สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลัง vs ธปท. สอนมวยหรือเรียนรู้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม


ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นอีกหนึ่งวาระของประเทศ ที่ตลาดกำลังจับตาดูผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ว่า คณะกรรมการที่มีตัวแทนจากคนในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 3 คน และคนนอก ธปท.อีก 4 คน จะร่วมกันตัดสินชะตาของอัตราดอกเบี้ย นโยบายตามความกดดันของกระทรวงการคลังหรือไม่ อย่างไร

แม้ว่า ความพยายามแทรกแซง ธปท. ในเวลานี้ จะมีเป้าหมายเบื้องต้นให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 2.75% เพื่อลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐที่มีอยู่กว่า 2.50% ซึ่งเหตุผลของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะลดแรงดึงดูดเม็ดเงินที่กำลังไหลทะลักเข้าประเทศไทย จนค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

หากจะปักธงไว้ว่าเป้าหมายหลัก คือ การลดเงินทุนไหลเข้าแล้ว บรรดานักเศรษฐศาสตร์หรือผู้มีส่วนรับผิดชอบต่างก็รู้ดีว่า วิธีการหรือเครื่องมือที่ใช้สกัดกั้นเงินทุนมีหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งเครื่องมือที่อยู่ในมือของธปท.และเครื่องมือที่อยู่ในมือกระทรวงการคลังเองด้วยซ้ำ และแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลจริง แต่นั่นไม่ใช่เหตุปัจจัยทั้งหมด

เมื่อประกอบกับประเด็นเรื่องผลขาดทุนในบัญชีการธนาคารกว่า 5.3 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายสุดท้ายที่ผู้มีอำนาจในและนอกประเทศต้องการคือการหาเหตุปลด “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการแบงก์ชาติจากตำแหน่ง!!

ในประเด็นเรื่องผลขาดทุนนี้เอง ดร.ประสารได้ยืนยันว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องรบกวนเงินงบประมาณของรัฐบาล หรือเงินภาษีประชาชนเพื่อมาชดเชยผลการขาดทุน และการขาดทุนดังกล่าวเกิดขึ้นในปลายประเทศ แม้กระทั่งสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย แต่เมื่อรวมบัญชีเงินตราที่มีกำไรกว่า 8 แสนล้านบาทแล้ว เท่ากับว่างบดุล ธปท.ไม่ได้ติดลบ

ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองที่พุ่งเป้ามายังธปท.ในเวลานี้ กลับมีผลงานที่ล้มเหลวของกระทรวงการคลังผุดขึ้นมาไม่น้อย ทั้งผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือล่าสุดโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มมียอดหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการขาดส่งค่างวดเกิน 3 เดือนเข้ามาแล้ว ประมาณกว่า 10 ราย แม้จะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยจากยอดรถในโครงการกว่า 7 หมื่นคัน แต่ระยะเวลาโครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นไม่ทันไร ก็เริ่มส่งกลิ่นแล้ว

ขณะเดียวกัน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2 แห่ง ที่สถานะง่อนแง่นเต็มที ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่มีหนี้เสียประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 40% ของหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 9.7 หมื่นล้านบาท มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ติดลบ 0.95%

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มีหนี้เสีย 2.47 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 22.5% ของสินเชื่อรวม และหากวัดตามเกณฑ์ของ ธปท. เท่ากับว่าไอแบงก์จะมีเอ็นพีแอล 3.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 30% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.6% ต่ำกว่าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 8.5% สถานะดังกล่าวกดดันให้เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องการเงินเพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท ส่วน ไอแบงก์ ต้องการ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

หนอนเน่าที่โผล่ขึ้นมาทีละตัวกำลังฟ้องถึงความหละหลวมของกระทรวงการคลังใช่หรือไม่

ถ้าใช่คำถามคือถึงเวลาหรือยังที่ต้องกลับมาทบทวนงานในมือของตัวเอง ก่อนจะไปล้วงลูกความรับผิดชอบของผู้ที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินอย่างธปท. เพราะผลงานหลายอย่างของ ธปท.พิสูจน์มาแล้ว เช่น ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับของธปท.ที่มีเงินกองทุนสูงถึง 15-16% เอ็นพีแอลทั้งระบบ 2-3% และธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิในปี 2555 กว่า 1.7 แสนล้านบาท ทั้งที่ภาวการณ์แข่งขันในระบบสถาบันการเงินถูกบิดเบือนจากธนาคารรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังที่ใช้แบงก์รัฐเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายประชานิยมนั่นเอง

ก่อนที่ปัญหาในแบงก์รัฐจะลามมาที่แบงก์พาณิชย์จนเกิดปัญหาขึ้นทั้งระบบ บางที...อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเรียนรู้งานบริหารสถาบันการเงินจาก ธปท. ซะทีก็คงดีไม่น้อย ส่วนการดูแลเงินทุนไหลเข้าออกนั้น ทั้ง ธปท.และกระทรวงการคลัง ควรร่วมกันคิดร่วมกันทำตามกำลังที่มี

เพราะว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ควรอยู่ในน้ำมือของใครคนใดคนหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลัง vs ธปท. สอนมวย เรียนรู้

view