สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภารกิจหิน นิวัฒน์ธำรง ลุยไฟจำนำข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันติกิจ

นาทีนี้ต้องถือว่า นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว

ที่ต้องเรียกเช่นนี้ เพราะโครงการสำคัญๆ ของรัฐบาล เช่น การลงทุนระบบน้ำ โครงการทวาย กระทั่งการตามงานโครงการบัตรอีลิทการ์ด ล้วนมีชื่อ นิวัฒน์ธำรง ปรากฏเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

แม้ชื่อชั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ จะมี “ศักดินา” ในทำเนียบฯ เทียบไม่ได้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ทว่าวันนี้ นิวัฒน์ธำรง เป็นมือเป็นไม้ทั้งเป็นหูเป็นตาของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในขณะที่รัฐมนตรีคนข้างกายนายกฯ ยิ่งลักษณ์ “ลอยตัว” หนีปัญหา โชว์ออฟสร้างภาพให้ “ดูดี” เพราะมั่นใจว่าเป็นคนโปรดที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องมีไว้ใกล้ตัว

ล่าสุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เรียกใช้บริการ นิวัฒน์ธำรง ให้เข้ามาทำภารกิจใหญ่ติดตามและตรวจสอบการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว เปลือกของรัฐบาล ที่ทำท่ามาถึงจุดตีบตัน เพราะเงินหน้าตักที่เตรียมไว้ใช้ในโครงการ 5 แสนล้านบาท แทบจะหมดกระเป๋าแล้ว

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เริ่มต้นในวันที่ 7 ต.ค. 2554 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.มาจ่ายค่าข้าวเปลือกให้เกษตรกรเป็นวงเงินทั้งสิ้น 476,898.243 ล้านบาท (ไม่รวมค่าบริหารจัดการโครงการ ค่าดอกเบี้ย และเช่าโกดังเก็บข้าว)

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่ล่าสุด วันที่ 4 มี.ค. 2556 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 8.7 ล้านตัน เงินที่จ่ายให้เกษตรกร 140,166.527 ล้านบาท และยังมีข้าวเปลือกนาปีที่ทยอยไหลเข้าโครงการต่อเนื่องอีกหลายล้านตันจนกว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.นี้

นั่นทำให้วงเงินกู้ที่ต้องใช้ในโครงการรับจำนำจะแตะ 5 แสนล้านบาทในไม่ช้า

ขณะที่เงินที่จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวคงไม่หยุดแค่นี้ เพราะข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 กำลังจะเข้าสู่โครงการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก “ทุกเมล็ด” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 มี.ค. ว่า ผลผลิตข้าวนาปรังจะเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.เป็นต้นไป

สศก.ยังระบุว่า ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังนั้นมีรายงานว่ามีการปลูกแล้วในพื้นที่ 13.52 ล้านไร่ แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมปรากฏการณ์ “ข้าวงอก” จากท้องทุ่งนาเช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ที่เดิมคาดว่าจะมีผลผลิต 11.11 ล้านตัน แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการปริมาณข้าวที่เข้าโครงการอยู่ที่ 14.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมา 3.6 ล้านตัน

“ท่านนายกฯ ให้เข้ามาช่วยดูว่าในปีต่อๆ ไปเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวจะมาจากที่ไหน เงินที่ได้จากการขายข้าวเป็นไปตามแผนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ครม.อนุมัติกรอบเงินกู้ในโครงการ 4.1 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 9 หมื่นล้านบาท เป็นสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ซึ่งเราจะบริหารเงินที่ใช้ในโครงการไม่ให้เกินกรอบนี้” นิวัฒน์ธำรง ระบุ

นี่เป็นสัญญาณที่นิวัฒน์ธำรงส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ และในทางปฏิบัติ นิวัฒน์ธำรงเรียกข้าราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและเอกสาร “ที่มาที่ไป” ของเงินในโครงการ เล่นเอาข้าราชการประจำหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน

เพราะสถานการณ์โครงการรับจำนำข้าววันนี้เข้าตาอับ เงินที่ต้องจ่ายให้ชาวนาเรียกว่า “ไหลไม่หยุด”

แต่เงินขาเข้าที่กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งคืน ธ.ก.ส. เพื่อนำกลับมาหมุนเวียนรับจำนำข้าว ส่งคืนได้ไม่ถึง 1 ใน 5 ของเงินกู้ที่ใช้แล้ว โดย บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ได้ส่งเงินค่าข้าวให้ ธ.ก.ส.แล้วเป็นเงิน 8 หมื่นล้านบาท

