ความเห็นและประเด็นหารือ  ความเห็นของนักวิชาการ ปัญหาสำคัญโดยรวมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐  รากเหง้าปมความขัดแย้งของสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน  ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ในอดีตที่ผ่านมา  ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการ  สมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)  นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐  สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา ๖๘ ได้โดยตรงหรือไม่  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดย       วิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ หรือไม่              


ความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็น  สิทธิในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘  ความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมกรณีการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็น  ประเด็นข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีคำวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้อง  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถกระทำได้หรือไม่  ความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑  คำแถลงของโฆษกศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อสื่อมวลชนกรณีคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ  ความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑  ความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม  ข้อเสนอแนะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลกรณีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ๑.      การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา


รัฐบาลและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน ๑ ปี ข้อ ๑.๑๖ ระบุว่า“เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ”


                แนวคิดในการนำเสนอนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล มีเจตนารมณ์มุ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยประชาชนและหากได้รับความเห็นชอบจากประชาชน  ในที่สุดแล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและสร้างเสริมประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหลักอันมั่นคงของสังคมไทยต่อไป และวิธีการดังกล่าวได้เคยกระทำมาแล้วในอดีต เช่น การเพิ่มมาตรา ๒๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ เพื่อให้มี สสร.อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน


                ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพื่อจัดให้มี สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

๒.      ความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็น
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๒/๒๕๕๕ ว่าการดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการพิจารณาของรัฐสภามิได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ฯ ตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ  ให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้องอย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่น  ยังขาดความชัดเจนในผลแห่งคำวินิจฉัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในวาระที่สาม  ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีการระบุในทำนองว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชน การจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรกเรื่องสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๗ ต่อ ๑ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องที่ผู้ทราบการกระทำตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยมิต้องผ่านอัยการสูงสุด


                สำหรับประเด็นนี้ แม้จะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันองค์กรต่าง ๆ แต่ก็เป็นคำวินิจฉัยที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ วรรคสองไปในทางที่ขยายอำนาจของตนเองเสมือนดังว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับถ้อยคำและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ขัดแย้งกับตำราทางวิชาการ เอกสารทางวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเว็บไซต์แนะนำประชาชน และขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาก่อน คำวินิจฉัยในประเด็นนี้ทำให้บทบัญญัติในมาตรา ๖๘ วรรคสอง ที่ให้อำนาจอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีที่บังคับใช้


                คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล  มีข้อสังเกตว่าสำหรับคำวินิจฉัยในประเด็นแรกนี้  นั้นศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญซึ่งผู้ถูกร้องได้ต่อสู้ไว้ว่า
“ร่างรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ที่เสนอต่อรัฐสภามิใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๖๘ เพราะผู้ถูกร้องโดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เป็นองค์กรและคณะบุคคลที่ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ (๑)”


ประเด็นนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สำคัญยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องมีคำวินิจฉัยเสียก่อนที่จะเข้าไปวินิจฉัยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง และเมื่อพิจารณาความเห็นในการมีคำวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๓ ท่านก็ปรากฏว่าได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ด้วยคือ นายวสันต์ ฯ นายบุญส่ง ฯ และนายอุดมศักดิ์ ฯ โดยมีความเห็นสรุปได้ว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาหรือการที่รัฐสภาพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไม่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง แต่ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๓ ท่านนี้ก็มิได้ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยกลางแต่อย่างใด


                ประเด็นข้อกฎหมายตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งที่กล่าวมา เป็นข้อกฎหมายสำคัญในสาระของการพิจารณาคำร้องตามบทบัญญัติของมาตรา ๖๘ กล่าวคือ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มิใช่เรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรือคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกรัฐสภา มิใช่บุคคลตามความหมายของบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาได้และมิพักต้องพิจารณาว่าการกระทำตามคำร้องนั้น เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ วรรคสองหรือไม่


                ประเด็นที่สองปัญหาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้หรือไม่


                ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า  “การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตามแต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑”


ข้อที่เป็นปัญหาในประเด็นที่สองนี้ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้มีผลผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรคห้าหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำแนะนำที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ กล่าวคือ


จากความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการ ๘ ท่านนั้น  ปรากฏว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๓ ท่านเห็นว่า  เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย ๑ ท่านเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถกระทำได้ ๑ ท่านเห็นว่าสามารถกระทำได้ หากมีการทำประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ๑ ท่านเห็นว่า ต้องทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๑ ท่านเห็นว่าหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จะขัดต่อมาตรา ๖๘  ๑ ท่านเห็นว่าหากรัฐสภาหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องได้รับประชามติจากประชาชนก่อน


จากการพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๘ ท่าน  เห็นได้ว่ามีตุลาการเพียง ๓ ท่านกล่าวถึงการจัดทำประชามติ  และมีเพียง ๑ ใน  ๓ ท่าน เท่านั้นที่กล่าวไว้โดยชัดเจนว่าให้มีการลงประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความเห็นว่า ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น ๕ ต่อ ๓ ว่ากระทำได้และหากจะต้องทำประชามติ ก็สามารถกระทำได้ก่อนพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงได้แนะนำให้สามารถลงประชามติในลักษณะดังกล่าวได้ ดังนั้นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ในวาระที่สามเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และนำไปให้ประชาชนลงประชามติ จึงสอดคล้องและเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว


                คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า  หลักการในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างวาระที่สามอยู่ในขณะนี้เป็นวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างด้วยการเลือกตั้ง สสร.โดยตรง จากนั้นเป็นการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติโดยประชาชน  สสร.มีหน้าที่เพียงยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด  ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนแล้วจะเห็นได้ว่า  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีมติด้วยเสียงข้างมากว่าจะกระทำมิได้แต่อย่างใด โดยเหตุนี้จึงทำให้คำวินิจฉัยกลางออกมาในลักษณะเป็นคำแนะนำมิใช่เป็นคำวินิจฉัย  สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของโฆษกศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวว่า  การทำประชามติเป็นเพียงข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น


ดังนั้น การที่รัฐสภาจะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ ..)  พุทธศักราช .... ในวาระที่สาม และมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปจนมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และนำร่างที่ได้ยกร่างขึ้นนั้นไปให้ประชาชนลงประชามติซึ่งหากเห็นชอบก็จะต้องทูลเกล้า ฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไปนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติวาระที่สามเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจนำไปสู่ความยุ่งยากและสร้างปัญหาความวุ่นวายในสังคมขึ้นอีกได้ เพราะมีผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตยก็จะออกมาต่อต้านโต้แย้งคัดค้านได้ตลอดเวลา ประกอบกับเมื่อได้คำนึงถึงผลของคำวินิจฉัยในคำร้องตามมาตรา ๖๘  ที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจของตนเองว่าสามารถรับคำร้องไว้ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด อันเป็นการเปิดช่องทางให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกโดยอ้างประเด็นดังกล่าวแล้ว


คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่า การดำเนินการให้มีการลงประชามติว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ก่อนที่จะมีการลงมติในวาระที่สาม  อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สังคมเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยากให้เกิดความรอบคอบและขจัดข้อคัดค้าน โต้แย้ง ทั้งปวงออกไป แต่การทำประชามติโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็ดี  หรือเสนอกฎหมายเฉพาะในการจัดทำประชามติ หรือข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๕ ก็ดี  ล้วนแล้วแต่ต้องพิจารณาแง่มุมทางกฎหมาย  ความล่าช้าและความชอบธรรมในการดำเนินการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดำเนินการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๕  และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒  ต้องคำนึงว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องมาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติเป็นเบื้องต้น

                  ประเด็นที่สาม  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรอการลงมติในวาระที่สามจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

                ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติด้วยคะแนน ๘ ต่อ ๐ ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและให้ยกคำร้องทั้งห้า     คำร้อง และแม้เหตุผลในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านอาจแตกต่างกันบ้างก็ตาม แต่จากคำวินิจฉัยกลางโดยเฉพาะหน้า ๒๖-๒๗ ที่ว่า   “พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตราเพื่อปฏิรูป


การเมืองและปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙๑ อันถือได้ว่ามีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)  พุทธศักราช .... ที่มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่สอง และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่สามจะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้เป็นรูปธรรม


การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่ปรากฏผลประการใด และยิ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอ มิได้” ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ให้เหตุผลว่า “ จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป ” และในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา ๒๙๑/๑๑ วรรคห้า ก็ยังบัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐว่า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้” และหากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้าดังกล่าว “ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑/๑๑ วรรคหก


อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้ รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นทราบตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ยังมีผลใช้บังคับ”นั้น      


เมื่อพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยในประเด็นที่สองแล้ว คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า    คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้รัฐสภาลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่สาม  เพราะการลงมติวาระที่สามของรัฐสภามิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง ฯ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อันจะนำมาซึ่งการใช้สิทธิตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด  เนื่องจากเมื่อรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช .... เนื้อหาสาระในส่วนอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ยังอยู่ครบถ้วนและยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงเรื่องของ สสร.ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้กรอบของมาตรา ๒๙๑/๑๑ วรรคห้า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร.จะจัดทำขึ้นว่ามีบทบัญญัติใดที่มีผลเป็นการต้องห้ามหรือมีการล้มล้างการปกครอง ฯ หรือไม่ มิใช่ประเด็นว่ารัฐสภามีอำนาจลงมติในวาระที่สามหรือไม่


๓.  ข้อเสนอแนะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล
                ๑) รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม
                ๒) คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลตระหนักดีว่า สังคมไทยยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก การลงมติวาระที่สาม จึงควรพิจารณาใช้ช่วงจังหวะเวลาให้รอบคอบ และก่อนจะลงมติ  รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลควรรณรงค์ทำความเข้าใจให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรม ยึดมั่นในหลักนิติธรรม เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง
๓) สำหรับการทำประชามตินั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่รอการลงมติอยู่ในวาระที่สาม ได้มีการบัญญัติถึงเรื่องการลงประชามติไว้แล้ว ว่าเป็นการลงประชามติก่อนจะเป็นกฎหมาย กล่าวคือเมื่อ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป เช่นเดียวกับการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ตกไปดังนั้น การทำประชามติเมื่อ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ


ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๕ ได้  แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเป็นความปรารถนาดี มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๕ เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลาแต่เป็นความรอบคอบโดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ


๔) ในระหว่างนี้ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราควบคู่กันไปด้วย ก็สามารถกระทำได้โดยสมควรที่จะแก้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันก่อน เช่น มาตรา ๒๓๗ และมาตราอื่น ๆ ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม


๕) ส่วนกรณีที่ว่า หากมีการลงมติวาระที่สามแล้ว จะยังคงมีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่หรือจะมีกระบวนการต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ อีกหรือไม่ เห็นว่า โดยบริบทของสังคมปัจจุบันซึ่งยังคงมีความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ คงไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะไม่มีเหตุเช่นนั้น แต่รัฐสภาและรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป


ทีมแก้ รธน.ยอมทำประชามติ ให้รัฐรณรงค์ต่อ สุดงง! ถ้าโหวตไม่ผ่านก็ให้สภาแก้เองได้

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ นัดถกท่าที “วราเทพ” เผยพรรคอื่นเห็นพ้องทำประชามติก่อน ส่ง “ประชา” แจ้ง ครม.รณรงค์ชำเราก่อนโหวต ใช้ รธน.มาตรา 165 บวก พ.ร.บ.ประชามติ ม.9 ให้คนใช้สิทธิเกิน 23 ล้าน และโหวตผ่าน 11.5 ล้าน ล่าสุดจ้อแถลงการณ์ยันไม่ล่วงหมวดพระมหากษัตริย์-เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ใช้อำนาจรัฐกล่อมชาวบ้าน จี้ทุกฝ่ายยอมรับผล แต่ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยรัฐสภาก็มีสิทธิแก้ได้              

วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หลังจากคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา โดยมีคณะทำงานพรรคร่วมฯ ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เช่น นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุม ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา นำโดย นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ที่เป็นตัวแทน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ, พรรคพลังชล มีนายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้าร่วมประชุม, ในส่วนของพรรคประชาธิปไตยใหม่ มีนายสุรทิน พิจารณ์ เข้าร่วมประชุม ขณะที่ในส่วนของคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการหารือในประเด็นที่อาจมีการแก้ไขในส่วนของข้อกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมาย ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้ใช้เวลาในการหารือและรับประทานอาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง               นายวราเทพกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานพรรคร่วมฯ และถือเป็นข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้ พล.ต.อ.ประชา ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปรายงานต่อ ครม. และจะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อออกเป็นแนวทางในการรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบก่อนทำประชามติภายใน 90-120 วัน ภายหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปหาวิธีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด              

