สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชิงเค้กลงทุนน้ำ 3 แสนล้านชี้ขาดกันที่ ค่าคอมม์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/จตุพล สันตะกิจ

“ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งกับการตัดสินคัดเลือกว่ากลุ่มบริษัทไหนจะได้โครงการน้ำ 3 แสนล้านบาท”

เป็นคำพูดที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมายืนยันหลังเสนอรายชื่อ 3 กลุ่มบริษัทต่อ 1 แผนงาน ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนระบบน้ำ 10 แผนงานภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ปลอดประสพ ชี้แจงว่า ฝ่ายการเมืองจะถอยออกมาเป็น “ผู้คุม” ระดับนโยบายเท่านั้น ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างขอมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการคือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดย ปลอดประสพ ได้มอบหมายให้ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีกรรมการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการปกติ

“ไม่มีการใช้วิธีพิเศษ ไม่มีการลัดขั้นตอนไม่มีการวิ่งเต้น” ปลอดประสพ ย้ำ

แต่ในความจริงกลับกลายเป็นว่าการจัดทำร่างทีโออาร์ประมูลโครงการน้ำทั้ง 10 แผนงาน เช่น สร้างอ่างเก็บ การจัดผังการใช้พื้นที่ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานหรือแก้มลิง ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก สร้างฟลัดเวย์ และระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำ

ปลอดประสพ ยังคงมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดร่างทีโออาร์อยู่แน่นอน

“ร่างทีโออาร์จะบอกชัดเจนว่าเราจะมีโครงการก่อสร้างอะไรบ้าง พื้นที่ไหน เช่น เขื่อนลุ่มน้ำยม ฟลัดเวย์ ซึ่งร่างทีโออาร์ที่จะทำเสร็จใน 2 สัปดาห์ และเราจะเปิดเผยต่อสาธารณชนทั้งหมดหากบริษัทเสนอเทคนิคที่ดีที่สุด จะใช้เวลาสร้างเร็วที่สุดอย่างช้าไม่เกิน 5 ปี และเสนอราคาต่ำสุดก็จะได้งานไปทำ” ปลอดประสพ ตอกย้ำ

เมื่อพิจารณาจากคำชี้แจงของปลอดประสพ จะพบว่ามี “กุญแจ” ที่ทำให้กลุ่มบริษัทที่มีโอกาสชนะการประมูลอยู่3 ปัจจัย

1.เทคนิคการก่อสร้างและการออกแบบดีที่สุด 2.ระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จสั้นที่สุดแต่ไม่เกิน 5 ปี และ 3.เสนอราคาก่อสร้างต่ำที่สุด และมีเงื่อนไขพ่วงท้ายด้วยว่า หากบริษัทในกลุ่มถอนตัวกลางคันจะถูกตัดสิทธิทั้งกลุ่มบริษัท

ทว่า ในความเป็นจริงที่ยอมรับกันในหมู่ผู้เสนองานว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การคว้างานลงทุนน้ำที่สำคัญเหนือกว่าเงื่อนไข 3 ข้อ ที่ ปลอดประสพ บอกก็คือ “คอมมิชชัน” โครงการ หรือเรียกภาษาคอร์รัปชันว่า “เงินทอน”นั่นเอง

เพราะต้องไม่ลืมว่า การลงทุนประเภทโครงสร้างพื้นฐานอย่างการก่อสร้างมีเงินทอนทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน คันกั้นน้ำ ถนน ประตูน้ำ ระบบระบายน้ำ ซึ่งใช้เทคโนโลยี “ไม่สลับซับซ้อน” แต่อย่างใด และโครงการพวกนี้เป็นโครงการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาไทยถนัดกันอยู่แล้ว

ต่างกันก็แค่ใครจะวางระบบจัดการที่ดีที่สุดในสายตา “คนตัดสิน”

และว่ากันว่ามีเงินทอนลงทุนน้ำจะไม่น้อยกว่า 2530%

ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้อ้างกันลอยๆ เพราะศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการภาครัฐ 2,400 ราย โดยกลุ่มสำรวจ 76.9% ที่เป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐระบุว่า จะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ ได้สัญญา

โดยเฉพาะผู้ประกอบการ 38.5% ระบุว่า จ่ายมากกว่า 25% ของรายรับจากสัญญามีเพียง 7% ระบุว่า “ไม่จ่าย”

งานนี้จึงหนีไม่พ้นที่จะมีข้อครหาการวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ งาน แต่จะวิ่งไปที่ไหนบ้าง กลุ่มบริษัทผู้รับเหมามีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะวิ่งสายตรงต่อ “นายใหญ่” หรือไม่ก็วิ่งผ่าน “เจ๊ ด.” ผู้มากบารมี โดยเฉพาะรายหลังว่ากันว่า วันนี้แทบจะเชิด ปลอดประสพ ให้ “ซ้ายหันขวาหัน” ไม่ต่างจากการกดรีโมต

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย “ทางการเมือง” ของ ปลอดประสพ การคัดเลือกขั้นสุดท้ายบริษัทที่จะมาลงทุนโครงการน้ำ จึงตกอยู่ในมือข้าราชการประจำที่มีภาพลักษณ์มือใสสะอาดอย่าง ธงทอง