เท่ากับว่าตอนนี้รัฐบาลเป็นหนี้เงินกู้กับ ธ.ก.ส.อยู่ 4 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องแบกสต๊อกข้าวในมือจำนวนมาก แต่ปริมาณข้าวในสต๊อกก็ยังเป็นปริศนาดำมืดว่ามีจำนวนเท่าไร ระบายข้าวไปแล้วปริมาณเท่าใด และอย่างไร หากเป็นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่เหตุใดไม่มีการรายงานว่าข้าวออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะไม่มีใบเสร็จมาโชว์ให้เป็นประจักษ์พยานถึงความโปร่งใสแม้แต่น้อย

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ร้อนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้อย่างไร จนกระทั่งนิวัฒน์ธำรงต้องลงมาสะสางให้กระจ่าง

หากไล่เรียงความเก่าก่อนจะมีวันนี้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในสมัยนั้น ได้ปลุกปั้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจนสำเร็จตาม “ใบสั่ง” กิตติรัตน์เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไม่กี่ครั้งก็ทำคลอดโครงการออกมาจนได้

กระทั่งได้ปูนบำเหน็จเป็น รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2

แต่เนื้อแท้จริงๆ เมื่อเริ่มโครงการ รัฐมนตรีที่กุมบังเหียนโครงการรับจำนำข้าวตกอยู่กับ “ภูมิ สาระผล” รมช.พาณิชย์ ในสมัยนั้น ซึ่งว่ากันว่า ภูมิ เป็นรัฐมนตรีสาย “เจ๊ ด.” โดยมี “ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ-เครือข่ายพ่อค้าข้าวเสี่ยเปี๋ยง-นักการเมืองขาใหญ่” อยู่เบื้องหลังการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์จาก “ข้าวทุกเมล็ด” ในโครงการ

กิตติรัตน์เป็นได้เพียงประธาน กขช.ในนาม

เมื่อมีการปรับ ครม.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 กิตติรัตน์เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.คลัง และโยก บุญทรง จากเก้าอี้ รมช.คลัง ไปเป็น รมว.พาณิชย์ แทนกิตติรัตน์ และเช่นกัน บุญทรง ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐมนตรีสาย “เจ๊ ด.” เข้ามากุมบังเหียนโครงการรับจำนำข้าว

แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ต้องขบคิด เมื่อกิตติรัตน์ที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้เป็นประธาน กขช.แทนนายกฯ ที่เป็นประธาน กขช.โดยตำแหน่ง ถูกเขี่ยพ้นทางอีก

เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งแต่งตั้งบุญทรงเป็นประธาน กขช. และบุญทรงยังคงเป็นประธาน กขช.มาจนถึงทุกวันนี้

สถานะของบุญทรงถือว่าไม่ธรรมดา ไม่ใช่เพียงประธาน กขช.เท่านั้น แต่ยังเป็น รมว.พาณิชย์ ที่มีอำนาจสั่งการในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือก ตั้งแต่การรับสมัครโรงสีและโกดังเก็บข้าวสารเข้าโครงการ การจ้างเซอร์เวเยอร์มาตรวจสอบคุณภาพข้าว

เพราะบุญทรงสวมหมวกในตำแหน่งประธานอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว

เช่นเดียวกัน บุญทรงยังกำกับดูแลเกี่ยวกับการระบายข้าวสารในโครงการอีกด้วย เพราะตามมติ ครม.วันที่ 29 มิ.ย. 2553 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐ โดยกำหนดให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นประธานในการกำหนดหลักเกณฑ์และ ยุทธศาสตร์การระบายข้าวสาร

เท่ากับว่าทั้งการรับจำนำข้าวเปลือกเข้ามาโครงการ และขายข้าวสารในโครงการ ล้วนอยู่ในอำนาจสั่งการและการรับรู้เฉพาะบุญทรง และ “ทีมงาน” เท่านั้น

การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ส่ง นิวัฒน์ธำรง เข้ามาคลุกวงในโครงการรับจำนำข้าว เท่ากับว่าส่งคนมาเป็นตัวกลางในการดูแลทั้งเงินที่จะนำมารับจำนำและเงินที่ ได้จากการระบายข้าว

เป็นการแยกคู่ปัญหาออกจากกัน ที่เหลือก็อยู่ที่ฝีมือนิวัฒน์ธำรงว่าจะมือถึงแค่ไหน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภารกิจหิน นิวัฒน์ธำรง ลุยไฟ จำนำข้าว

view