ส่วนแนวทางการทำประชามตินั้น นายวราเทพกล่าวว่า จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 165 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ในมาตรา 9 คือ จะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ มากว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและต้องได้รับการเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้มีผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 46 ล้านคน จึงต้องมีผู้ออกเสียงลงประชามติมากกว่า 23 ล้านคน และต้องได้รับคะแนนประชามติเห็นชอบมากกว่า 11.5 ล้านเสียง จึงถือว่าทำประชามติผ่าน ทั้งนี้ ตนดูแล้วว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเพราะการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจของประชาชนไม่เหมือนกับการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ดูเหมือนถูกบังคับให้มาใช้สิทธิ              

อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อเสนอการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยระบุว่า ตามที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... วาระที่ 1 และวาระที่ 2 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 77 คน และจากการคัดเลือกของรัฐสภา จำนวน 22 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังไม่มีการลงมติในวาระที่ 3 เนื่องจากมีกรณีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหานั้น              

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อศึกษากรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในวาระที่ 3 นั้นได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อแนะนำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว              

อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาจมีความไม่เข้าใจหรือความเห็นว่าควรจะมีการทำประชามติเสียก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้เสนอไว้ในรายงานว่า ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความปรารถนาดี มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ              

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นชอบร่วมกันว่า

1. แม้ว่าการลงมติในวาระที่ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชน 50,000 คนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ประสงค์จะให้มีการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้ คงมีเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552              

2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เกิดข้อยุติ ลดความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะไม่มีการแก้ไขในเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์              

3. รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลในการจัดทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมยิ่งขึ้น              

4. การทำประชามติในครั้งนี้ มีความชัดเจนว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง และเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามตินั้น              

5. ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป              

นายจารุพงศ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง จึงให้ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความปรารถนาดี จึงไม่ใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของ ครม. หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพิ่มเติม การทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน และต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่การดำเนินการเช่นนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดำเนินการไปพร้อมกับการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน               นายจารุพงศ์ยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อลดจำนวนเสียงประชามติ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายแล้วก็ไม่ได้แก้กันพอดี เราเคารพ กติกาจะดำเนินการตามข้อบังคับที่มีหากประชาชนเห็นด้วยก็ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างขึ้นมาจากนั้นค่อยทำประชามติอีกครั้ง และวิธีการทำประชามติให้ได้เสียงประชาชนมา 23 ล้านเสียงนั้น ในส่วนของพรรคร่วมก็ต้องเดินหน้ารณรงค์และมหาดไทยก็มีเวทีสานเสวนาที่มีนักวิชาการและผู้มีความรู้ มาให้ความรู้แก่ประชาชนและไม่ใช่กลไกของรัฐในการเข้าไปช่วยเพราะมหาดไทยมีโครงการนี้อยู่ก่อนแล้ว              

ด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านก็จะไม่แก้ทั้งฉบับ แต่ทั้งนี้เห็นว่ายังสามารถเสนอแก้เป็นรายมาตราได้              

ขณะที่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนรัฐบาล ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.รับข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำไปดำเนินการเรื่องการจัดทำประชามติ ก็จะรับข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการ ซึ่งจะพยายามเสนอเรื่องการจัดทำประชามติเข้า ครม.ให้ได้โดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า              

ทางด้าน นายโภคิน กล่าวถึงกรณีการเสนอแนวคิดให้ลดจำนวนเสียงในการทำประชามติว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว จะยังใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในการเดินหน้าทำประชามติคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ พ.ศ. 2552 ส่วนจำนวนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติทีจะต้องให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง แต่เราก็ต้องรณรงค์อย่างสุดความสามารถให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมมากที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมรัฐบาล ข้อเสนอ ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ลดขัดแย้ง

view