สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วสันต์ เผยเสียงข้างมากยึดติดอำนาจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยอยากเห็นบ้านเมืองไร้ความขัดแย้ง ย้ำเสียงข้างมากยึดติดอำนาจไม่ใช่ได้รับอนุญาตให้สัมปทานเหมือนเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อเรื่อง ความปรองดอง ความยุธรรม และประชาธิปไตย เนื่องในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2556 ครบรอบ 106 ปี ชาตะกาล ที่ห้องประชุมสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ

นายวสันต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หากพูดถึงประชาธิปให้ไทย แน่นอนนั่นก็หมายถึงต้องมีการเลือกตั้ง ประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่แน่ใจได้อย่างไรว่า ประชาชนเข้าใจถึงคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง นักการเมืองมักชอบพูดว่า คืนอำนาจให้ประชาชน แปลว่า อำนาจของประชาชนมีแค่ชั่วแปบเดียวหรือ แต่แท้จริงแล้วอำนาจเป็นของประชาชน ผู้ที่ได้เสียงข้างมากนั้น ประชาชนเป็นผู้มอบหมายให้ดูแลประเทศ แต่บางครั้งเสียงข้างมากก็ยึดติดกับอำนาจ หลงไหลในอำนาจที่ตนเองมีอยู่ การได้เสียงข้างมาก ไม่ใช่ได้รับใบอนุญาตให้สัมปทานเหมือนเอกชน การดำเนินการของบริษัทเอกชน หากจะแก้ไขกฎระเบียบก็แค่ให้ทนายเป็นคนจัดการ ส่งรายงานการประชุมเวียนจดครบ ก็สำเร็จแล้ว แต่กระบวนการการบริหารประเทศ ฝ่ายบริหารต้องนำเข้าสภาฯ เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรด้วย

นายวสันต์ กล่าวว่า ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ยังได้เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อชนะการเลือกตั้งได้พรรคพวกมาในสภาก็แก้ไขกฎหมาย เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ในที่สุดผู้นำเสียงข้างมากก็นำพาเยอรมันไปสู่หายนะ หลังจากนั้นประเทศเยอรมันจึงมีศาลรัฐธรรมนูญและมีอำนาจมาก หากเห็นฝ่ายบริหารส่อว่าจะทำการละเมิด ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน สามารถหยิบยกมาพิจารณาและมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าวได้ทันที เพราะประเทศเยอรมันมีบทบัญญัติพิทักษ์รัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนไว้ด้วย ส่วนของไทยก็ลอกมา นั่นก็คือ มาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

นายวสันต์ กล่าวตอบข้อสงสัยที่มีคนข้องใจเรื่องการรีบประชุมด่วน กรณีคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ยื่นร้องคัดค้านการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้น เพราะคำร้องนี้มีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินเข้ามาด้วย ดังนั้นก่อนที่เราจะพิจารณาว่าจะคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินหรือไม่นั้น เราก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะรับคำร้องหรือไม่ ความถูกต้องกับความถูกใจอาจจะเดินคนละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศาลไหนเราให้ความเคารพในเสียงข้างมากและรับฟังเสียงข้างน้อย เพราะฉะนั้นคำวิจารณ์ที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญรุกรนเกินไป ก็ถือเป็นความเห็นของคนที่สู่รู้ บางคนอ้างว่าจบปริญญาเอกทางกฎหมายแต่แกก็ไม่รู้จักให้เกียรติเสียงข้างน้อย เพราะบางครั้งประชาธิปไตยไม่ใช่เอาเสียงข้างมากมาเป็นเกณฑ์เท่านั้น แต่เราต้องเอาเหตุผลเสียงข้างน้อยมาประกอบในบางประเด็นด้วย และคนที่คุมกติกาต้องมาจากองค์กรอื่น ที่เป็นอิสระจากทุกฝ่าย คนที่มีหน้าที่ตัดสิน ต้องเป็นคนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร นั่นก็คือองค์กรตุลาการ

นายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าองค์กรตุลาการไม่ได้ยึดโยงประชาชน ก็ถามตรงๆว่า ต้องให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเลยหรือไม่ เห็นว่าประธานศาลฎีกาก็จะให้สภาฯเห็นชอบด้วย ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้ใครที่อยากเป็นประธานศาลฎีกาก็โปรดทำตัวเป็นสมุนนักการเมือง ถามว่าต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ฉะนั้นเมืองไทยต้องมีองค์กรในการตรวจสอบ เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยต้องใช้กฎหมายเล่มเดียวกัน การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างทำอะไรอำเภอใจประเทศก็ไม่สงบ


"เคยโต้เถียงกับผู้บังคับบัญชาเรื่องหนึ่งในเรื่องการสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความรู้ความสามารถ ในการเข้ามารับตำแหน่งนั้น ถือว่าไม่เป็นบุญคุณ อันนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา จึงไม่ถือว่าเป็นการมีวันนี้เพราะพี่ให้ เพราะถือว่าไม่มีความสามารถที่จะรับตำแหน่ง เมืองไทยเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ องค์กรภายนอกมีอำนาจตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจแทรกแซง ชีวิตตนเคยได้รับใบสั่งจากจราจรเท่านั้น แต่ใบสั่งอื่นไม่เคยเห็น เราไม่ใส่ใจไม่รับรู้กับเสียงลอยไปลอยมาว่าอย่างนู้นอย่างนี้ ต้องนิ่งและหนักแน่นทั้งๆที่ความจริงการออกมติแต่ละครั้งก็คละกันไป โดยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาย้อนสำรวจไปได้ ส่วนใหญ่ตนลงความเห็นในเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมด มีเรื่องที่ตรงข้ามกับความเห็นของพรรคเพื่อไทยก็คือกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ เท่านั้น แต่ก็ไม่วายถูกด่า "นายวสันต์ กล่า


ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นองค์กรตุลาการของศาลคือ การต้องมีหลักปฎิบัติเคารพเสียงข้างมาก และหลีกเลี่ยงการกระทำที่ว่าสองมาตรฐาน คนพูดบางคนยังไม่เข้าใจ คำว่าสองมาตรฐานนั้นคืออะไร แต่ทั้งนี้คำว่าสองมาตรฐาน หมายถึงเรื่องเหมือนกันทุกอย่างแต่ตัดสินไม่เหมือนกัน ทำไมการวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิชาธิปไตยกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นคนละประเด็นใช้กฏหมายตัดสินคนละฉบับแต่ก็ถูกโยงว่า เป็นสองมาตรฐาน ดังนั้นข้อหาคนละอย่างตัดสินไม่เหมือนกันไม่ใช่สองมาตรฐาน คำพูดที่ว่าสองมาตรฐานคือคนที่ไม่เข้าใจ

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการแตกแยกนั้น ต้องถามกลับไปว่าบ้านเมืองเราเริ่มแตกแยกตั้งแต่เมื่อไหร่ คนส่วนใหญ่มักพูดกันว่าความแตกแยกเกิดขึ้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 แต่ตนว่าไม่ใช่แบบนี้ ตนคิดว่าความแตกแยกเริ่มตั่งแต่ปี 2548 ว่า ตั้งแต่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ออกมาขุดคุ้ยเรื่องนู้นนี้ และถูกถอดจากช่อง 9 ก่อน ที่จะออกมาเป็นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นก็สัญจรไปยังสวนลุมพินี ตอนนั้นคนยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ในช่วงปี 2548 มีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และมีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็เลยมีการชุมนุมเล็กๆเป็นรายสัปดาห์ขึ้น จนมาถึงช่วงเดือนมกราคม 2549 ได้มีการออกกฏหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งพ.ร.บ.นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์ให้คนต่างด้าวมาถือหุ้น จากเดิม 25% เป็น 40 %

"หลังจากพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา บริษัทชิน คอเปอร์เรชั่น จำกัด ก็ได้เทขายหุ้นให้กับบริษัท เทมาเสก เป็นจำนวนเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น โดยมีการพูดโต้ตอบกันว่า เป็นการขายหุ้นไม่ได้ขายชาติ ซึ่งจากนั้นในช่วงเดือนมี.ค. ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่ายกเลิกการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อีกทั้งช่วงเดือนก.พ. ก็มีการประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งในขณะนั้น พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมลงสมัครเลือกตั้งด้วย จึงทำให้เกิดเงื่อนไขในการเลือกตั้ง เพราะมีพรรคเดียวที่ลงสมัครเลือกตั้ง น

อกจากนี้ช่วงปี 2549 มี ก็ยังมีเหตุการณ์อื่นๆทางการเมืองที่ตามมา จนกลายมาเป็นรัฐบาลคมช. ในช่วงปี 2550 เริ่มมีการชุมนุมของนปก. ที่สวมเสื้อแดง ปีนั้นมีความขัดแย้งเต็มที่ ผมเคยดูรายการทีวี ที่ไปสัมภาษณ์ฝรั่ง ที่ถามว่าทราบหรือไม่ว่าเหตุการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดจากอะไร ซึ่งฝรั่งคนนั้นตอบว่า เกิดจากฝ่ายที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และฝ่ายที่ต่อต้าน และนี่คือเหตุผลของความขัดแย้งในบ้านเมืองเรา ดังนั้นต้องถามว่าการที่ออกมาพูดว่าปรองดอง จริงใจที่จะปรองดองกันหรือไม่ เพราะการปรองดองพูดคุยกัน ต้องประนีประนอม และต้องมีคนกลางเพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันได้ อีกทั้งการพูดคุยกันต้องลดเงื่อนไขของกันและกัน แต่ถ้าบอกว่าจะปรองดองกันแล้วมีเงื่อนไขของตนเอง แบบนี้จะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร"นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์กล่าวว่านอกจากนี้ สื่อฯทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะแต่ละฝ่ายก็มีสื่อฯดาวเทียมในมือ ดังนั้นสื่อฯต้องเป็นตัวลดความขัดแย้งของบ้านเมือง

"ผมอยากเห็นบ้านเมืองปรองดอง จะนิรโทษกรรม หรือปรองดองอะไรก็ได้ แต่ขอให้ถามผู้รู้สักนิด อย่าออกกันมาแล้วให้มาตกที่ผม กฎหมายที่ออกมาต้องไม่เลือกปฎิบัติ ถ้าออกมาไม่ยึดหลักนี้ แล้วจะมาโทษคนอื่นว่าไม่เป็นธรรมไม่ได้ เราภาวนาอยากเห็นคู่ขัดแย้งหันหน้ามาคุยกัน โดยผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเริ่มที่จะปรองดอง เราเคยเห็นการพูดคุยกันทั้งสองฝ่าย แต่พอมีโทรศัพท์เข้ามา ก็กลับเลิกคุยกันซะงั้น เราอยากเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประนีประนอมกัน ลดความต้องการกันบ้าง ถ้ายังแข่งกันในเงื่อนไขของตนเองก็คงไม่ได้เห็น ผมเชื่อว่าในชีวิตผมคงไม่ได้เห็น"นายวสันต์ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วสันต์ เสียงข้างมาก ยึดติดอำนาจ

view