สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบ่งเค้กลงทุนน้ำ 3 แสนล. งานหินรัฐบาลยิ่งลักษณ์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ


วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องจับตาว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครอง ชั่วคราวและสั่งระงับการยื่นซองประมูลโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำหรือ ไม่ หลังสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหาร จัดการน้ำ เพราะเป็นแผนลงทุนที่ “ไม่มี” ส่วนร่วมจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

และนั่น “อาจ” ทำให้การประมูลโครงการลงทุนระบบน้ำภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้าง อนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ต้องพบกับอุปสรรคขวากหนาม แต่จนแล้วจนรอดการผลักดันการลงทุนระบบน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) ที่มี ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ล่าสุด วันนี้ (3 พ.ค.) คณะกรรมการพิจารณาคัดสรรโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่มี ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะเปิดให้เอกชน 5 กลุ่มยื่นซองเทคนิคและซองประมูลราคาการลงทุนระบบน้ำ 9 แผนงาน (โมดูล) มูลค่างาน 2.91 แสนล้านบาท

งานนี้จะมีเอกชนที่จะเข้ายื่นซองประมูล 5 กลุ่มบริษัท ได้แก่ 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (KWater) จากเกาหลีใต้ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV 4.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ และ 5.กลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

ไม่นับกลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่นไทย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท โอบายาชิ, ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง, ซันยู คอนซัลแตนท์ส, องค์กรบริหารน้ำประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ที่ “ถอดใจ” และถอนตัวจากการยื่นซองประมูลรอบสุดท้าย

ท่ามกลางข้อกังขาความไม่ชอบมาพากลต่างๆ แต่ไม่มีระบุชัดเจนว่า มีการเรียก “หัวคิว” กันหรือไม่

“ญี่ปุ่นเสนอใช้งบลงทุนระบบน้ำมากกว่า 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเงินที่เรามีอยู่ เขาจึงขอถอนตัว โดยส่งจดหมายมาชี้แจงเรียบร้อยแล้ว จึงเหลือ 5 กลุ่ม ที่จะร่วมประกวดราคา” ปลอดประสพ ชี้แจง

เป็นการชี้แจงวงเงินที่เอกชนเสนอโดยยังไม่มีการเปิดซองการประมูลใดๆ

ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่นไทย ให้เหตุผลการถอนตัว หากได้ชนะการประมูลก็เกรงว่าอาจจะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามเงื่อนไขทีโออาร์ น้ำตั้งไว้ โดยเฉพาะการติดปัญหาการเวนคืนที่ดินก่อสร้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง กับชุมชนไปได้ ซึ่งนอกจากกลุ่มญี่ปุ่นจะต้องเสียค่าปรับที่สูงลิบ เพราะงานไม่เสร็จตามกำหนดแล้ว ยังจะเสียชื่อเสียงอีกด้วย

ทว่าเสียงลือในวงการผู้รับเหมาระบุว่า เหตุที่ญี่ปุ่นถอนตัว เพราะรู้ว่าโครงการลงทุนมีการ “ล็อก” กลุ่มบริษัทที่จะชนะการประมูลแต่ละแผนงานเรียบร้อยแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV ที่มี บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ “ดีเยี่ยม” กับรัฐบาลชุดนี้เป็นหัวหอก

เช่นเดียวกับบริษัท KWater จากเกาหลีใต้ ที่มี “แบ็กอัพ” หนุนหลังชั้นดีจากคนใหญ่คนโตในรัฐบาล ที่เรียกขานกันว่า “เจ๊ ด.” เพราะคนจากกลุ่ม เจ๊ ด. นี้เองเป็นผู้ชักชวน บริษัท K-Water ให้ “บินเดี่ยว” จากเกาหลีใต้เข้าร่วมเสนอกรอบแนวคิดลงทุนระบบน้ำ (Conceptual Plan) และเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 10 แผนงาน ก่อนยุบเหลือ 9 แผนงานในวันนี้

ปรากฏการณ์ที่อดีตนายกฯ ผู้ที่ถูกรัฐประหารปี 2549 บินแวะเวียนเกาหลีใต้อย่างน้อย 23 ครั้ง และชื่นชมการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของเกาหลีใต้ ทั้งให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เกาหลีใต้ว่าไทยจะร่วมมือกับเกาหลีใต้ในการลง ทุนโครงการบริหารจัดการน้ำย่อมสะท้อนภาพได้ดี

ยิ่งเมื่อตอกย้ำด้วยท่าทีของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บินไปเยือนเกาหลีใต้อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์เยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับ ตำแหน่งประธานาธิบดีของปาร์กกึนเฮ วันที่ 2425 ก.พ. 2556 ก่อนที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะบินไปเยือนเกาะฮ่องกง

สิ่งเหล่านี้น่าจะมีความเกี่ยวพันไม่น้อยกับการเข้ามาของบริษัท K-Water

และนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ “ญี่ปุ่น” เคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสของการประมูล และขอถอนตัวจากการยื่นซองประมูลโครงการรอบสุดท้ายก็เป็นได้

