สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รมว.ไอซีที ขู่โพสต์ด่านายกฯผิดกฎหมายอาญา ลั่นมีอำนาจระงับเว็บไซต์ทันที

รมว.ไอซีที ขู่โพสต์ด่านายกฯผิดกฎหมายอาญา ลั่นมีอำนาจระงับเว็บไซต์ทันที

จากประชาชาติธุรกิจ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตรวจพบผู้โพสต์ข้อความตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาด่าทอผู้นำประเทศ หรือใครๆก็ตาม ทางกระทรวงไอซีทีนั้นถือเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง หากได้รับแจ้ง หรือตรวจพบ จะทำการติดต่อขอให้เจ้าของเว็บไซต์นั้นๆทำการลบข้อความดังกล่าวทันที หรือหากเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการด่าทอ ว่าร้าย หมิ่นประมาทโดยเฉพาะ ทางกระทรวงก็ถือได้ว่า มีอำนาจในการระงับการใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวทันทีเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาไอซีทีเองก็มีการตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด

 "อย่างไรก็ตามโทษ จากการโพสต์ข้อความด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย ทางเว็บไซต์ จะเข้าข่ายมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 326 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ"


“มัลลิกา” ซัด “อนุดิษฐ์” ปล่อยไก่มั่ว กม.เชลียร์ “ปู” ปล่อยปละเว็บแดงจาบจ้วง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

รองโฆษก ปชป.ตอก รมว.ไอซีที งานถนัดเชลียร์นายกฯ งัด กม.ขู่ ปชช.ห้ามวิจารณ์ ซัดน่าเวทนาทำเกินหน้าที่ ท่องตำรา กม.โต้การกระทำที่เข้าข่าย ย้ำบุคคลสาธารณะพูดถึงได้ ชี้ถูกติงเกินขอบเขตแจ้งหมิ่นได้ แต่ไม่มีสิทธิพิเศษ ท้าไปดีเอสไอแก้ต่างละเลยไม่จัดการเว็บแดงหมิ่นสถาบัน ซัดมัวแต่นั่งทำอะไรในไอซีที

       วันนี้ (6 พ.ค.) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สั่งห้ามวิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าหลายครั้งแล้วที่แสดงพฤติกรรมตาลีตาเหลือกขึงขัง ทำท่าเอาจริงเอาจังต่อเรื่องการวิจารณ์นาย ขนาดออกโรงงัดกฎหมายมาขู่ประชาชนและอ้างการใช้อำนาจกระทรวงไอซีทีอย่างผิดๆ โดยปล่อยไก่อย่างน่าเวทนา โดยระบุว่ากระทรวงไอซีทีจะปิดเว็บต์ไซต์นั้นทันที ทั้งที่หาใช่อำนาจตัวเองไม่ เพราะตามกฎหมายคือกระทรวงไอซีทีมีหน้าที่เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบรักษากฎหมายในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จากนั้นเจ้าพนักงานคือรัฐมนตรีไอซีทีต้องเป็นผู้นำเสนอศาลออกคำสั่งปิดกั้น หรือปิดเว็บไซต์ที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น มิใช่รัฐมนตรีจะไปสั่งปิดได้ทันที
       
       น.ส.มัลลิกากล่าวว่า การกระทำที่จะถือเป็นความผิดและผู้กระทำต้องรับโทษทางอาญา คือ การกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดและได้กำหนดโทษของการกระทำเอาไว้ คือ ในส่วนของหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ในมาตรา 326 และมาตรา 328 คือ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ต้องพิสูจน์ว่าได้หมิ่นประมาทหรือไม่จนสิ้นความในชั้นศาลเสียก่อนด้วย
       
       ส่วนการที่สื่อมวลชน ประชาชน สังคมในโซเชียลเน็ตเวิร์กแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากวิจารณ์จากข้อเท็จจริงที่บุคคลสาธารณะนั้นกระทำที่เชื่อว่าจะก่อความเสีย หายต่อส่วนรวม อันนี้ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในการตรวจสอบสะท้อนความคิดเห็นอัน พึงกระทำได้ แต่ถ้าข้อความคำพูดใดที่เห็นว่าเข้าข่ายล่วงล้ำถึงขั้นละเมิดหรือหมิ่น ประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไปใช้สิทธิพลเมืองแจ้งความดำเนินคดีได้ ไม่มีสิทธิ์เหนือคนอื่นไปกระทำเกินกว่ากฎหมายกำหนดให้ได้
       
