สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อียูจะเจรจาความตกลงเพื่อเปิดเสรีการค้าภาคบริการ

อียูจะเจรจาความตกลงเพื่อเปิดเสรีการค้าภาคบริการ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อียูเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ “Really Good Friends of Services” ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation - WTO)
21 ประเทศที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ โดยกลุ่มประเทศ “Really Good Friends of Services” ได้ตกลงว่าจะเปิดการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ว่าด้วยการค้าภาคบริการ ลักษณะ “plurilateral” ประมาณกลางปี 2556 นี้

กลุ่ม “Really Good Friends of Services” ถือเป็นการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของประเทศสมาชิก WTO (บางประเทศ ไม่ครบทุกประเทศ) จำนวน 21 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ชีลี ไทเป โคลัมเบีย คอสตาริก้า อียู ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ปากีสถาน ปานามา เปรู สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และสหรัฐฯ ที่ต้องการเดินหน้าการเปิดเสรีการค้าสาขาบริการ โดยการเจรจาฯ ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่ความตกลงดังกล่าวมีลักษณะยืดหยุ่นกล่าวคือในระหว่างการเจรจาฯ หรือหลังการเจรจาฯ หากมีประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ที่พร้อมและสนใจก็สามารถเข้าร่วมได้

ความตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการค้าภาคบริการที่กลุ่ม “Really Good Friends of Services” จะร่วมกันเจรจาครั้งนี้ มุ่งครอบคลุมการค้าภาคบริการทุกสาขา ไม่ว่าการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการเงิน (รวมการธนาคารและประกันภัย) และการบริการทางธุรกิจอื่นๆ และครอบคลุมทุก Mode of Supply โดยประเทศที่ร่วมเจรจาสามารถเลือกได้ว่าในสาขาใดและในระดับใดที่ตนจะเปิดเสรีให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการในเขตอาณาของประเทศตน

นอกจากนั้น ความตกลงฯ ยังจะครอบคลุมการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ สำหรับภาคบริการ อาทิเช่น การมีผู้กำกับดูแลอิสระ กฎเกณฑ์ท้องถิ่น (ที่เกี่ยวกับการให้อนุญาตและการออกใบอนุญาตต่างๆ) นอกจากนั้น ยังจะรวมกฎเกณฑ์ใหม่ๆ สำหรับสาขาโทรคมนาคม การเงิน และการไปรษณีย์และการขนส่ง E-commerce บริการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การโอนถ่ายข้อมูลระหว่างประเทศ เป็นต้น

อียูเน้นว่าความตกลงฯ นี้ไม่ได้มีรูปแบบเป็นความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟ ที เอ ธรรมดาที่เน้นการเปิดตลาดการค้าภาคบริการระหว่างกลุ่มประเทศที่ร่วมเจรจาและได้ตกลงกันเท่านั้น แต่มุ่งการสร้างบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับการค้าภาคบริการในระดับสากล โดยอียูและกลุ่มประเทศ “Really Good Friends of Services” จะเจรจาความตกลงฯ ที่สอดรับกับความตกลง General Agreement on Trade in Services - GATS ของ WTO และหวังว่าประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ จะค่อยๆ ทยอยเข้าร่วมเป็นภาคีต่อไป และท้ายที่สุดความตกลงดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่ระบบของ WTO ในอนาคต

อาจมองได้ว่าการเจรจาความตกลงเพื่อเปิดเสรีภาคบริการของกลุ่ม “Really Good Friends of Services” ดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการขับเคลื่อนการเปิดเสรีภาคบริการ ที่มาใช้แทนการเจรจารอบ Doha หรือ DDA ในกรอบ WTO ที่หยุดชะงักมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี อียูย้ำว่ามิได้ละทิ้งหลักการและพันธกรณีใน WTO แต่ความตกลงฉบับนี้จะเป็นการผลักการเจรจารอบ Doha ให้เดินหน้าต่อไป โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศที่พร้อมจะเดินหน้าไปก่อน

การค้าภาคบริการในระหว่างกลุ่ม “Really Good Friends of Services” 21 ประเทศนี้คิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของการค้าภาคบริการโลก สำหรับอียู การค้าภาคบริการเป็นสาขาที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการช่วยสร้างงานและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรป โดยภาคบริการคิดเป็นกว่า 3 ใน 4 ของ GDP ของอียู และคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการค้าภายในอียูทั้งหมด ที่สำคัญ หากมองเรื่องการลงทุนหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ของอียูนับเป็นการลงทุนในสาขาบริการประมาณร้อยละ 70

