สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยกแรกเจรจา FTA ไทย-อียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฑิฆัมพร ศรีจันทร์



เร็วๆนี้จะมีการประชุมเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หรือ FTA ไทย-อียูครั้งแรก

ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

การเดินหน้าผลักดัน FTA ไทย-อียู กลับมาอีกครั้ง หลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสหภาพยุโรป และได้ประกาศเริ่มการเจรจาหลังติดขัดมานาน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มาไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การพิจารณาผลดี-ผลเสีย ของการทำ FTA จนกระทั่งผ่านการพิจารณาครม.และรัฐสภา

รัฐบาลแต่งตั้ง โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา FTAไทย-อียู โดยที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะเจรจาไปแล้วหลายครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดทำท่าทีของไทย ก่อนที่จะเปิดฉากการเจรจานัดแรก

หากดูความพร้อมของไทยในการเจรจา FTA ไทย-อียู ได้ทำการบ้านมาพอสมควร มีการตั้งผู้รับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่มเจรจาถึง 14 กลุ่ม 1.กลุ่มเจรจาการเปิดตลาดสินค้า 2.กลุ่มเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.กลุ่มเจรจาความร่วมมือทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.กลุ่มเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 5.กลุ่มเจรจามาตรการเยียวยาทางการค้า 6.กลุ่มเจรจามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.กลุ่มเจรจาการค้าบริการ 8.กลุ่มเจรจาการลงทุน 9.กลุ่มเจรจาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10.กลุ่มเจรจาทรัพย์สินทางปัญญา 11.กลุ่มเจรจานโยบายแข่งขัน 12.กลุ่มเจรจากลไกการระงับข้อพิพาท 13.กลุ่มเจรจาการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 14.กลุ่มเจรจาความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง

หัวหน้าทีมแต่ละกลุ่มต้องประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ผลดี ผลเสีย ฟังทุกๆ อย่างที่ผู้มีส่วนได้เสียอยากพูด อยากเสนอ ก่อนที่จะมาจัดทำเป็นท่าทีของไทย

แต่ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาและน่าเป็นห่วง อย่างผลกระทบจากการถูกอียูตัด GSP การเจรจาหัวข้อยากๆเรื่องยา การลดภาษีเหล้า บุหรี่ การระงับข้อพิพาท การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเจรจาเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งทีมเจรจาได้เตรียมท่าทีไว้หมดแล้ว แต่ต้องมั่นใจว่าไทยจะไม่เสียเปรียบ

พิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า ไทยจำเป็นต้องเจรจา FTA ไทย-อียู ถ้าไม่เจรจาอาเซียนอื่นๆทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามเจรจาไปแล้วและจะเริ่มเจรจากับอินโดนีเซีย หากไทยช้าจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในอาเซียน

การเจรจา FTA จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดการลงทุนจากอียูในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการ รวมทั้งยังช่วยในการป้องกันการย้ายฐานการผลิตของอียูไปยังประเทศอื่น และยังช่วยสนับสนุนการขยายการลงทุนของไทยไปยังอียูได้ด้วย จากปัจจุบันอียูลงทุนในไทยข้อมูลปี 2554 มูลค่า 3,037.36 ล้านดอลลาร์

การเจรจา FTA จะมีส่วนช่วยให้ไทยแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิ GSP ที่อียูจะตัดสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 FTA จะช่วยลดภาษีสินค้าต่างๆที่ไทยเคยได้สิทธิ รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยไว้

ประเมินว่า การถูกตัด GSP จะทำให้เกิดผลกระทบต่อไทย เป็นมูลค่า 84,840.27 ล้านบาท เป็นผลกระทบจากการถูกตัด GSP รายสินค้า 3%ผลกระทบจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง 95%

การประชุม FTA ไทย-อียู นัดแรกจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากไทยเตรียมการเรื่องนี้กว่า 3 ปี

การเจรจาจะต้องบรรลุผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ที่สำคัญต้องไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยกแรกเจรจา FTA ไทย-อียู

view