สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาวะ ถูกจูงใจให้ตาบอด กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (1)

ภาวะ “ถูกจูงใจให้ตาบอด” กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีอะไรตื่นเต้น ยกเว้นเรื่องหุ้นขึ้นหุ้นลงตามปกติ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังก็ยังค้างคา

ผู้มีอำนาจแต่ละฝ่ายไม่สนใจจะแก้ไขเหมือนเดิม ในบรรยากาศแบบนี้ จะรู้ทันเรื่องเดิมๆ ไปคงไม่มีประโยชน์ ผู้เขียนคิดว่าเปลี่ยนบรรยากาศมาคุยเรื่องอื่นกันบ้างคงจะดี เพราะสังคมนี้มีปัญหามากมายที่ไม่ได้อยู่แต่ในตลาดทุน

ผู้เขียนกำลังพูดถึงปัญหาความไร้จรรยาบรรณวิชาชีพที่กำลังระบาดไปทุกหย่อมหญ้า แต่สังเกตว่าเราไม่ค่อยคุยเรื่องนี้กันมากนัก ส่วนใหญ่จะชอบคุย (บ่น) เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่า และการถกเถียงก็มักจะลงเอยด้วยการโบ้ยว่า “รัฐ” ต้อง “ใช้กฎหมาย” อย่างเคร่งครัดมากขึ้นในการ “จับคนเลว” มา “ลงโทษ” ส่วน “พ่อแม่” และ “ครูบาอาจารย์” ก็ต้อง “สั่งสอน” เด็กๆ อย่างเข้มงวดกว่าเดิมให้ “โตไปไม่โกง”

คนจำนวนมากเชื่อว่าถ้าทำแค่สองเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปัญหาคอร์รัปชันจะบรรเทาเบาบางลงได้ แต่ในความเป็นจริง การเน้นแต่ให้รัฐบังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่นั้น “ไม่เพียงพอ” ต่อการบรรเทาคอร์รัปชัน ส่วนการสอนเด็กๆ ให้โตไปไม่โกงนั้นผู้เขียนเคยเขียนแล้วว่า “ไม่มีประโยชน์” เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจจะโกงอยู่แล้ว และผู้ใหญ่ที่โกงนั้นก็ไม่ได้โกงเพราะพ่อแม่หรือโรงเรียนไม่สั่งสอน

โลกแห่งความจริงไม่มีขาว-ดำชัดเจนระหว่าง “พฤติกรรมซื่อสัตย์” (ซึ่งเราแปะป้าย “ดี”) กับพฤติกรรมโกง (ซึ่งให้เราแปะป้าย “เลว”) แต่เป็นโลกที่เลื่อนไหลและซับซ้อนกว่านั้นมาก หลายครั้งเราทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ “เลว” เท่ากับคนที่ยักยอกเงินบริษัททีละหลายร้อยล้าน แต่ก็รู้สึกตงิดๆ ว่าไม่ควรทำ เช่น ขโมยอุปกรณ์สำนักงานไปใช้ที่บ้าน หรือเอาบิลค่าอาหารเย็นที่เลี้ยงเพื่อนไปเบิกบริษัท ทั้งที่เพื่อนไม่ใช่ลูกค้า และไม่เคยคิดอยากมาเป็นลูกค้า

เวลาที่ทำสิ่งเหล่านี้ สมองเรามักจะคิด “หาเหตุผล” (rationalize) ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจคิด เช่น “ปากกาไม่กี่ด้าม บริษัทไม่เจ๊งหรอก” หรือ “ปีนี้โบนัสห่วยทั้งที่เราทำงานหนักแทบตาย เอาเงินบริษัทมาเลี้ยงเพื่อนนิดๆ หน่อยๆ จะเป็นไรไป”

ปัญหาคือถ้าเราหาเหตุผลแบบนี้บ่อยๆ เราก็จะค่อยๆ โกงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่โกงมากก็ไปถึงจุดที่ไม่สนใจเวลาเห็นใครโกงมาก เพราะกลัวจะเข้าตัวเอง อีกปัญหาคือความคิดทำนอง “แค่นี้ไม่เป็นไรหรอก เล็กน้อย” นั้นถ้าทำกันมากๆ อาจมีมูลค่าความเสียหายมากกว่าเงินหลายร้อยล้านที่ “คนโกง” คนเดียวยักยอกบริษัทไปก็ได้

งานของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชั้นนำอย่าง แดน อารีลลี (Dan Ariely) จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำหนังสือเล่มล่าของเขา ชื่อ “The Honest Truth about Dishonesty”) ชี้ชัดว่า “พฤติกรรมไร้ศีลธรรม” จำนวนมากที่ดำเนินไปในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงานนั้น ไม่ใช่การกระทำที่ตั้งใจจะโกงอย่างที่สื่อมวลชนและผู้กำกับดูแลภาครัฐชอบเน้น (และกฎหมายปัจจุบันก็ลงโทษแต่การกระทำที่มีเจตนาทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างรุนแรง - gross negligence เท่านั้น) แต่เป็นการกระทำที่หลอกตัวเอง หาเหตุผลให้กับตัวเองอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัวแบบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข้างต้น และยิ่งสิ่งที่เราทำผิดไม่ใช่เรื่องเงินตรงๆ (เช่น ขโมยปากกาของบริษัท ไม่ใช่เงินสด) เรายิ่งรู้สึกเฉยๆ กับการกระทำมากเท่านั้น

ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนเคยถ่ายทอดข้อค้นพบจากวงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่า บางครั้งเราละเมิดจรรยาบรรณไม่ใช่เพราะว่าเราเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพราะเราง่วนอยู่กับการบรรลุเป้าหมายร่วมกันขององค์กร อย่างเช่นเป้ายอดขาย ราคาหุ้น ฯลฯ จนนัยทางศีลธรรมของการตัดสินใจสำคัญๆ ค่อยๆ พร่าเลือนไป ความพร่าเลือนทางศีลธรรมนี้ทำให้เราลงมือทำหรือยอมให้คนอื่นทำในสิ่งที่เราจะต่อต้านถ้าหากเราตระหนักรู้ถึงนัยทางศีลธรรมจริงๆ เช่น การตกแต่งบัญชี

ธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมค้นพบ คือ การ “ถูกจูงใจให้ตาบอด” (motivated blindness) หมายถึงแนวโน้มที่จะละเลยข้อมูลที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของฝ่ายเรา (จะเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์ของบริษัทก็ตามแต่) งานวิจัยจำนวนมากพบว่า แม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ที่สุดก็ยังรักษาความเป็นมืออาชีพ ให้ความเห็นที่เป็นภววิสัย (objective) ได้ยากมากเมื่อเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่แย่กว่านั้นคือพวกเขาไม่รู้ตัวด้วยว่ากำลังเข้าข้างตัวเองอย่างไร

แม็กซ์ เบเซอร์แมน (Max Bazerman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เล่าว่าในการทดลองทรงอิทธิพลครั้งหนึ่ง นักวิจัยขอให้นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจประเมินมูลค่าของบริษัทบริษัทหนึ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง พวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ คนขาย (คือเจ้าของบริษัทที่อยากขายกิจการ) คนซื้อ ผู้สอบบัญชีของคนขาย และผู้สอบบัญชีของคนซื้อ นักศึกษาทุกคนได้อ่านข้อมูลชุดเดียวกันที่จำเป็นต่อการประเมินมูลค่าของบริษัท

ไม่น่าแปลกใจว่ากลุ่มผู้ขายจะสรุปว่าบริษัทนี้มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าที่กลุ่มผู้ซื้อประเมิน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ตัวเลขนักศึกษาที่สวมบทผู้สอบบัญชีก็โน้มเอียงไปกับลูกค้าของตัวเองด้วย - ผู้สอบบัญชีของผู้ขายประเมินมูลค่าบริษัทสูงกว่าที่ผู้สอบบัญชีของผู้ซื้อประเมินถึงร้อยละ 30 โดยเฉลี่ย

งานวิจัยนี้ถูกทำซ้ำนอกรั้วมหาวิทยาลัย คราวนี้ทำกับผู้สอบบัญชีมืออาชีพที่ทำงานให้บริษัทผู้สอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (“Big Four” ได้แก่ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส, เอิร์นส์ แอนด์ ยัง, เดลอยท์ และเคพีเอ็มจี) - ผลที่ได้ออกมาเหมือนเดิม

เราจะแก้ปัญหามืออาชีพไม่เป็นอัตวิสัยเพราะถูกจูงใจให้ตาบอดแบบนี้ได้อย่างไร? บางคนเสนอว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนจะช่วยได้ (เช่น ให้ผู้สอบบัญชีเปิดเผยว่าบริษัทตัวเองรับเงินค่าเป็นที่ปรึกษาเท่าไร) แต่งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ลำพังการเปิดเผยข้อมูลอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะมันทำให้มืออาชีพรู้สึกว่า “ไม่ต้อง” รัดกุมและทำงานอย่างเป็นอัตวิสัย (คล้ายสมองจะบอกว่า “ฉันบอกไปแล้วนะว่าบริษัทฉันรับเงินจากลูกค้าจากธุรกิจที่ปรึกษาเท่าไหร่บ้าง คราวนี้อย่ามายุ่งกับฉัน”) นอกจากนี้ยังทำให้ “เหยื่อ” รู้สึกไว้วางใจมืออาชีพมากขึ้นในทางที่ตัวเองเสียประโยชน์

ข้อค้นพบเหล่านี้สรุปได้สั้นๆ ว่า คนเรามักจะเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ของตัวเองมากเกินจริง พฤติกรรมไร้ศีลธรรมก็มักจะเกิดโดยที่เราไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว ดังนั้นการปฏิรูปกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่จะได้ผลจริงๆ จึงต้องไปไกลกว่ามาตรการลงโทษและกฎการเปิดเผยข้อมูล แต่ต้องสามารถรับมือกับอิทธิพลที่มองไม่เห็นแต่ส่งผลต่อการกระทำของเราด้วย

วิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งที่จำเป็น คือ การปฏิรูปทั้ง “หลักการ” และ “วิธีทำงาน” ของจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งสำคัญในฐานะเครื่องมือที่ช่วย “เตือนสติ” ให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของการให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองโดยอัตโนมัติหรือถูกจูงใจให้ตาบอดจนพร่าเลือนทางศีลธรรมขึ้นเรื่อยๆ

เราควรปฏิรูปหลักการและวิธีทำงานของจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างไร ถ้าอยากลดพฤติกรรมไร้ศีลธรรมลงให้ได้จริงๆ? ตอนหน้าผู้เขียนจะยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วและพิสูจน์ให้เห็นว่าเริ่มจัดการกับปัญหาอย่างได้ผล ในสามวงการที่ตัวเองมีส่วนพัวพันและทำงาน ได้แก่ วงการธนาคาร ตลาดทุน และสื่อสารมวลชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาวะ จูงใจ ตาบอด จรรยาบรรณวิชาชีพ

view