       น.ส.มัลลิกากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กลางเดือนพฤษภาคมนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นัดตนไปให้ข้อมูลเรื่องร้องค้างไว้กรณีที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรัฐบาลนี้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการสกัดกั้นหรือปิดกั้น เว็บไซต์หมิ่นสถาบัน จาบจ้วงสถาบัน ด่าทอสถาบันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเว็บแดงทั้งหลายที่เคยส่งไปก็ยังเปิดจาบจ้วงคาหูคาตา จึงอยากเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปดีเอสไอพร้อมกันหรือรัฐมนตรีไอซีทีจะไปด้วยเลยยิ่งดี จะได้รู้เห็นว่าเว็บหมิ่นที่ตัวเองละเว้นไม่ลงมือทันที วันนี้มันขยายไปกว้างขนาดไหน
       
       “รัฐมนตรีไอซีทีอย่ามัวแต่เอาใจนายกฯ อย่างหยาบๆ ฉาบฉวย ฉกโอกาส หรือถ้าจะสร้างผลงานก็เอาหลักฐานลายเซ็นตัวเองที่ส่งเรื่องไปชั้นศาลกี่ เรื่องมาแถลง ลายเซ็นการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายเพื่อใช้ทักษะความเชี่ยวชาญทำงาน ด้านนี้มีหรือไม่ เอ็มโอยู 3 กระทรวงที่เคยบูรณาการไว้ระดับปลัด 3 กระทรวงลงนามร่วมกันได้ติดตามบ้างหรือไม่ วันๆ นั่งทับอะไรนั่งทำอะไรอยู่ในกระทรวง” น.ส.มัลลิกากล่าว


“สมชาย” จี้ รบ.งัด พ.ร.บ.คุมแดงแบบ อพส. อย่าสองมาตรฐาน-บี้ “อนุดิษฐ์” ปิดเว็บหมิ่น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

กมธ.สิทธิฯ วุฒิ แนะ รบ.ตั้ง ครม.ชุดเล็กเพื่อใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คุมแก๊งแดง ขู่ ปิดล้อมศูนย์ รชก. ย้อนเคยใช้กับ อพส. ดักใช้ กม.แบบเดียวกัน อย่าสองมาตรฐาน หรือให้บอกมาน้อยไม่จำเป็น บี้ รมว.ไอซีทีจัดการเว็บจาบจ้วงเบื้องสูง อย่าเก่งแต่เว็บหมิ่นนายกฯ ตอกเบิกงบ 500 ล้านตอนนี้ไปถึงไหน
       
       วันนี้ (6 พ.ค.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็กเพื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงเข้ามาควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงใน นามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ประกาศว่าจะระดมคนเพื่อปิดล้อมศูนย์ราชการในวันที่ 8 พ.ค.
       
       นายสมชายกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเคยประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการกับการชุมนุมขององค์การ พิทักษ์สยาม (อพส.) มาแล้ว โดยครั้งนั้นรัฐบาลแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ พร้อมกับระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นนายเข้ามาคุมพื้นที่ และที่สำคัญมีการใช้แก๊สน้ำตาจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยครั้งนี้เห็นว่าการประกาศท่าทีของคนเสื้อแดงได้เข้าลักษณะเดียวกับตอน องค์การพิทักษ์สยามประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อปลายปี 2555 ดังนั้น รัฐบาลควรจะดำเนินการใช้กฎหมายความมั่นคงเช่นเดียวกับที่ใช้กับองค์การ พิทักษ์สยาม
       
       “ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการกับคนเสื้อแดงด้วยการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง อาจถูกมองได้ว่ามีการกระทำที่เป็นสองมาตรฐาน หรือหากรัฐบาลไม่คิดจะใช้กฎหมายฉบับนี้ควบคุมการชุมนุมคนเสื้อแดงจริงๆ ก็ขอให้บอกว่าตามตรงว่าม็อบเสื้อแดงครั้งนี้มีจำนวนไม่มากจึงไม่จำเป็นต้อง ใช้กฎหมายดังกล่าว” นายสมชายกล่าว
       
       นายสมชายกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน อยากฝากไปยัง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เร่งจัดการกับผู้ดำเนินการเผยแพร่ข้อความและรูปภาพที่มีลักษณะดูหมิ่นสถาบัน พระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ประกาศจะจัดการเฉพาะเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาไอซีทีได้ขอจัดสรรงบประมาณไปมากกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขอติดตั้งอุปกรณ์จัดการกับผู้กระทำความผิด จึงอยากถามว่าปัจจุบันได้ดำเนินการจัดการกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบันพระมหา กษัตริย์ไปถึงไหนแล้ว


เตือนไอซีทีไม่ควรใช้อำนาจตัดสิทธิประชาชน

จาก โพสต์ทูเดย์

กรรมการสิทธิฯเตือนรัฐไม่ควรใช้ อำนาจเกินขอบเขตตัดสิทธิประชาชน แนะนายกฯควรรับคำวิจารณ์มาปรับปรุงการทำงาน "จักรภพ" ชี้ประชาธิปไตยต้องไม่แยกเพศ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในทางเสียหายนั้น หน่วยงานรัฐหรือฝ่ายบริหาร ไม่ควรที่จะใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต ในการห้ามปราบการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในสังคมประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ทั้งนี้ในสังคมระบอบประชาธิปไตยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลต่างๆได้ โดยต้องอยู่บนกรอบของกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารประเทศจึงถือเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

นพ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า นายกฯ ควรใช้โอกาสนี้นำคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มาปรับปรุงการทำงานให้ยิ่งขึ้น ขณะที่ รัฐมนตรีหรือผู้บริหาร ควรที่จะยอมรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่หากการวิพากษ์วิจารณ์กระทบสิทธิหรือเป็นการพูดความเท็จ นายกฯก็สามารถยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ตามกระบวนการของกฎหมายได้

ขณะที่ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Jakrapob Penkair" ถึงกรณีข้อเขียนของชัย ราชวัตร ตอนหนึ่ง ระบุว่า การฟ้องร้องทางกฎหมายเป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้ถูกล่วงละเมิด แต่ขอให้คิดรอบคอบตรงกฎหมายที่จะเลือกมาใช้ฟ้องร้อง

"การใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิทางสังคมอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น จะว่าไปก็เป็นเสมือนมีดเล่มหนึ่งที่ไปใช้ฆ่าฟันผู้คนมาแล้วมากมาย เราจะนำมีดเล่มเดียวกันนั้นมาใช้สร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมต่อตัวเรา และขบวนประชาธิปไตยล่ะหรือ เราไม่สามารถตอบกลับอย่างเดียวกันได้หรอกนะครับ

"เราควรสำแดงความเหนือกว่าโดยเลือกใช้กฎหมายที่เป็นเครื่องมืออันแท้จริง ของระบบกฎหมายเพื่อประชาธิปไตยมากกว่าจะยืมเครื่องมือเผด็จการมาใช้ระบาย ความโกรธของเราเอง เพราะฉะนั้นเราควรเลือกสรรข้อกฎหมายอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ประชาธิปไตย

"ผมอาจต้องขัดใจพวกเรากันเองเล็กน้อย ผมไม่ค่อยเห็นด้วยที่เราโหมใช้ประเด็นสตรีในการต่อสู้แบบนี้ หากเราเดินหน้าต่อไปอย่างนี้ เท่ากับว่าเราประกาศว่า สิทธิสตรีกับสิทธิมนุษยชนในสังคมมีความแตกต่างกันและแยกออกเป็นสอง นายกยิ่งลักษณ์ฯ เป็นสตรีก็จริง แต่ท่านก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับ มนุษย์คนอื่นๆ ทุกเพศ

