สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่วนต่างของดอกเบี้ยสำคัญหรือไม่

ส่วนต่างของดอกเบี้ยสำคัญหรือไม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างมากในขณะนี้คือ การที่ดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าดอกเบี้ยของประเทศเงินสกุลหลักนั้นจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ

ที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยและทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยมีความสำคัญน้อยมากในการกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทย แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการชักจูงให้เงินไหลเข้ามาในประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่า

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบยึดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เพราะกรอบนโยบายดังกล่าวกำหนดให้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการควบคุมเงินเฟ้อ กล่าวคือหากเงินเฟ้อสูงหรือมีแนวโน้มจะสูงขึ้นก็จะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ดังนั้น ความเป็นอิสระในการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการดำเนินนโยบายการเงิน กล่าวคือ หากขาดความเป็นอิสระในการกำหนดดอกเบี้ยตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ย่อมจะไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์และเสนอข้อมูลเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้โดยปราศจากเงื่อนไขและข้อจำกัดจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินที่ยึดเงินเฟ้อเป็นเป้า

ตรงนี้ผมขอทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้งว่า โดยปกติแล้วนโยบายการเงินนั้นย่อมจะมีวัตถุประสงค์หลักคือการบริหารจัดการให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำทั้งสิ้น แต่ที่เราเรียกกันว่านโยบายการเงินแบบยึดเงินเฟ้อเป็นเป้าหรือ inflation targeting นั้นอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะนโยบายการเงินที่ดีทุกประเภทย่อมยึดเงินเฟ้อ (ต่ำ) เป็นเป้าทั้งสิ้น เพียงแต่ inflation targeting นั้นแตกต่างตรงที่ใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลักในการคุมเงินเฟ้อ แนวทางหรือทางเลือกอื่นที่จะคุมเงินเฟ้อคือการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนกระทบกับราคาสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะสำหรับประเทศขนาดเล็กที่มีการค้า-ขายกับต่างประเทศมาก เช่น สิงคโปร์ สมมุติว่าสิงคโปร์นำเข้าอาหารมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยข้าวราคาในตลาดโลกเท่ากับ 500 ดอลลาร์ต่อตันและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมราคาเฉลี่ยในตลาดโลกเท่ากับ 200 ดอลลาร์ต่อชิ้น หากเงินเฟ้อในโลก (โดยคำนวณจากราคาเฉลี่ยราคาสินค้าทั้งสอง) อยู่ที่ 5% ต่อปี แต่ประเทศสิงคโปร์ต้องการคุมเงินเฟ้อในประเทศให้สูงไม่เกิน 3% ต่อปี วิธีที่จะบรรลุถึงเป้าเงินเฟ้อดังกล่าวคือการดำเนินนโยบายการเงินให้ค่าเงินสิงคโปร์แข็งค่าปีละ 2% ก็จะทำให้เงินเฟ้อในสิงคโปร์อยู่ในกรอบดังกล่าวข้างต้น

ตัวอย่างข้างต้นกล่าวถึงสินค้าเพียง 2 ประเภทแต่สามารถเพิ่มเป็นสินค้ากี่รายการก็ได้ ประเด็นสำคัญคือต้องมีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าต่อจีดีพีสูงมากและต้องเป็นประเทศเล็กที่ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าในตลาดโลกตามอำเภอใจได้ ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่ใกล้เคียงกับความจริงสำหรับสิงคโปร์ ดังนั้นสิงคโปร์จึงยอมให้ดอกเบี้ยของตนปรับเปลี่ยนตามดอกเบี้ยโลกและหันมาบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเป็นกลไกหลักในการคุมเงินเฟ้อ ซึ่งทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กและเปิดจึงต้องได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ในกรณีของไทยนั้นมีการถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทย “เปิด” มาก-น้อยเพียงใด ซึ่งผมมองว่าค่อนข้างจะเปิดมากขึ้นตามลำดับจากการที่การส่งออกบวกการนำเข้าอยู่ที่ 80% ของจีดีพีเมื่อปี 1996 มาเป็น 140% ในปัจจุบันและตราบใดที่ประเทศไทยยังส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกและตั้งเป้าให้การส่งออกขยายตัวสูงกว่าจีดีพีโดยรวมตลอดเวลา ก็น่าจะเชื่อได้ว่าการส่งออกจะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของจีดีพีและจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นนับวันอัตราแลกเปลี่ยนก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งขึ้นในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อและจีดีพีของไทย