ในส่วนของอียูมีความคืบหน้าคือเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยื่นขออาณัติจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเพื่อเปิดเจรจาความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ว่าด้วยการค้าสาขาบริการดังกล่าวแล้ว คงต้องติดตามดูกันต่อไปคณะมนตรีที่ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศจะให้ไฟเขียวกับการเดินหน้าการเจรจานี้หรือไม่ และที่สำคัญที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่ตั้งของ WTO นั้น อียูและกลุ่ม “Really Good Friends of Services” จะสามารถโน้มน้าวสมาชิก WTO อื่นๆ ให้เข้าร่วมการเจรจาได้จำนวนมากน้อยเพียงใด และการเจรจาจะไปได้ราบรื่นแค่ไหน เพราะการค้าภาคบริการก็เป็นสาขาที่มีความอ่อนไหวมากสำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศไทยก็เป็นสมาชิก WTO และมีพันธกรณีในการเปิดเสรีภาคบริการผ่านความตกลง GATS ของ WTO ซึ่งในแต่ละสาขาภาคบริการ และ Mode of Supply ไทยมีระดับการเปิดเสรีให้แก่ผู้ให้บริการต่างชาติแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างภาคบริการทางการเงิน ไทยมีความก้าวหน้าในการเปิดเสรีและปฏิรูปภาคบริการทางการเงินไปมาก ผ่านแผนพัฒนาระบบสถาบันทางการเงิน (FSMP) ทั้งในระยะแรก (พ.ศ. 2547 - 2550) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างและเสริมสร้างศักยภาพของภาคการบริการทางการเงินของไทย และแผน FSMP II (พ.ศ. 2553-2557) ซึ่งส่งเสริมการเปิดเสรีและการแข่งขันในภาคดังกล่าวมากขึ้น ทำให้มีธนาคารต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยและมีระดับการแข่งขันมากขึ้น เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ธุรกิจธนาคารทั้งไทยและต่างชาติก็แข่งกันให้บริการที่ดีขึ้น ซึ่งผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภคชาวไทยที่ได้รับบริการด้านการธนาคารที่ดีขึ้นและราคาต่ำลง

สำหรับภาคบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัย โทรคมนาคม หรือการบริการทางธุรกิจอื่นๆ ไทยก็มีระดับการเปิดเสรีให้ผู้ให้บริการต่างชาติเข้าไปในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งควรจะเป็นไปตามพันธกรณีที่ไทยมีไว้ใน WTO

ในขณะที่อียูกำลังเร่งเดินหน้าการเปิดเสรีภาคบริการผ่านเวทีระหว่างประเทศและการเจรจาความตกลงอื่นๆ จึงน่าสนใจว่าในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟ ที เอ ระหว่างไทยกับอียูที่อาจมีขึ้นในไม่ช้า อียูจะผลักดันการเปิดเสรีภาคบริการกับไทยไปในทิศทางใด และจะมีข้อเรียกร้องในการเพิ่มพันธกรณีให้มากไปกว่าที่ไทยได้ให้ไว้ในความตกลง GATS หรือไม่ โดยอาจใช้ความตกลงที่อียูกำลังเจรจากับกลุ่ม “Really Good Friends of Services” เป็นต้นแบบ ทั้งนี้ ไทยและอียูจึงควรหาโอกาสพูดคุยเพื่อหาประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายในการเปิดเสรีภาคบริการ เพราะเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการคงเป็นเรื่องหนึ่งที่อียูให้ความสำคัญในการเจรจาเอฟ ที เอ ระหว่างสองฝ่ายเป็นแน่

พร้อมๆ กันนั้น ที่ WTO ไทยก็คงต้องติดตามดูท่าทีประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ว่าจะหันมาร่วมเจรจาการเปิดเสรีภาคบริการผ่านความตกลงฉบับใหม่ของกลุ่ม “Really Good Friends of Services” จำนวนมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญ อียูและกลุ่ม “Really Good Friends of Services” จะโน้มน้าวและผลักดันความตกลงดังกล่าวเข้าสู่ระบบ WTO อย่างที่หวังไว้ได้จริงหรือไม่ แต่คงต้องใช้เวลา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อียู เจรจาความตกลง เปิดเสรีการค้า ภาคบริการ

view