"ผมเห็นเราเถียงกลับอย่างโกรธเคืองว่าเขามาล่วงเกินสุภาพสตรี และเลยไปถึงแนวคิดคล้ายๆ หนังไทยว่ากลั่นแกล้งลูกผู้หญิงตัวเล็กๆ เรื่องแบบนี้เก็บเอาไว้ให้คนโทรทัศน์เขาใช้ในละครก่อนข่าวและหลังข่าวดีกว่า ครับ ขณะนี้เรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสำหรับมวลชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุ ทุกกำพืด และทุกสี อย่าไปแยกย่อยมวลชนเพื่อผลประชาสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ เลยครับ"


4 ข้อต้องรู้ โพสต์วิพากษ์ “ปู” อย่างไรให้ไม่เสี่ยงโทษหมิ่น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ทันที ที่ รมว.ไอซีทีประกาศเอาผิดเว็บไซต์ที่โพสต์ข้อความดูหมิ่นนายกฯ ปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พร้อมระบุว่าจะสั่งระงับเว็บไซต์ทันที แถมจะลงโทษปรับ 2 หมื่นบาท จำคุกอีก 1 ปี ชาวออนไลน์หลายคนตื่นตัวพร้อมตั้งคำถาม ว่าแล้วจะโพสต์อย่างไรให้ไม่ให้เข้าข่ายหมิ่น? รวมถึงคำถามคาใจว่าถ้าเป็นการโพสต์บนเฟซบุ๊กแล้วไอซีทีไทยจะระงับเฟซบุ๊กได้ จริงหรือ?
       
       คำถามเหล่านี้ได้รับคำตอบจาก “ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งฟันธงว่าคำ ขู่ของ รมว.ไอซีทีเป็นเรื่องที่ไม่ถูกหลักการ ขณะที่ชาวออนไลน์จะต้องระวังเรื่องการส่งต่อเรื่องราวที่เข้าข่ายหมิ่นให้ดี ทั้งภาพตัดต่อและการรีทวีต (retweet) ข้อความที่ไม่เป็นความจริง
       
       1. วิจารณ์ผลงานไม่หมิ่น
       
       นายกรัฐมนตรีนั้นมีสถานะเหมือนบุคคลทั่วไป การวิจารณ์ผลงานหรือการดำเนินงานต่างๆ ที่พูดถึงประโยชน์ประเทศชาตินั้นสามารถทำได้ แต่การใส่ความและการว่าร้าย วิจารณ์นิสัยว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้โดยที่ไม่เป็นจริง จะถือว่าหมิ่นประมาท
       
       สรุปคือ ความผิดหมิ่นประมาทจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพูดถึงพาดพิงให้เสียหาย หรือมีการใส่ความที่ไม่เป็นความจริงให้เสียหายเท่านั้น
       
       แต่หากเป็นคดีหมิ่นประมาทขึ้นมาจริง ไอซีทีก็จะไม่มีอำนาจสั่งระงับเว็บไซต์เพราะคดีหมิ่นประมาทไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามหลักการแล้ว กระทรวงไอซีทีจะมีอำนาจปิดกั้นเว็บไซต์ได้เมื่อพบความผิดหมิ่นสถาบันฯเท่านั้น เท่ากับว่าคำพูดของ รมว.ไอซีที “ยังไม่ตรงหลักวิชาการ”
       
       ดังนั้น ถ้าเป็นการวิจารณ์ของสื่อมวลชน กฎหมายมาตรา 329 จะคุ้มครองเพราะเป็นข้อยกเว้นของสื่ออยู่แล้วที่ต้องติชมทั่วไปและนำเสนอ ข่าวเชิงวิชาการ ดังนั้นถ้ามีการวิจารณ์ก็จะต้องมีการพิจารณาว่าเป็นสื่อมวลชนหรือไม่

2. ต้องระวังภาพตัดต่อ
       
       ในขณะที่คดีหมิ่นประมาททั่วไปไม่เข้าข่าย แต่ “การตัดต่อภาพ” จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการตัดต่อภาพจากผิดเป็นไม่ผิด หรือไม่ผิดเป็นผิด ทุกรูปแบบมีความผิด
       
