สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสานมาเลเซียดับไฟใต้ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ที่ล่วงเข้าปีที่ 9 กำลังเข้าสู่จุดสำคัญที่ต้องจับตาอีกครั้งหนึ่ง จากการรุกทางการเมืองของรัฐบาล โดยเตรียมประกาศใช้มาตรการให้ผู้ก่อความไม่สงบสมัครใจรายงานตัว ยุติการก่อความรุนแรง ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ล่าสุดในวันนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย และหารือกับ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยรายละเอียดประเด็นการหารือกับมาเลเซีย ว่า ฝ่ายมาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ไทยได้พบและหารือกับแกนนำผู้ก่อความ ไม่สงบ ไม่ใช่เป็นตัวกลาง ฝ่ายไทยมีรายชื่อแกนนำที่อยากจะพูดคุยด้วยระดับหนึ่งแล้ว มีประมาณ 45 กลุ่ม ในจำนวนนี้มี มะแซ อุเซ็ง และ สะแปอิง บาซอ รวมอยู่ด้วย

นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ก็มีการหารือพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในขบวนการก่อความไม่สงบมาโดยตลอด เดินหน้าไปได้บ้าง ยุติลงบ้างในบางช่วงตามนโยบายทางการเมืองของแต่ละรัฐบาล

แต่ฝ่ายความมั่นคงของไทย เน้นมาตลอดว่า การหารือพูดคุยทำความเข้าใจนี้ไม่ใช่การเจรจา เพราะไม่ต้องการให้ขบวนการก่อความไม่สงบยกสถานะขึ้นมาเท่าเทียมกับรัฐบาลไทย ซึ่งจะทำให้มีฝ่ายที่ 3 ซึ่งอาจเป็นรัฐบาลบางประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นปัญหาภายใน

สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการพูดคุยหารืออย่าง เด่นชัด เห็นได้จากนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ซึ่งระบุถึงการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

ที่ผ่านมาตัวแทนรัฐบาลไทยทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้พบปะหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยมาแล้วหลายครั้ง

รวมทั้งมีกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประชุมลับกับแกนนำขบวนการ 17 คนที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อช่วงต้นปี 2555

เมื่อการประสานและปูทางทุกด้านเรียบร้อย ก็ถึงคราวที่ผู้นำไทยและมาเลเซียจะได้พบและหารือกันอย่างเป็นทางการ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองกรณีที่เกิดขึ้นอย่างกังวล ว่า อาจมีการไปทำข้อตกลงบางอย่าง เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อและหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค.นี้

ขณะที่ ถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคใต้ และอดีต รมช.มหาดไทย ฟันธงเปรี้ยงว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรให้การรับรองใดๆ ที่จะให้ฝ่ายที่ 3 หรือชาติที่ 3 มาเป็นตัวแทนหรือตัวกลางในการประสานงานเจรจาระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มผู้ก่อการ

ถาวร มองท่าทีของมาเลเซียอย่างกังขาว่า ผู้ก่อความไม่สงบมักหลบหนีไปมาเลเซีย และบางหน่วยงานของมาเลเซียยินยอมให้คนเหล่านี้หลบซ่อน โดยให้มารายงานเป็นระยะ เท่ากับว่ารัฐบาลมาเลเซียรู้เห็นเป็นใจ และทราบดีว่ามีผู้ก่อการในไทยไปหลบซ่อนเป็นจำนวนมาก

“หากมาเลเซียจริงใจก็ขอให้มอบตัว สะแปอิง บาซอ และ มะแซ อุเซ็ง 2 แกนนำให้กลับมาดำเนินการทางกฎหมายในประเทศไทย ตรงนี้จะเป็นจุดพิสูจน์ความจริงใจ” ถาวร สรุปเปรี้ยงถึงจุดตายของรัฐบาลมาเลเซีย เพราะหนึ่งในความต้องการของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ คือ การพบปะพุดคุยกับแกนนำทั้งสองคนในมาเลเซีย

