สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลประโยชน์ภายใน เป็นเหตุ ดับฝัน เออีซี เสรีไม่จริง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ยังคงได้รับการจับตามองจากสายตาประชาคมโลกเสมอ สำหรับความเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมระดับผู้นำที่บรูไนช่วงกลางสัปดาห์ นอกเหนือจากประเด็นพิพาทหมู่เกาะและความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี

เนื่องจากหากสามารถผลักดันให้เป็นตลาดเดียว ที่สินค้า บริการ และแรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎเกณฑ์ยุ่งยาก ย่อมหมายถึงการยกระดับมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวมถึงเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะพยายามพูดคุยสม่ำเสมอ และแสดงความคืบหน้าของการก่อตั้งเออีซีอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักกลับลงความเห็นตรงกันว่า ยิ่งใกล้กำหนดเออีซีในปี 2558 เท่าไร ก็ยิ่งเห็นว่าความเป็นไปได้ของเขตการค้าเสรีเริ่มริบหรี่เต็มที จนกระทั่งนักวิชาการส่วนหนึ่ง ระบุว่า เออีซีอาจเป็นเพียงฝันเกินตัวและทำไม่ได้ของสมาชิกอาเซียนทั้งหมดก็เป็นได้

เหตุผลเพราะอาเซียนยังไม่สามารถฝ่าอุปสรรคสำคัญอย่างการยกเลิกมาตรการ ป้องกันการผูกขาด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การเก็บภาษีนำเข้าหรือพิกัดอัตรา ภาษีศุลกากรต่างๆ (NonTariff Barrier) สำหรับสินค้าบางประเภท เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นตลาดการค้าเสรีได้อย่างแท้จริงได้ โดยมีหลักฐานยืนยันจากความเคลื่อนไหวของ 10 ชาติสมาชิกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศใช้ ระเบียบบังคับทางการค้าใหม่ เพื่อรับมือกับดุลการค้าที่ขยายกว้างมากขึ้น จนทำให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนลงกลายเป็นภาระหนักให้กับผู้บริโภคและภาค อุตสาหกรรมนำเข้า ที่ต้องแบกรับต้นทุนซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ระบุว่า อินโดนีเซียกำหนดเก็บภาษีส่งออก 20% สำหรับโลหะมีค่า และสินค้าโภคภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพื่อลดต้นทุนของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ยกระดับระเบียบการค้าของสินค้าจำพวกผักและผลไม้ให้เข้มงวดมาก ขึ้น เพื่อปกป้องเกษตรกรของชาติ

ขณะที่มาเลเซีย แม้ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ออกมา แต่การดำเนินการเพื่อยกระดับกฎหมายป้องกันการผูกขาด เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศอย่างโทรคมนาคมและรถ ยนต์ ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับกลุ่มอาเซียนกลับเป็นไปอย่างล่าช้า

กระทั่ง สิงคโปร์ ประเทศผู้สนับสนุนหลักของการรวมเป็น ประชาคมอาเซียน ก็เริ่มหามาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการจากชาติอาเซียนด้วยกัน แล้วเช่นกัน โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายควบคุมการอพยพโยกย้ายแรงงานต่าง ชาติเข้าประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่าอาจกระทบต่อหนึ่งในเสาหลักของ การเป็นเออีซีที่มุ่งให้มีการโยกย้ายแรงงานได้อย่างเสรี

เดบราห์ เอมส์ ประธานผู้ก่อตั้งศูนย์การค้าและการเจรจาแห่งมูลนิธิเทมาเซกในสิงคโปร์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของแต่ละชาติสมาชิกในปัจจุบัน จะเห็นว่าต่างคนต่างเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับคำว่าการค้าเสรี ขณะที่รายงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนในเดือน พ.ค. 2555 ระบุชัดว่า ระเบียบขั้นตอนที่จะต้องบังคับใช้เพื่อลดการกีดกันทางการค้าในปี 2554 มีการนำมาใช้จริงไม่ถึงครึ่งของกฎทั้งหมดที่อาเซียนตกลงร่วมกัน