       ความผิดหมิ่นประมาทที่มีผลทาง พ.ร.บ.ความผิดคอมพิวเตอร์ คือ ความผิดที่เข้าข่ายมาตรา 14 (1) เท่านั้น โดย มาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มีสาระสำคัญว่าการนำข้อมูลอันเป็นเท็จ คือข้อมูลที่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมด หรือไม่จริงเพียงบางส่วนเข้าสู่คอมพิวเตอร์ แล้วทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย ล้วนเป็นความผิด
       
       ซึ่งการตัดต่อรูปจะเข้าข่ายความผิดนี้โดยตรง และการเผยแพร่ภาพให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรืออับอาย จะมีความผิดตาม ม.16 ขณะที่การโพสต์ข้อความตามกะทู้ต่างๆที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเท็จ ก็จะผิดตาม ม.14 นี้ด้วย
       
       3. จะแชร์หรือรีทวีตต้องให้มั่นใจ
       
       จุดที่ประชาชนต้องระวัง คือ การ retweet หรือการแชร์ข้อความและภาพต่อ เพราะหากไม่มั่นใจว่าข้อความหรือภาพนั้นเป็นความจริงก็อาจมีความผิดฐานเผย แพร่
       
       โทษของผู้ทำซ้ำและเผยแพร่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก เพราะกรณีที่เป็นความผิดอาญานั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา หากเป็นการเก็บข้อมูลปกติไว้ในคอมพิวเตอร์ไม่จัดอยู่ในกรณีทำซ้ำ
       
       นอกจากนี้ ในกฎหมายอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการปิดบล็อกเว็บไซต์ แต่ต้องให้ไอซีทีส่งเรื่องให้ศาลเป็นผู้สั่งการเท่านั้น
       
       4. แตะต้อง (เฟซบุ๊ก) ไม่ได้
       
       สิ่งที่ชาวออนไลน์ควรรู้ คือ เฟซบุ๊กยึดกฎหมายสหรัฐอเมริกาเป็นหลักปฏิบัติ เฟซบุ๊กจึงเลือกระงับเฉพาะเพจที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการก่อการร้ายเท่านั้น ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กยังไม่ดำเนินการปิดเพ จที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์แม้จะมีคำสั่งจากศาลไทย เนื่องจากคำสั่งจากศาลไทยจะถือเป็นเอกสารขอความร่วมมือที่ไม่มีผลลงโทษใดๆ
       
       ในกรณีของคำวิจารณ์นายกฯ ปูบนเฟซบุ๊ก หาก รมว.ไอซีทีพบข้อความหมิ่นประมาทบนเฟซบุ๊กก็จะไม่มีอำนาจสั่งระงับเพจบนเฟซบุ๊กใดๆ สิ่งที่ทำได้ คือ การบล็อกไม่ให้เปิดชมเพจจากประเทศไทย ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องคือต้องรอให้ศาลตัดสินมูลฟ้องและออกคำสั่งศาลตามมา แปลว่าฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใดๆ
       
       *****
       
       ความจริงเรื่องคำพูดหมิ่นประมาท
       
       - คำว่าผีเปรต ผีปอบ ไม่ใช่การใส่ความผู้อื่นเพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (เทียบเคียง ฎ.200/2511)
       - คำว่า ชาติหมา ไอ้ควาย ไอ้สัตว์ เป็นคำด่า ไม่ใช่หมิ่นประมาท (เทียบเคียง ฎ.481/2506) โดยหากคำด่า มีคำหมิ่นประมาทรวมอยู่ด้วยจะถือว่ามีความผิด
       - คำว่า กะหรี่ หรือ บ้ากาม เป็นคำพูดบรรยายความประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี มีความผิดหมิ่นประมาท
       - ถ้าจำเลยพูดว่า โจทก์เป็นคนชาติหมา เลวยิ่งกว่าหมา จะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะไม่ได้ทำให้เข้าใจว่าเลวอย่างไร (เทียบเคียง ฎ.481/2506)
       - คำพูดหมิ่นประมาทอาจจะเป็นประโยคคำถามก็ได้ ถ้าคำถามนั้นทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด และทำให้บุคคลนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเสียหายไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รมว.ไอซีที ขู่ โพสต์ ด่านายกฯ ผิดกฎหมายอาญา มีอำนาจ ระงับเว็บไซต์

view