สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชานิยมมาเลเซีย แจกแถมเกินตัวเสี่ยงถังแตก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เป็นที่น่าจับตามองในสัปดาห์นี้ก็คงเลี่ยงไม่ พ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซีย ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.นี้ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันกันที่สูสีมากที่สุดใน ประวัติศาสตร์ของประเทศที่ก่อตั้งมาราว 56 ปี ซึ่งแน่นอนว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นย่อมส่งผลถึงทิศทางเศรษฐกิจของชาติ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไปโดยปริยาย

สาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้สูสีคู่คี่กันมากก็เพราะว่า การบริหารงานของพรรคอัมโนในปัจจุบันดูจะไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหา เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ ขณะเดียวกันการคงนโยบายเลือกปฏิบัติและให้สิทธิพิเศษแก่คนเชื้อสายมลายู ที่เรียกว่า “ภูมิบุตร” ก็กลายเป็นตัวบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัย มหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงตีตื้นทำคะแนนขึ้นมาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และในครั้งนี้คาดว่าจะทำคะแนนเบียดพรรครัฐบาลแบบหายใจรดต้นคอ

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้การแข่งขันกันระหว่างพรรคอัมโน ซึ่งเป็นฝ่ายครองอำนาจรัฐมานานกว่า 50 ปี ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ราจิบ ราซัค กับพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม จะยากแก่การคาดเดาว่าสุดท้ายแล้วใครจะเป็นฝ่ายคว้าชนะเข้าป้ายในท้ายที่สุด แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือว่า ผลจากการที่พรรคการเมืองทั้งสองพรรคมุ่งใช้นโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจก แถมสารพัดโครงการที่ออกมาในช่วงหาเสียงนี้ เพียงเพื่อหวังดึงคะแนนของประชาชนมาไว้ในมือมากที่สุด กำลังสร้างความเสี่ยงต่ออนาคตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของดินแดนเสือเหลือง เป็นอย่างยิ่ง

เพราะการที่ทั้งสองพรรคให้คำมั่นสัญญากับประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมหลายโครงการ เช่น ราซัค ที่ประกาศว่าจะเพิ่มสวัสดิการและเงินแก่ประชาชนผู้ยากจนและข้าราชการ รวมไปถึงการเพิ่มรายจ่ายของงบประมาณของรัฐบาลกลาง 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 80% ของงบประมาณกลาง ขณะที่ อิบราฮิม ก็ประกาศว่าจะมอบนโยบายเรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย การยกเลิกภาษีหลายชนิด และเพิ่มการอุดหนุนรายจ่ายต่างๆ รวมกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.3 แสนล้านบาท) นั้นก็เป็นที่แน่ชัดว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามานั่งบริหารประเทศจะต้องทำ ให้สถานะการคลังของชาติต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 53.1% ต่อจีดีพี ซึ่งนอกจากสิงคโปร์แล้ว มาเลเซีย ถือว่ามีหนี้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วในขณะนี้

นอกจากนี้ แผนประชานิยมที่คาดว่าจะก่อให้เกิดรายจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลัง จากการเลือกตั้งนี้ก็จะเป็นตัวบั่นทอนเป้าหมายที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าไว้ ว่าจะยกระดับให้ประเทศตนเองเข้าสู่สถานะ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี 2020 อีกด้วย

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา มาเลเซียก็เคยลิ้มรสกับบทเรียนจากการใช้นโยบายประชานิยมจนทำให้ระดับหนี้ สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาแล้ว เช่นสมัยของ ราซัค ในสมัยแรก ซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลพรรคอัมโนกำลังพยายามเอาใจประชาชนสารพัดโครงการ หลังจากที่สูญเสียคะแนนส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในการประเมินเบื้องต้นของผู้ช่วยศาสตราจารย์ บริเจต เวท นักวิเคราะห์ด้านการเมืองมาเลเซียจากสิงคโปร์เมเนจเมนท์ยูนิเวอร์ซิตี้ ระบุว่า ราซัค ใช้งบมากกว่า 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.5 แสนล้านบาท) ในโครงการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ครองอำนาจในปี 20092013 คิดเป็นอัตราเฉลี่ยแล้วประชาชนต่อหัวจะได้รับประโยชน์ราว 1,400 เหรียญสหรัฐ (4 หมื่นบาท)

หรือหากอยากเปรียบให้ชัดกว่านั้นก็ดูได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะก่อนหน้าที่ ราซัค จะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2008 ซึ่งเคยอยู่ที่ 42.7% ก่อนจะพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วในปี 2010 ที่ 55.4% และ 53.1% ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าล่าสุด ราซัค จะออกมาปกป้องการใช้มาตรการประชานิยมของตนว่าเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งโครงการต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่ทำให้ระดับหนี้สาธารณะพุ่งสูงเกินเพดานที่ 55% ของจีดีพี ทว่านักวิเคราะห์และนักวิจารณ์ก็พากันออกมาท้วงติงว่าสาเหตุที่ตัวเลขหนี้ ต่ำกว่า 55% นั้นก็เป็นเพราะรัฐบาลปกปิดซุกซ่อนหนี้และตัวเลขที่แท้เอาจริงไว้เสีย มากกว่า

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะในพื้นที่ที่เป็นของฝ่ายค้านก็ได้มีการจัดโครงการอุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ แก่ประชาชนในเขตของตนที่ได้รับชัยชนะในปี 2008 จนเป็นผลทำให้งบประมาณแผ่นดินสูญเสียไปราว 20%

ดังนั้น จากแนวโน้มที่กล่าวมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าการแข่งขันทางการเมืองอันดุเดือด และสูสีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจะเป็นตัวกระตุ้นให้การแข่งขันกันเพื่อผลักดัน นโยบายประชานิยมเป็นไปอย่างดุเดือดและร้อนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งในท้ายที่สุดผู้ที่ต้องมาแบกรับผลกรรมของการกระทำก็คงหนีไม่พ้นลูกหลาน ชาวมาเลเซียในอนาคตนั่นเอง

“วันนี้เหล่านักการเมืองมาเลเซียกำลังบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปสู่การ ก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคตสำหรับลูกหลานของชาวมาเลเซียเอง และถ้าวันนั้นเกิดขึ้นจริง ทุกคนก็จะหันกลับมามองที่รากฐานของปัญหา” วัน ไซฟูล วันจัน นักวิเคราะห์จากสถาบันคลังปัญญาไอเดียจากมาเลเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี

จึงนับเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองว่า หลังการเลือกตั้งนี้รัฐบาลจะผลักดันมาตรการใดออกมา และนั่นอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางทางเศรษฐกิจของดินแดนเสือเหลือง ไปตลอดกาลก็เป็นไปได้ไม่น้อย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประชานิยมมาเลเซีย แจกแถม เกินตัว เสี่ยงถังแตก

view