สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สามปัญหาของประเทศ ที่ต้องดีขึ้นในปีหน้า

สามปัญหาของประเทศ ที่ต้องดีขึ้นในปีหน้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เศรษฐศาสตร์บัณฑิตวันนี้ เป็นบทความส่งท้ายปี 2555 ที่เราเริ่มต้นปีด้วยความคลุกคลัก เพราะผลของมหาอุทกภัยน้ำท่วมที่มีต่อเศรษฐกิจขณะนั้น

แต่ปีนี้โดยเปรียบเทียบ พูดได้ว่าเป็นปีที่ดี ที่ผ่านไปด้วยความสบายใจ เพราะเป็นปีที่ค่อนข้างสงบในแง่ความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ดีจากภาวะน้ำท่วม แม้จะไม่เป็นตัววีอย่างที่ทางการหวัง แต่ก็น่าพอใจ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีปัญหามากทั้งปี แต่ที่นักลงทุนจะพอใจมากๆ ก็คือ ราคาสินทรัพย์โดยเฉพาะราคาหุ้นที่ได้ปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ขับเคลื่อนโดยเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ จนราคาหุ้นในบางสาขาธุรกิจดูเหมือนจะดีกว่ามูลค่าหุ้นที่วัดตามปัจจัยพื้นฐาน ประเด็นนี้ทำให้ปีหน้าเราคงต้องระวังมากเรื่องปัญหาฟองสบู่อย่างที่ได้เขียนเตือนไว้หลายครั้ง

แม้ปีนี้เราจะสบายใจ แต่ลึกๆ แล้ว ยังมีปัญหาที่ นักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงคนไทยทั้งประเทศไม่สบายใจ และยังวิตกกังวลมาก เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบถึงความมั่นคงของประเทศในระยะยาว ผมมั่นใจว่าถ้าเราสอบถามนักธุรกิจ และนักลงทุนในประเทศว่าห่วงใยปัญหาอะไรมากที่สุดที่จะกระทบความเป็นชาติ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ ผมคิดว่าคำตอบที่ได้คงไม่หนีสามปัญหานี้ คือ หนึ่ง ปัญหาการเมือง สอง ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สาม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

สามปัญหานี้ไม่ว่าจะเรียงลำดับความสำคัญอย่างไร เราคงเห็นตรงกันว่า เป็นปัญหาที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศไม่สบายใจ และยิ่งไม่สบายใจมากขึ้นที่ในแต่ละปี การแก้ไขปัญหาดูไม่มีความก้าวหน้า ปัญหายังคงอยู่ และในบางลักษณะ เช่น การทุจริตคอร์รัปชันปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่คนไทยทุกคนอยากเห็นและหวังก็คือ ปีหน้าเราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่การจัดการของภาครัฐจะทำให้ทั้งสามปัญหามีแนวโน้มดีขึ้น

ในเรื่องนี้ ประเด็นที่อยากฝากไว้วันนี้ก็คือ ในระดับหนึ่งการเสื่อมถอยของทั้งสามปัญหาสะท้อนความไม่สามารถของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเอกรัฐ หรือ Sovereign state ที่จะจัดการกับปัญหาที่ตัวเองมีอยู่ เมื่อทำไม่ได้ ปัญหาก็ยังอยู่ และนับวันจะรุนแรงขึ้น ทำให้ประเทศจะอ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ และความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากพลวัตของสามปัญหานี้ที่มีต่อกัน คือ

ในแง่ ความมั่นคง ความไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาทำให้สถานการณ์แย่ลง กระทบความสามัคคีของคนในชาติ นำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบ่อย และเปิดโอกาสให้ปัญหาสังคมอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด และการค้าอาวุธ ในแง่ การพัฒนาประเทศ ทั้งสามปัญหาเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ท้ายสุดสำหรับ ภาคธุรกิจและการลงทุน ปัญหาทั้งสามกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และในระยะสั้นสร้างความไม่มีเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบเม็ดเงินที่ภาคเอกชนพร้อมจะลงทุน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ความไม่สามารถแก้ไขหรือจัดการปัญหา มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงและต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ

