สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บิ๊กบอส ปตท. ไพรินทร์ เคลียร์ปมร้อน พลังงานไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

หลัง ถูกสังคมออนไลน์กระหน่ำหนัก วิพากษ์วิจารณ์สารพัดประเด็นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายได้และผลกำไรจากการดำเนินการ พร้อมหยิบยกข้อมูลแจกแจงในทำนองว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจในลักษณะไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ ส่งผลกระทบทำให้คนไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาแพง ทั้ง ๆ ที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ที่สำคัญหลากหลายประเด็นร้อนเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ และถูกนำไปขยายต่อในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่าง ไร "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจชี้แจงและตอบคำถามทุกข้อสงสัย


บิ๊ก ปตท.เปิดประเด็นด้วยการตั้งข้อสังเกตกระแสวิพากษ์ด้านลบในโลกออนไลน์ว่า โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะมีเจตนาเพื่อที่จะโจมตี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่เผยแพร่มีความถูกต้องเพียงครึ่งหนึ่ง และค่อนไปไปทางเป็น "ข้อมูลเท็จ" มากกว่า

โดยข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลของการส่งออกน้ำมันดิบและนำเข้าน้ำมัน มาจากภายในประเทศสามารถผลิตปิโตรเลียมซึ่ง รวมเอาทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ทั้งสิ้น 800,000 บาร์เรล/วัน ในจำนวนนี้เมื่อแยกออกมาจะแบ่งเป็นน้ำมันเพียง 100,000 บาร์เรล/วัน ส่วนที่เหลือคือก๊าซที่ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สาเหตุที่ต้องแยกทั้งสองประเภทออกจากกันเพราะมันคนละเรื่องกัน

ขณะ ที่ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล/วันมากกว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ เฉพาะปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศมีแค่เพียง 140,000 บาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 33 ของโลก ผลิตได้มากกว่าบรูไน น่าจะส่งออกได้มากกว่าด้วย

แล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยต้องซื้อน้ำมันแพง ต้องลองมาเปรียบเทียบกันดู จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ประเทศบรูไนซึ่งผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าไทย แต่กลับส่งออกมากกว่าไทย เป็นเพราะความต้องการใช้น้ำมันของบรูไนมีน้อยเมื่อเทียบกับการผลิต เพราะประชากรมีเพียง 500,000 คน

"เขาลดราคาน้ำมันให้ถูกที่สุดก็ขาย ไม่ได้จึงต้องส่งออก ในขณะที่ไทยผลิตได้มากกว่า แต่ประชากรมากถึง 67 ล้านคน จึงต้องนำเข้าน้ำมัน ถือเป็นเรื่องปกติ การผลิตน้ำมันติดอันดับของโลกไม่ได้แปลว่า ไทยมีน้ำมันดิบมหาศาล ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผลิตออกมาแล้วมีคนใช้หรือไม่"

"ไพรินทร์" ชี้แจงว่า ไทยมีการส่งออกน้อยมากเพียง 40,000 บาร์เรล/วัน เหตุผลคือปิโตรเลียมที่ได้จากอ่าวไทยในบางแปลงสัมปทานไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ โรงกลั่นต้องการ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นแล้ว จะได้ปริมาณเบนซินมากกว่าน้ำมันอื่น ๆ ในขณะที่ในประเทศต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าราคาขายน้ำมันในประเทศจะแพงขึ้นได้

เมื่อ ถามถึงว่าราคาน้ำมันในประเทศมีแต่จะแพงขึ้นหรือไม่ เขาบอกว่า จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร พม่า ที่ไม่มีโรงกลั่นในประเทศ ราคาน้ำมันในไทยมีราคาถูกกว่าแน่นอน แต่หากไปเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแล้วราคาในไทยย่อมแพงกว่า เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือบรูไน

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกมองว่าแพง ต้องย้อนไปดูที่โครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่าในทุกลิตรจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่าภาษีทั้งหมดรวมร้อยละ 20 เช่น ภาษีสรรพสามิต, เทศบาล, มูลค่าเพิ่ม

และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนที่ผู้ค้าน้ำมันอย่าง ปตท.ได้รับจริง ๆ คือค่าการตลาด (Margin) อยู่ที่เฉลี่ย 1 บาทกว่าเท่านั้น

ฉะนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นและลงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่บริษัท ปตท. และหากจะมองว่าค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงทำให้น้ำมันแพง หากภาพเป็นแบบนั้นคงจะไม่ได้เห็นการเลิกกิจการของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ล่าสุดก็คือบริษัทปิโตรนาส ดังนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงยังขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐด้วย

สำหรับ ประเด็นที่โลกออนไลน์ตั้งคำถามอีก คือ ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน 100,000 ล้านบาทนั้น เขาบอกว่า ผู้ที่จะกำหนดทิศทางราคาพลังงานในประเทศคือกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ปตท.ถือเป็นแค่เพียง Operater รายหนึ่งเท่านั้น กำหนดราคาเพื่อให้ได้กำไรมากไม่ได้

หรือ แม้แต่ในประด็นที่ว่า ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้น้ำมันรายใด การระบุว่า ปตท.ขายน้ำมันได้กำไรระดับ 100,000 ล้านบาท หากมันคือข้อเท็จจริง ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ ก็ต้องมีกำไรที่ไม่แตกต่างกันมากเช่นกันในส่วนของผลประกอบการนั้น ปตท.มียอดขายที่ 2 ล้านล้านบาท กำไรอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3-4 ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงนำเงินฝากแบงก์คงได้รายได้ระดับนี้

แต่สำหรับ ปตท.มีความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า ลงทุน 100 บาทเท่ากับว่าได้กำไรแค่ 4 บาท ในส่วนของกำไร 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือยังต้องไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะล่าสุดแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท. ปี"56-60 ต้องลงทุนสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะต้องผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า

แต่ เมื่อโฟกัสไปเฉพาะกำไรที่เกิดจากธุรกิจน้ำมันนั้น ปตท.มีกำไรจากน้ำมันแค่ 10,000 ล้านบาท จากรายได้ที่ 600,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ใช่เฉพาะขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมาจากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ภายในสถานีบริการอีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟ กำไรระดับดังกล่าวถือว่าไม่มาก ปตท.มองว่าในบรรดา 6-7 ธุรกิจของ ปตท. น้ำมันถือว่าเป็นโปรดักต์ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด จึงเกิดการโจมตีได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ก๊าซธรรมชาติจาก พม่าจากแหล่งยาดานาหยุดส่งมาไทยในช่วง 5-14 เมษายนนี้ "ไพรินทร์" มองว่าจะกระทบโรงไฟฟ้าโดยตรง จึงต้องแก้ไขด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ เสริมเป็นเชื้อเพลิง

ส่วนที่ว่า ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตก๊าซรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาระตกอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้านั้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา และมีการวางแผนล่วงหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากประเทศไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มานาน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพึ่งพาก๊าซมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ไม่สมดุล หากยังต้องการใช้ไฟฟ้าต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ถามถึงการทยอยไป ลงทุนในต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และให้ประเทศได้ใช้ราคาพลังงานระดับที่เหมาะสม บิ๊กบอส ปตท.ยืนยันว่า ยังอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะในบริษัท Cove Energy ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะนำพลังงานกลับมารองรับการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะพยายามลงทุนเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ นั่นคือเป้าหมายของ ปตท.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บิ๊กบอส ปตท. ไพรินทร์ เคลียร์ปมร้อน พลังงานไทย

view