สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเปลี่ยนแปลงการค้า ข้าวไทย ในตลาดโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สุเมธ เหล่าโมราพร ซี.พี.อินเตอร์เทรดฯ

ปัจจุบันการกำหนดระดับราคาข้าวไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระดับราคาข้าวไทยเกิดจากระบบการค้าในตลาดโลก ซึ่งนอกจากเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของสินค้าแล้ว ยังขึ้นกับอำนาจการเจรจาต่อรองในเวทีการค้า

ข้าวโลก ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าข้าวเป็นสินค้า commodity ซึ่งอำนาจของผู้ซื้อมีมากกว่าผู้ขาย


นอกจากนี้ ผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลกมักเป็นลักษณะการซื้อผ่านระบบรัฐบาล อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิรัก เป็นต้น แล้วยังมีผู้ซื้อรายใหญ่ภาคเอกชน ซึ่งเป็น Trading Firm ที่มีฐานจากยุโรป ได้แก่ Louis Drefus, OLAM, Novel เป็นต้น


ระบบการค้าข้าวของไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกข้าวจากครึ่งหนึ่งของผลผลิต เมื่อตลาดเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าข้าวส่งออก ในขณะที่ไทยมีอำนาจการต่อรองราคาน้อย ทำให้ราคาข้าวมีระดับไม่สูงมากนัก ส่งผล
กระทบต่อไปถึงการซื้อข้าวสารในตลาดข้าวไทยก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก และทำให้ต้องกดดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกของไทยอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน


แม้ว่าประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปรากฏว่าชาวนาไทยได้รับรายได้จากการขายข้าวเปลือกได้ไม่สูงนัก และทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ มีน้อยลง เนื่องจากรายได้ไม่เป็นแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ

รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดระดับราคาข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เพื่อผลักดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกซึ่งเป็นต้นน้ำในระบบการค้าข้าวให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้ชาวนามีรายได้พอเพียง และสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ชาวนา


อย่างไรก็ตามเมื่อระดับราคาข้าวเปลือกมีระดับสูงขึ้น ทำให้ระดับราคาข้าวส่งออกของไทยมีระดับราคาสูงกว่าประเทศ
คู่แข่งขันอื่น เช่น เวียดนาม และปากีสถาน นอกจากนี้ประเทศอินเดียที่เคยห้ามการส่งออกข้าวมากว่า 3 ปี ได้ประกาศการยกเลิกการห้ามส่งออกและหันกลับมา


ส่งออกข้าว ซึ่งทำให้ระดับราคาข้าวไทยอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันถึงกว่า 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในประเทศผู้นำเข้าที่คำนึงถึงระดับราคาเป็นปัจจัยสำคัญ นำเข้าจากประเทศคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น และนำเข้าจากไทยลดลง


ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องผนึกกำลังปรับประสิทธิภาพการส่งออกข้าวไทย เพื่อสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันภายใต้โครงการรับจำนำของรัฐบาล ดังนี้


หนึ่ง-ส่งเสริมให้มีการใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ทั้งนี้ข้าวไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพดี แต่ต้องเน้นการทำการตลาดและการสร้างภาพลักษณ์ รวมถึงการให้ความรู้และเพิ่มการบริโภคข้าวไทยให้มีความกว้างขวางมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการใช้กลยุทธ์การตลาดด้านการท่องเที่ยวไทยในตลาดโลกในแคมเปญ Amazing Thailand


สอง-ปรับปรุงงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย โดยกรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีพันธุ์ข้าวใหม่ที่เป็นข้าวไทยมีคุณภาพที่ดี มีผลผลิตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนให้เกษตรกร


สาม-ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกในรูปแบบ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อเป็นการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี อันจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การให้สารป้องกันแมลงอย่างถูกวิธี ตลอดจนถึงการจัดการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิผล โดยจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ทำงานอย่างเต็มที่


สี่-ส่งเสริมการใช้ระบบสหกรณ์เพื่อควบรวมพื้นที่ โดย เกษตรกรสามารถรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์และจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม กับการใช้เครื่องจักรเครื่องมือการเพาะปลูกให้มีความคุ้มค่า รวมถึงการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และการปฏิรูปรูปแบบการทำนาให้มีรูปธรรมและจริงจังมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับเกษตรกร เนื่องจากระบบสหกรณ์จะทำให้สามารถจัดสรรระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการในการพัฒนาพื้นที่นาได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น ระบบชลประทาน สำหรับตัวอย่างที่ดีของการใช้รูปแบบสหกรณ์ ได้แก่ อุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งประสบความสำเร็จจากการวางแผนแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอ้อยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การนำชานอ้อยทำบรรจุภัณฑ์ นำกากน้ำตาลทำแอลกอฮอล์ จึงควรนำรูปแบบมาประยุกต์ใช้กับระบบสหกรณ์ข้าวของไทย ที่ควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำการเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


ห้า-ส่งเสริมให้การใช้นโยบายรับจำนำอย่างโปร่งใส โดยโครงการรับจำนำข้าวนี้รัฐบาลต้องรับภาระเรื่องสต๊อกข้าว ดังนั้นระบบการบริหารคลังสินค้าข้าว การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพข้าวต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนี้รัฐต้องหาวิธีการระบายข้าวที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการอย่างมืออาชีพและมีความโปร่งใส รวมทั้งการจัดเก็บสินค้าข้าวเพื่อเป็นคลังสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อสามารถขับเคลื่อนให้ระบบการค้าข้าวไทยเป็นไปดังที่กล่าว ซึ่งภาครัฐมีบทบาทกำหนดแนวทางหลัก จะส่งผลให้เกิดผลประโยชน์แก่ประเทศอย่างเต็มที่


ไทยก็ยังคงสถานะของการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวคุณภาพที่ดีและมีมูลค่า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเปลี่ยนแปลงการค้า ข้าวไทย ตลาดโลก

view