ในข้อเท็จจริง ประเทศก็คือการอยู่ร่วมกันของคนในชาติที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน ภายใต้กฎหมาย และระบบการปกครองเดียวกัน อยู่กันเหมือนเป็นหน่วยหนึ่งหรือองค์กรหนึ่ง และก็เหมือนองค์กรทั่วไปที่ความไม่สงบหรือความแตกแยกในองค์กรมักเกิดขึ้น เมื่อคนในองค์กรรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรมหรือมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น มีผู้ได้ประโยชน์ มีผู้เสียประโยชน์ และมีผู้ที่พอใจและมีผู้ที่ไม่พอใจ ในกรณีของเรา พูดได้ว่าลึกๆ แล้วทั้งสามปัญหา ส่วนหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกนี้ เริ่มต้นโดยปัญหาการเมืองที่ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกของความไม่เป็นธรรม ที่ได้ถูกตีไข่ใส่ประเด็นจนเป็นประเด็นการเมือง และนำไปสู่การแบ่งแยกของคนในสังคม ในลักษณะเดียวกัน ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจมองได้ว่า เป็นอาการที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ เช่นเดียวกับปัญหาคอร์รัปชันที่มองได้ว่าเป็นผลิตผลของความไม่ยุติธรรม คือ คนที่ทุจริตคอร์รัปชันสามารถร่ำรวยได้ทั้งๆ ที่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีใครพร้อมที่จะทำอะไรหรือลงโทษ ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันยิ่งหนักมือขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจำเป็นด้วยที่ต้องตระหนักและไม่มองข้ามบริบทของความไม่เป็นธรรม ที่อาจซ่อนอยู่ในปัญหาทั้งสาม และถ้าเราไม่ทำหรือไม่สนใจ เราก็จะแตะไม่ถึงรากของปัญหาที่เรากำลังแก้ไข

ตัวอย่างเช่น ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การลดความไม่เป็นธรรม ก็คือ การเอาผิดผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นบุคคลระดับสูงหรือเป็นผู้ใหญ่ของสังคมที่ระบบการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเมือง มักถูกมองว่าไม่กล้าแตะบุคคลเหล่านี้ จะเอาผิดก็แต่กับผู้น้อย อันนี้คือเงื่อนไขของความไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าไม่แก้ การทุจริตคอร์รัปชันก็จะรุนแรงขึ้น เพราะคนระดับสูงเหล่านี้จะยิ่งกล้าโกงมากขึ้น

ในประเทศที่สามารถลดทอนหรือแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ ก็คือ การเอาผิดบุคคลระดับสูงของสังคมที่ทุจริตคอร์รัปชันให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ในกรณีของไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่บุคคลในระดับประธานาธิบดีถูกกล่าวโทษและถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชัน ในเรื่องนี้ประสบการณ์การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในหลายประเทศ ชี้เหมือนกันว่า การเอาผิดบุคคลระดับสูงที่ทุจริตคอร์รัปชัน คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ เพราะจะเปลี่ยนความเชื่อของคนในสังคมว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันแก้ไขได้ มีการเอาผิด มีการลงโทษจริงกับคนทุกระดับ ทำให้สังคมเริ่มกลัวและไม่กล้าคอร์รัปชัน

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลไม่เอาผิดกับคนระดับสูงที่ทุจริตคอร์รัปชัน ความเชื่อของสังคมว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ ก็จะไม่เกิด และเมื่อความเชื่อไม่มี ก็จะไม่มีใครจริงจังกับนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้คอร์รัปชัน

ความเชื่อนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลเอาจริง ซึ่งต้องมาจากผู้นำระดับสูงสุดของรัฐบาลที่ต้องเอาจริงผลักดัน และสั่งการ เหมือนกรณีของไต้หวัน และเกาหลีใต้ และเหมือนที่ขณะนี้ประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียกำลังทำอยู่ ถ้าผู้นำสูงสุดเอาจริง มีการเอาผิดกับคนระดับสูงให้เห็น จุดเปลี่ยนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศก็จะเกิดขึ้น และการแก้ปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ ก็จะตามมา ที่สำคัญความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมในสังคมก็จะลดลง ทำให้สังคมทั้งประเทศพร้อมจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ทุกปัญหามีทางออก ก็หวังว่าข้อสังเกตนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาทั้งสามปัญหาที่สำคัญมากต่อประเทศขณะนี้

สวัสดีปีใหม่ และขอส่งความสุขปีใหม่แด่ผู้อ่านทุกท่าน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สามปัญหา ประเทศ ต้องดีขึ้น ปีหน้า

view