กลับมาดูอัตราดอกเบี้ยผมก็ขอตั้งประเด็นว่าดอกเบี้ยก็เป็นเสมือน “ราคา” ของเงินที่ถูกกำหนดโดยตลาดโลกเช่นกัน กล่าวคือเศรษฐกิจโลกนั้นปัจจุบันพึ่งพาเงินสกุลหลัก 4 สกุลคือ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยน และเงินปอนด์ ซึ่งดังที่ผมเขียนถึงในสัปดาห์ที่แล้วเงินสกุลหลัก 4 สกุลดังกล่าวนั้นกำลังถูกพิมพ์ออกมาอย่างท่วมท้นเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจของตัวเอง (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ) และหากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นหรือเศรษฐกิจโลก ประเทศดังกล่าวก็จะไม่ให้ความสำคัญมากนัก เพราะคำนึงถึงเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก คำถามคือหากประเทศเงินสกุลหลักดังกล่าวกำหนดดอกเบี้ยของตนใกล้ศูนย์ ประเทศเล็กๆ อย่างไทยจะสามารถกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 2.75% โดยคิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่ อีกมุมมองหนึ่งคือประเทศเล็ก (เช่นไทย) ที่กำหนดราคาสินค้าในตลาดโลกไม่ได้เลย (แม้แต่ ข้าว) จะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยของตนได้ตามอำเภอใจหรือไม่

ฝ่ายที่บอกว่าได้ ยืนยันว่าการที่เงินทุนเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่นั้นขึ้นกับส่วนต่างของดอกเบี้ยน้อยมาก โดยบอกว่าปัจจัยอื่นๆ สำคัญมากกว่า เช่น ความกลัวหรือไม่กลัวความเสี่ยง ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ดุลบัญชีเดินสะพัด (และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้คาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาท) ฯลฯ แนวคิดของผมคือเงื่อนไขที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเข้าเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยให้เงินไหลเข้ามาในประเทศไทย กล่าวคือ

1. ความกลัวความเสี่ยง เรื่องนี้ตลาดคลายความเสี่ยงไปมากเพราะเศรษฐกิจประเทศหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวและที่สำคัญคือประเทศเงินสกุลหลักเน้นการพิมพ์เงินและส่งสัญญาณว่าจะประกันความเสี่ยงโดยการซื้อพันธบัตรเพื่อกดดอกเบี้ยทั้งระยะยาวและสั้นให้ต่ำอย่างต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ตรงนี้จะ “ผิดคาด” หากผลการเลือกตั้งในอิตาลีทำให้เกิดปัญหาขาดรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้

2. ปัจจัยพื้นฐานของไทยก็ดูดี เพราะต่างคาดการณ์กันว่าจีดีพีจะขยายตัว 5% ต่อปีได้ในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่จะขยายตัว 1-2% เป็นอย่างมาก ดังนั้นเงินทุนจึงน่าจะไหลมาไทย (ที่เศรษฐกิจขยายตัวสูง) มากกว่าไหลออกจากไทย

3. ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นพื้นฐานของการอุปสงค์และอุปทานของเงินบาท ซึ่งก็คาดการณ์กันว่าจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าความต้องการซื้อเงินบาท (โดยผู้ส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น) จะมากกว่าความต้องการขายเงินบาท (โดยผู้นำเข้า คนไทยที่ไปศึกษาและเที่ยวในต่างประเทศ เป็นต้น) ดังนั้นจึงจะเป็นพื้นฐานทำให้เงินบาทแข็งค่า

จากปัจจัย 3 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป็นพื้นฐานในการเชื้อเชิญให้เข้ามาหาประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ยทั้งสิ้น เพราะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มั่นใจว่าหากจะเข้ามาลงทุนเพื่อทำประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ยนั้น แทบจะมีความเสี่ยงจากการลงทุน (หรือเก็งกำไร) น้อยมาก ประเด็นคือผมมองว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยย่อมจะมีความสำคัญ (เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้ฝากเงินที่พร้อมย้ายเงินฝากไปธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไปหรือแม้กระทั่งการที่คนไทยนิยมซื้อพันธบัตรประเทศเกาหลี บราซิล ฯลฯ เพียงเพราะได้ดอกเบี้ยเพิ่ม)

นอกจากนั้นอาจมองได้ว่าการตัดสินใจย้ายเงินทุนนั้นอาจมาจากการตัดสินใจเป็นขั้นๆ หรือที่เรียกว่า Lexicographic ordering คือขั้นแรกดูความเสี่ยงของการลงทุนโดยรวมก่อน ตามด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย และตามด้วยดุลบัญชีเดินสะพัด และในขั้นสุดท้ายคือส่วนต่างของดอกเบี้ย หากเปรียบเทียบง่ายๆ คือเวลาเราซื้อรถยนต์นั้น เรามักจะตัดสินใจเป็นขั้นๆ กล่าวคือเริ่มจากประเภทรถก่อน (รถ 4 ประตู หรือรถกระบะ หรือรถเอสยูวี) แล้วมาดูว่าเป็นรถญี่ปุ่นหรือรถยุโรป แล้วจึงมาดูว่าจะเลือกสีอะไร ซึ่งในที่สุดแล้วสีรถก็จะมีความสำคัญในการเลือกรถที่จะซื้อในที่สุด ไม่แตกต่างจากปัจจัยอื่นที่กล่าวถึงข้างต้น แปลว่าอาจมี 4-5 ประเทศในโลกรวมทั้งไทยที่จะถูก “คัด” ออกมาแล้วว่าน่าลงทุนเพื่อกินส่วนต่างของดอกเบี้ยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ส่วนต่าง ดอกเบี้ย สำคัญหรือไม่

view