ทั้งๆ ที่การลงทุนครั้งนี้สำคัญต่อญี่ปุ่นอย่างมาก

เพราะต้องไม่ลืมว่านักลงทุนญี่ปุ่นตั้งฐานการผลิตในไทยจำนวนมาก และมีแผนจะย้ายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาตั้งหลักปักฐานในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่เป็นแหล่งลงทุนใหญ่ของญี่ปุ่น และเสียหายอย่างหนักจากมหาอุทกภัย ทำให้การเข้าร่วมประมูลงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “กำไร” จากเงินค่าก่อสร้างเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงการการันตีว่า ฐานการผลิตสินค้าต่างๆ ของญี่ปุ่นในไทยจะปลอดภัยจากน้ำท่วม

ดังนั้น การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีแผนเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 2224 พ.ค.นี้ คงมีนัยไม่น้อย โดยเฉพาะการชี้แจงทำความเข้าใจกับรัฐบาลและนักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับแผน บริหารจัดการน้ำ

ส่วนการที่บอกว่าการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ เพื่อนำเอกชนไทยไปเปิดตลาดสินค้า น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับรองลงมามากกว่า

แต่ก่อนหน้านั้นคือ ช่วงก่อนหยุดยาวสงกรานต์ของไทย ปลอดประสพได้เดินทางไปญี่ปุ่นและได้เข้าชี้แจงกับทางการญี่ปุ่นและบริษัทใน กลุ่มร่วมค้าญี่ปุ่นไทย ว่า เป็นไปได้ยากที่บริษัทญี่ปุ่นจะชนะการประมูลโครงการน้ำ เพราะต้นทุนค่าก่อสร้างสูงกว่าเงินที่รัฐบาลไทยมีอยู่ก่อนที่จะเดินทางไป เยือนจีน

จึงเป็นที่มาของข้อเสนอที่ให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเป็น “บริษัทที่ปรึกษา” โครงการลงทุนระบบน้ำ ที่มีการเตรียมเม็ดเงินค่าที่ปรึกษาในวงเงิน 5,000-6,000 ล้านบาท และการเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการนั้น ยังทำให้ญี่ปุ่นสามารถ “ควบคุม” งานลงทุนระบบน้ำที่จะปกป้องอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในไทยได้ด้วย

“ขณะนี้ทางญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งการจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาจะมีพันธะเรื่องการก่อสร้างไม่ได้ การถอนตัวครั้งนี้เป็นการออกไปด้วยดี และตอนนี้ใครอยากออกอีกก็เชิญ ไม่ง้อ เพราะผมมีหน้าที่หาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและถูกที่สุด” ปลอดประสพ ระบุ

แต่งานนี้เป็นไปได้สูงว่า 6 กลุ่มบริษัททั้งที่ยังร่วมยื่นซองรอบสุดท้ายและกลุ่มที่ถอนตัวแล้ว ล้วนแล้วแต่จะได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า

นั่นเพราะหากบริษัท K-Water ชนะการประมูลโครงการน้ำแผนงานใดแผนงานหนึ่งก็ต้อง “จ้างเหมาช่วง” ผู้รับเหมาไทยอยู่ดี แต่ก็ทำให้บริษัทมีกำไรงามอยู่ดี

ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV จะเป็นทั้งผู้ก่อสร้างระบบจัดการน้ำ โดยเฉพาะเนื้องานที่มีกำไรสูง

ส่วนโครงการที่กำไรน้อยก็จะเปิด “ซับคอนแทกต์” ให้บริษัทรับเหมารายอื่นๆ และผู้รับเหมาที่เสนอตัวร่วมประมูลด้วย เช่น ช.การช่าง ที่อยู่ในกลุ่มกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ เป็นต้น

นั่นเพราะมีเงื่อนเวลาในทีโออาร์ที่กำหนดให้ต้องสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี โครงการใหญ่ๆ แบบนี้หากทำเพียงลำพังไม่มีทางเสร็จทันตามกำหนด

แต่กระนั้นการถอนตัวของกลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่นไทย ก็มีประเด็นให้ต้องขบคิด เพราะการถอนตัวของกลุ่มทำให้บางแผนงานใน 9 แผนงานเหลือผู้ยื่นซองประกวดราคาเพียง 2 ราย

อาทิ แผนงานการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

แผนงาน การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 6 หมื่นล้านบาท

แผนงาน การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) ร่วม 1.2 แสนล้านบาท

“ผู้ร่วมประมูลโครงการลงทุนน้ำที่เหลือเพียง 2 รายในบางแผนงาน คงบอกไม่ได้ว่า ขัดต่อกฎหมายฮั้ว หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ เพราะต้องพิจารณาจากพฤติกรรมว่ามีการฮั้วหรือกีดกันไม่ให้เสนอราคาหรือไม่” เมธี ครองแก้ว อนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าว

เช่นเดียวกัน แผนงานลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านที่ กบอ.กำหนดไว้ และกำหนดทีโออาร์นั้น มีสิ่งที่ต้องให้ฉุกคิด นั่นคือไม่มีการกำหนด “ราคากลาง” ในโครงการก่อสร้าง

ที่สำคัญยังไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนอย่างจริงจัง

การให้เอกชนยื่นซองโครงการลงทุนน้ำ และคณะกรรมการทีโออาร์จะพิจารณา 3 สัปดาห์ และคัดเลือกให้เหลือผู้ชนะเพียงรายเดียวต่อ 1 แผนงาน ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติก่อสร้างภายในเดือน มิ.ย.2556 จึงเป็นงานหินแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบ่งเค้ก ลงทุนน้ำ 3 แสนล. งานหิน รัฐบาลยิ่งลักษณ์

view