เมื่อรัฐบาลเดินเกมการเมืองเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ของ รัฐบาล ก็มีหลายฝ่ายที่พร้อมจะเล่นตาม รัฐบาลพรรคอัมโนของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ก็ย่อมหวังผลในทางการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้

ล่าสุดการออกมาปรากฏตัวอีกครั้งของ กัสตูรี มะห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล ก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางจังหวะในช่วงเวลาที่ผู้นำไทยและมาเลเซียกำลังจะพบกัน เพราะตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ของไทย ก็เคยพบปะหารือกับพูโลมาแล้วหลายครั้ง แต่พูโลก็ถูกตัดออกไปจากกระบวนการพูดคุย เพราะรัฐไทยไม่เชื่อว่ามีศักยภาพคุมกองกำลังที่ก่อเหตุ

ด้านขบวนการ “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงไทย เชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบ ไม่เคยที่จะปรากฏตัวเผยโฉม หรือยื่นข้อเสนอใดๆ

ประเด็นที่น่าจับตาในการพบกันของผู้นำไทยและมาเลเซีย คือ การอำนวยความสะดวกให้ไทยได้พบกับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น จะเป็นการพบกับ “ตัวจริง” ที่กุมอำนาจสั่งการก่อเหตุในพื้นที่ได้จริงหรือไม่

และตัวจริงนั้นยอมรับการหารือพูดคุยหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปศึกษาแนวคิดผู้ก่อความไม่สงบ จากเอกสาร “เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี” หรือการต่อสู้ที่ปัตตานี ซึ่งพบในศพของผู้ก่อเหตุในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งสรุปแนวคิดการต่อสู้ได้ว่ายึดหลัก

1.ต้อง คือ ใช้ ญิฮาด เป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อปัตตานี

2.ไม่ คือ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา ไม่หนี ไม่มอบตัว ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ และไม่เอาระบบรัฐสภา (ต้องการใช้กฎหมายอิสลาม)

3.ผล คือ ชัยชนะ พ่ายแพ้ และสืบทอดภารกิจให้ชนรุ่นต่อไป

หมายความว่า กองกำลังที่ก่อเหตุในพื้นที่ เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการบ่มเพาะ เตรียมการใช้ศาสนาอิสลามที่ตีความแบบสู้รบ บวกประวัติศาสตร์ชาตินิยม ฝังแนวคิดจัดตั้ง และเตรียมการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับรัฐไทยมายาวนาน จะยอมรับหนทางสันติภาพโดยการพูดคุยนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐไทยยืนยันมาตลอด ว่า ยอมรับได้แค่การกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น แต่ไม่ยินยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดนตั้งรัฐอิสลามตามอุดมการณ์ของผู้ก่อความ ไม่สงบอย่างเด็ดขาด

เหตุการณ์คาร์บอมโรงแรมลีการ์เด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2555 เกิดขึ้นหลังมีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ พบปะกับแกนนำก่อความไม่สงบที่ประเทศมาเลเซียได้ไม่นาน ที่น่าสนใจคือการพบปะครั้งนั้น ตัวแทนของ “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” ไม่ได้เข้าร่วม

วิธีการทางทหารหยุดนิ่ง เมื่อวิธีการทางการเมืองเริ่มเคลื่อนไหว แต่เมื่อใดก็ตามที่วิธีการทางการเมืองเริ่มเพลี่ยงพล้ำ วิธีการทางทหารก็จะกลับมาเข้มข้นยิ่งขึ้น

มาเลเซียอาจช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกให้ไทยได้พบปะกับแกนนำขบวนการบางคนได้จริง แต่ก็มิใช่ขั้นสุดท้ายของการยุติปัญหา ซึ่งยังต้องรอดูความจริงใจของมาเลเซียว่าจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน

แนวทางการเมืองของรัฐบาลแม้จะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ก็ต้องรักษาจังหวะก้าวอย่างรอบคอบรัดกุม และต้องกุมสภาพความเคลื่อนไหวของกระบวนการพูดคุย อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือประเทศใดเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทกำหนดทิศทางมากเกินไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสาน มาเลเซีย ดับไฟใต้ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

view