สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา

ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




แม้ว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา จะสามารถบรรลุข้อตกลงเป็นการชั่วคราวกับสภาคองเกรสในการคลี่คลายวิกฤตหน้าผาทางการคลัง

ในวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมาได้ ซึ่งเป็นการพบกันครึ่งทางในการยืดระยะการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำกว่า 450,000 ดอลลาร์ต่อปี รวมทั้งให้รัฐบาลสามารถเพิ่มการใช้จ่ายตามเพดานหนี้ต่อออกไปอีกเป็นเวลา 2 เดือนจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ก็มีเงื่อนเวลาที่หลังจากนั้นจะต้องมีการเจรจาในการปรับลดการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะลงเพื่อให้หนี้สาธารณะลดลงมาอยู่ในระดับที่ยั่งยืน

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่จบสิ้นไป เพราะยังมีปัญหาใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังเนื่องจากหนี้สาธารณะกำลังจะชนเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะชนเพดานหนี้ภายในเดือนมกราคมนี้ จึงจะมาพูดถึงเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาที่จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2011 มาแล้ว จนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อตลาดเงินตลาดทุนไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้อีกรอบหนึ่งในเดือนมีนาคมนี้

การเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่ทำได้และเป็นอำนาจของสภาคองเกรสในการควบคุมการก่อหนี้ของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งนับตั้งแต่ ค.ศ. 1944 เป็นต้นมาได้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของทางการสหรัฐอเมริกาแล้วรวมถึง 104 ครั้ง ทั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 94 ครั้งและปรับลดลง 10 ครั้ง โดยมีการปรับขึ้นมากที่สุดในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน รวมจำนวน 18 ครั้ง ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และประธานาธิบดีลินคอน จอห์นสัน จำนวน 10 ครั้งเท่ากัน สำหรับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้มีการขอปรับเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วรวม 6 ครั้ง

หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นมาโดยต่อเนื่องภายหลังที่เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2551 (ค.ศ. 2008) ที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากมาตรการที่ต้องนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 70% ของ GDP มาอยู่ที่ระดับ 105% ของ GDP ในปัจจุบัน ทำไมรัฐสภาหรือสภาคองเกรสจึงมีเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการปรับลดหนี้สาธารณะนี้ลง โดยมีแผนจะปรับลดหนี้สาธารณะ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2012) ซึ่งการปรับลดเพดานหนี้จะโดยการลดการขาดดุลงบประมาณลงโดยการลดรายจ่ายหรือการเพิ่มรายได้ด้วยการปรับเพิ่มภาษี

แต่ในขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะในระดับที่เป็นอยู่ เป็นระดับสูงที่เป็นอันตรายและท้าทายต่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ เพราะระดับหนี้สาธารณะที่สูงถึง 105% ของ GDP หมายถึงว่าระดับหนี้ที่มีอยู่น้อยกว่าความสามารถที่จะหารายได้ขึ้นมาใหม่ ที่พูดให้ง่ายก็คือภาวะหนี้สินที่สูงเกินกว่าจะสามารถหาเงินมาชดใช้คืน ถ้าเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือหรือจะถูกเรียกคืนหนี้ หรือประสบกับภาวะล้มละลายที่ตราสารทางการเงินของประเทศไม่ได้รับความเชื่อถือ ดังเช่นประเทศกรีซหรือประเทศไทยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ. 2540-2541 แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ที่ยังสามารถออกพันธบัตรหรือการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้จุนเจือการใช้จ่ายที่เกินเกินตัว ที่แม้จะไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง มีเพียงการเตือนเพราะหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกจุนเจือด้วยการออกพันธบัตรของรัฐบาลที่เรียกว่า the treasury ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของพันธบัตรสหรัฐอเมริกาถูกถือโดยต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2012 พันธบัตรของสหรัฐอเมริกาที่ถือโดยต่างประเทศมีมูลค่ารวม 5.455 ล้านล้านดอลาร์ ประเทศจีนถือสูงสุดจำนวน 1.155 ล้านล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นอีกประมาณ 1.131 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ดังนั้น การลดลำดับความน่าเชื่อถือจึงไม่เป็นผลดีต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและตลาดเงินโดยรวม

หนี้สาธารณะของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาจะยังมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการคลังที่ไม่สามารถจะใช้มาตรการใช้จ่ายจำนวนมากๆ ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป รวมไปถึงการที่จะยังต้องคงดอกเบี้ยไว้ในอัตราที่ต่ำ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นภาระต่อรัฐบาลในการจ่ายคืนดอกเบี้ย

ปัญหาหนี้ของสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรป น่าจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่พึงต้องระมัดระวังกับการก่อหนี้ ประเทศไทยเองนั้นภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 556,000 ล้านบาทหรือเพิ่มจากร้อยละ 40.24 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 43.27 ของ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจากโครงการประชานิยม และอยากให้พึงระลึกเสมอว่าหนี้เป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้ซึ่งต้องชดใช้คืน ไม่ควรก่อหนี้เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจจะเป็นภาระและสร้างความเดือดร้อนของลูกหลานในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหาหนี้สาธารณะ สหรัฐอเมริกา

view