แต่ก็เช่นกัน ต้องถามกลับไปว่า ธงทอง มีความรู้ความเชี่ยวชาญการลงทุนระบบน้ำมากเพียงไหน คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะ ธงทอง เป็นเพียงนักกฎหมายอาชีพ การแบ่งชิ้นเค้กลงทุนน้ำจึงอยู่ในการควบคุมฝ่ายการเมืองอยู่ดี

เพราะได้มีการ “ล็อก” กลุ่มบริษัทที่มีโอกาสได้งานลงทุนน้ำแต่ละแผนงานอยู่แล้ว เพียงแต่สลับรายชื่อให้ “คละกัน” ในแต่ละแผนงานภายใต้ 10 แผนงาน (โมดูล)

กลุ่มบริษัทที่เข้าชิงรอบสุดท้ายมี 6 กลุ่มบริษัท คือ 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (KWater) จากเกาหลีใต้ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.กลุ่มกิจการค้าร่วม ไทยญี่ปุ่น 4.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV 5.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ และ 6.กลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

แต่หากวัดกันที่ฝีมือ ประสบการณ์และความพร้อม พบว่า “เต็งจ๋า” มาแน่ ไม่แคล้ว 2 กลุ่มบริษัท คือ บริษัท โคเรีย วอเตอร์รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (KWater) และกลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV เพราะเข้าร่วมชิงทั้ง 10 แผนงาน ส่วนบริษัทที่เหลือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นไม้ประดับหรือคู่เทียบให้ครบ 3 กลุ่มบริษัทต่อ 1 แผนงานเท่านั้น

“บริษัท KWater ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งในรอบแรก เพราะมีเทคนิคการออกแบบดีที่สุด มีการนำระบบดาวเทียมมาใช้ในการสำรวจและออกแบบทั้งหมด ขณะที่กลุ่ม ITDPOWERCHINA JV ที่เสนอกรอบแนวคิดแบบพื้นๆ แต่บริษัทในกลุ่มมีกำลังคนและประสบการณ์มากที่สุด เรียกได้ว่าระดมแรงงานนับแสนคนเพื่อลงมือทำงานได้ทันที” แหล่งข่าว กบอ.ระบุ

แต่เมื่อพิจารณารายชื่อบริษัทใน 2 กลุ่มบริษัทในกลุ่มเต็งจะพบว่า กลุ่ม ITDPOWERCHINA JV น่าจะมีภาษีดีที่สุด เพราะบริษัทในกลุ่มมี 2 บริษัทไทยที่เป็นยักษ์ก่อสร้างไทยคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ ที่มีประสบการณ์รับเหมางานก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศหลายแสนล้านบาท

และมีบริษัทจีนอีก 3 แห่งที่อยู่ในกลุ่ม คือ บริษัทพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่าบริษัท ไชน่า เก๋อโจวบำ กรุ๊ป และบริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ แอนด์ พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น ต่างก็มี “เส้นสาย” พอตัว และน่าจะเกื้อหนุนเกี่ยวกับเทคนิคก่อสร้างระบบน้ำในต้นทุนต่ำได้

นอกจากนี้ หากเอ่ยถึงบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ต้องผูกโยงไปยังเมกะโปรเจกต์ทวายที่รัฐบาลไทยกำลังปลุกปั้นให้สำเร็จ ในขณะที่วันนี้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ถือสัญญาโครงการทวายอยู่ อาจเป็นเงื่อนปัจจัยที่ทำให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีอำนาจต่อรอง โดยยอมถอยก้าวหนึ่งแลกกับการคว้างานโครงการลงทุนระบบน้ำก็เป็นได้

แต่ KWater ที่แม้ว่าจะได้คะแนนอันดับหนึ่งในการคัดเลือกรอบแรก คงต้องเหนื่อยกันทีเดียว เพราะแม้จะเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจากเกาหลีใต้ มีวิศวกรกว่า 200 คนที่พร้อมเข้ามาทำงาน แต่ติดปัญหาที่มีไม่มีบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศมาร่วมในกลุ่มเลย หรือเรียกได้ว่า “มาเดี่ยว แต่ยื่นครบทุกแผน”

ในขณะที่กลุ่มรองๆ ที่น่าจะต้องวิ่งกันสุดกำลัง หากจะให้ได้เค้กก้อนนี้ก็หนีไม่พ้น กลุ่มกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ ที่มีบริษัท ช.การช่าง ของเจ้าพ่อรับเหมาอย่าง ปลิว ตรีวิศวเวทย์ กุมบังเหียนใหญ่ และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนใหญ่คนโตในรัฐบาลไม่น้อยก็มีสิทธิได้งาน

เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ ที่มีบริษัทในกลุ่ม 2 บริษัท คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ และบริษัท เอจีที อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ที่วิ่งกันเหนื่อยตั้งแต่รอบแรกๆ ก่อนสามารถอุทธรณ์กระทั่งผ่านเข้ามาเป็น 1 ใน 8 บริษัทจนได้

ฉายภาพกันคร่าวๆ อย่างนี้ คงบอกได้ว่าไม่ใช่แค่ “เก่ง” อย่างเดียวใช่ว่าจะคว้างานคว้างบลงทุนน้ำ ยังมีเงื่อนไขชี้ขาดอื่น เช่น วิ่งเก่ง จ่ายหนัก และต่อสายระดับบิ๊กๆ ได้

ถ้ามีเงื่อนไขอย่างนี้รับรองหายห่วง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชิงเค้ก ลงทุนน้ำ 3 แสนล้าน ชี้ขาดกัน ค่าคอมม์

view