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะแรงกดดันทางการเมืองที่แต่ละชาติสมาชิกในอาเซียนได้ รับ โดยบรรดาผู้นำในอาเซียนจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาฐานอำนาจ ซึ่งหมายรวมถึงการจัดหามาตรการนโยบายที่จะสร้างความพอใจให้กับประชาชนใน ประเทศเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจขัดต่อหลักการค้าเสรีที่อาเซียนตกลงกันไว้ก่อน หน้าที่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย กำลังเผชิญหน้ากับการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่า ผลลัพธ์น่าจะออกมาอย่างสูสีในวันที่ 5 พ.ค.นี้ ด้านอินโดนีเซียเตรียมจัดการเลือกตั้งในปีหน้า และฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งในปี 2559 ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังแสวงหาหนทางรักษาฐานอำนาจหลังพ่ายให้กับพรรคฝ่าย ค้านในการเลือกตั้งซ่อมทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนไม่พอใจกับต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติ

เรียกได้ว่า เมื่อปัจจัยด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าเกี่ยวข้องแนบแน่นต่อผลประโยชน์ ทางการเมืองและฐานอำนาจภายในของชาติสมาชิกอาเซียน ดังนั้นบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงสรุปไปในทิศทางเดียวกันโดยปราศจากข้อ กังขาว่า ความหวังที่จะตั้งเออีซีภายในปี 2558 น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและดูเหมือนจะริบหรี่เต็มที

ทั้งนี้ ราล์ฟ เอ็มเมอร์ส รองศาสตราจารย์วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาแห่งเอส.ราชรัตนาม ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ของกลุ่มอาเซียนในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บรรดาผู้นำในกลุ่มอาเซียนยุคนั้นไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลกับเรื่องการเมืองใน ประเทศของตนสักเท่าไรนัก ขณะที่ทุกวันนี้นักการเมืองต่างทุ่มความสนใจให้กับประเด็นดังกล่าวเพื่อหวัง คว้าชัยในการเลือกตั้งสมัยหน้าเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ การก่อตั้งเขตการค้าเสรียังออกแววสะดุดติดขัด เมื่อ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเริ่มหันไปมุ่งเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอย่างจริงจัง กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดอยู่ในกลุ่มอาเซียนเองมากขึ้น โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เพิ่งจะอ้าแขนต้อนรับญี่ปุ่นที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่และน่าจับตามองมากที่สุด ภายใต้แรงผลักดันสำคัญของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ

บรรดานักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างออกโรงติงไปในทิศทางเดียวกันว่า ข้อตกลงหรือกฎเกณฑ์บางประการที่บางชาติสมาชิกอาเซียนทำไว้กับประเทศนอกกลุ่ม อาจขัดขวางการเดินหน้าก่อตั้งเขตการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซป) หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป้าหมายใหญ่ที่มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในปี 2558

ทั้งนี้ แม้เป้าหมายที่จะให้เศรษฐกิจการค้า รวมถึงแรงงานและการบริการภายใน 10 ประเทศอาเซียนสามารถเคลื่อนไหวโยกย้ายได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ กีดกั้น จะค่อนข้างหวังได้ยาก แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งยังคงมองในแง่ดีว่า อย่างน้อยที่สุดภายในกำหนดปี 2558 ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดน่าจะมีความคืบหน้าที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สันชิตา บาสุ ดัส นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ไอเอสอีเอเอส) แนะว่า อาเซียนต้องยึดตามหลักความเป็นจริงของสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งบ่งชี้ชัดอยู่แล้วว่า การตั้งเขตประชาคมเศรษฐกิจให้เป็นตลาดเดียวไม่สามารถลุล่วงได้ 100% ภายในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งต่างเห็นตรงกันว่า เป้าหมายใหญ่ของอาเซียนอาจไม่สามารถประสบผลสำเร็จตามที่ 10 ประเทศตั้งความหวังเอาไว้ได้เลยก็เป็นได้

เพราะตราบใดที่สมาชิกแต่ละประเทศยังไม่สามารถมองข้ามผลประโยชน์ภายในของ ตัวเอง และหันมาคำนึงถึงผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมของอาเซียนได้ ตลาดการค้าเสรีอาเซียนย่อมไม่มีหวังที่จะเกิดขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลประโยชน์ภายใน เป็นเหตุ ดับฝัน เออีซี เสรีไม่จริง

view