สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แทบเล็ต นักเรียน ตกลงนักเรียนได้เรียนอะไร?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เอกรัตน์ สาธุธรรม



โครงการแทบเล็ต ป.1 เฟสแรกที่ใช้งบประมาณไปกว่า 2 พันล้านบาท ถึงวันนี้เกือบ 900,000 แสนเครื่อง

ถึงมือน้องนักเรียนป.1 เป็นที่เรียบร้อย และอีกไม่นานแทบเล็ตนักเรียนเฟส 2 ที่รวมถึงน้องนักเรียนม.1 จะได้ใช้งานด้วย อีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเครื่อง ก็จะเปิดประมูลช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งไม่ได้เลือกผู้ผลิตแค่รายใด รายหนึ่ง แต่จะเปิดกว้างให้ผู้ผลิตทุกรายร่วมประมูล

ถามว่า..แทบเล็ตนักเรียนป.1 ที่น้องๆ ได้นำไปใช้ในการเรียน ผลตอบรับการใช้งานเป็นอย่างไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่ผลตอบรับที่ได้ยิน ได้ฟังมาจะมีแต่เรื่อง "เครื่องพังแล้ว กำลังส่งซ่อม แต่ไม่รู้จะซ่อมเสร็จเมื่อไร ศูนย์ซ่อมมีน้อย" ขณะที่ผลตอบรับในประเด็นที่ว่า เมื่อนักเรียนได้ใช้แทบเล็ตแล้วประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการเรียน "ดีขึ้นจากเดิมหรือไม่" แทบไม่ได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ทั้งที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ

แม้วันก่อน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที จะออกมายืนยันแล้วว่า อัตราเครื่องเสียไม่เกิน 1% ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ 3% ...แต่ก็อย่าได้วางใจ เพราะจำนวนศูนย์ซ่อม ไม่ได้มีมากเพียงพอ

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีของโครงการนี้ คือ ความพยายามที่จะขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญช่วยหนุนโครงการแทบเล็ต

แต่ก็ยังมีคำถามต่อว่า..ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะสองกระทรวงหลักที่รับผิดชอบ ได้ประเมินผลอะไรบ้างแล้วหรือยัง วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง บ้างหรือเปล่า จะได้เป็นข้อมูลปรับปรุงการจัดซื้ออีกล้านกว่าเครื่องในเฟส 2 ซึ่งเฟสนี้ขยายให้น้องม.1 นอกเหนือจากน้องป.1 ในปีการศึกษาใหม่ ใช้เงินมากกว่าเฟสแรก มูลค่าโครงการน่าจะราวๆ 6 พันล้านบาท

ยิ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก ผู้ที่รับผิดชอบโครงการยิ่งต้องตรวจสอบ ประเมินประโยชน์ที่จะได้รับ เด็กนักเรียนสนใจใช้แอพพลิเคชั่นที่บันเดิลมาในแทบเล็ตมากน้อยแค่ไหน สนใจมาก หรือไม่สนใจเลย เพราะได้ยินได้ฟังมาว่า แอพพลิเคชั่นที่ใส่มานั้น ก็เป็นเพียงเนื้อหาที่ไม่ได้แตกต่างจากหนังสือเรียนในชั้นเรียน หรือเป็นเนื้อหาที่้อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนทักษะเด็กๆ ได้มากพอ และเด็กๆ ก็ไม่สนใจมากเท่าที่ควร

ต้องยอมรับว่ายุคสมัยนี้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กนักเรียนมีมากขึ้น ผ่านสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค พีซี รวมถึงแทบเล็ต (ที่ไม่ใช่จากโครงการ) แล้วต้องยอมรับอีกว่า เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต (เนื้อหาที่มีประโยชน์) นั้น "น่าสนใจ" มากกว่าแอพพลิเคชั่นที่ใส่อยู่บนแทบเล็ต

แม้โครงการแท็บเล็ตป.1 จะผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี แต่หากจะถามหาความสำเร็จของโครงการดังกล่าว "คงไม่รู้จะตอบว่าอะไร" เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า นักเรียนที่มีโอกาสใช้แทบเล็ตทั่วประเทศได้ประโยชน์จากแทบเล็ตเครื่องนี้อย่างไร เพราะหากใช้แค่เพื่อความบันเทิงไปวันๆ จิ้มๆ กดๆ ไอคอนหน้าจอ แค่นั้น...

คงต้องบอกว่า โครงการนี้ "ยังต้องใส่เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ" เพราะจุดประสงค์หลักของโครงการเพื่อเป็นเครื่องมือเสริมการเรียนการสอนครูผู้สอน ที่แม้จะมีต่อในเฟสที่ 2 แต่หากผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่สนที่จะปรับปรุงจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง งบประมาณที่ใช้ไป และคาดว่าจะใช้อีกในอนาคต รวมๆ แล้วเกือบจะหมื่นล้านก็คงเหมือนกับการ "ตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แทบเล็ตนักเรียน ตกลง นักเรียน เรียนอะไร

view