สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจ๊งข้าวปีแรก 1.3 แสนล. สุภาเปิดอีก กขช.เคาะขาดทุน 17 มิ.ย.

จากประชาชาติธุรกิจ

มติ 5 ต่อ 4 ศาล รธน.รับคำร้อง ปชป.-พธม. ด้าน ปชป.โวย"เสริมศักดิ์"ใช้ตำแหน่งช่วย"แซม" "อี้"อ้างซ่อมดอนเมืองซื้อเสียงแจกข้าวสาร-เงิน "โต้ง"เล็งปรับราคาจำนำข้าวอ้างสถานการณ์เปลี่ยน

"โต้ง"รับปรับราคาจำนำ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมยูโร มันนี่ 2013 ว่า กรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการจำนวนมาก จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์ รัฐบาลใช้ข้อมูลของคณะกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในการพิจารณาการดำเนินการ

"ดอกเบี้ยยังปรับได้ การปรับเปลี่ยนโครงการก็เป็นเรื่องที่ทำได้ และให้เป็นไปตามสถานการณ์ การที่เรารับจำนำในราคาตันละ 15,000 บาท ในเวลานั้น เราพยายามขายข้าวในราคาที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ แต่เมื่อตลาดโลกแตกต่างออกไป มีความผันผวนเรื่องค่าเงินเข้ามาร่วมด้วย มีเรื่องของผลผลิตสินค้าประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่นออกมามากด้วย รัฐบาลก็ต้องดูข้อมูลให้รอบด้านและนำไปปรับเปลี่ยนโครงการ ซึ่งมีความเป็นไปได้" นายกิตติรัตน์กล่าว

"วราเทพ" ขอเวลาอีก2-3วัน

ทีjอาคารยูบีซี 2 นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รวบรวมข้อมูลโครงการจำนำข้าว กล่าวว่า ภายใน 2-3 วันนี้ คงจะสรุปตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวได้ หลังจากมอบหมายให้ น.ส.สุภากลับไปแยกบัญชีการรับจำนำข้าวในแต่ละฤดูกาลให้ชัดเจน ยืนยันจะไม่มีการตกแต่งบัญชีเหมือนกับที่ผู้นำฝ่ายค้านระบุอย่างเด็ดขาด เพราะทุกอย่างปรากฏชัดเป็นเอกสารราชการ คงไม่มีใครกล้าแก้ไขตัวเลขแน่นอน

นายวราเทพกล่าวว่า การพิจารณาโครงการต้องดูตัวเลขรวมทั้งหมดด้วยว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่ใช่แค่ผลการขาดทุนเท่านั้น เพราะการระบายข้าวของรัฐบาล จะมีทั้งการจำหน่ายให้กับเอกชน การจำหน่ายแบบรัฐต่อรัฐ และการจำหน่ายราคาถูก เพื่อช่วยเหลือประชาชนเช่น โครงการธงฟ้า การจำหน่ายแก่กรมราชทัณฑ์ ต้องดูรวมว่ามีคนได้ประโยชน์จากโครงการมากน้อยเพียงใด เพราะตัวเลขขาดทุนที่มีการพูดถึงเป็นการปิดบัญชี ณ สิ้นเดือนมกราคมและพฤษภาคม 2556 แต่หลังจากนั้นโครงการยังคงเดินต่อเนื่อง ยังไม่ได้ปิดโครงการทั้งหมด

"เรื่องนี้จะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า จะมีการเปิดเผยผลการปิดบัญชีหรือไม่ ในทางบัญชีที่ระบุว่าจะเป็นผลการขาดทุน แต่ยังมีความต่างอยู่คือ รูปแบบการคำนวณจากต้นทุน และการคำนวณจากวิธีการขาย หลังจากนั้นคงจะนำมาพิจารณาว่า งบการดำเนินการสูงเกินไป แล้วต้องเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ หากเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรก็ดำเนินการต่อ" นายวราเทพกล่าว

"หม่อมอุ๋ย"ให้จัดการค่าโง่

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากตัวเลขรายงานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของกระทรวงการคลัง ในโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 พบว่า ในช่วงเวลาดำเนินการเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงตุลาคม 2555 มีผลขาดทุนทั้งสิ้น 1.36 แสนล้านบาท จากการรับจำนำข้าวทั้งหมด 21.6 ล้านตัน โดยเป็นตัวเลขที่คำนวณ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งดอกเบี้ยของหนี้คงค้าง ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้าวสาร เพราะที่ผ่านยังเหลือข้าว 3 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งหมด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า สต๊อกข้าวรัฐบาล 5-6 ล้านตัน ต้องใช้เวลาในการระบายข้าวถึง 4 ปี ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือที่จะสามารถระบายข้าวได้หมด จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีกมาก ทั้งดอกเบี้ยของหนี้คงค้าง ที่คิดเฉลี่ย 4% หรือประมาณปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ค่าเช่าเก็บข้าวสารปีละหลายพันล้านบาท และยังไม่รวมกับคุณภาพข้าวที่น้ำหนักจะหายไปและเสื่อมลงปีละ 10% หากคำนวณจากข้าวที่เหลือจะลดลงปีละ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อีก 4 ปี ที่เหลือก็จะขาดทุนเพิ่มปีละ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนรวมทั้งสิ้นเป็น 2 แสนล้านบาท แต่พบว่า เงินที่ถึงมือเกษตรกรจริงเพียง 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

"ผมไม่เห็นด้วยแต่แรกแล้วที่จะรับจำนำในราคาสูงถึง 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เพราะจะทำให้ขาดทุนสูงถึง 1.5-2.5 แสนล้านบาท ขึ้นกับปริมาณข้าวที่จะเข้ามา ตัวเลขที่ออกมาก็ไม่ต่างกันนัก แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่ปรับราคารับจำนำลง เพราะขนาดขาดทุนจากโครงการถึง 2 แสนล้านบาท แต่เงินที่ตกถึงมือเกษตรกรเพียง 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าเช่าโกดัง และดอกเบี้ยเงินกู้ หากจะปรับราคาลงเพื่อให้ขาดทุนเพียง 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าเงินจะถึงมือเกษตรกรเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญควรไปบริหารจัดการที่เรียกว่าค่าโง่เหล่านั้นให้ลดลงน่าจะดีกว่า" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ทีดีอาร์ไอให้ปรับราคา

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากรัฐบาลจะปรับลดราคารับจำนำลง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นการยอมรับว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติและจะช่วยปรับลดงบประมาณลงได้ทางหนึ่ง นอกจากจะปรับลดราคาลง การจำกัดปริมาณข้าวเข้าโครงการเป็นทางเลือกหนึ่งด้วย แต่จะเป็นราคาเท่าไหร่นั้น คงไม่สามารถเสนอแนะได้ เพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการตั้งแต่ต้น โดยการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรยังมีหลายแนวทาง การซื้อประกันราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าใช้เป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพราคาได้ เพียงแต่เมื่อมีโครงการรับจำนำ ทำให้ราคานิ่ง จึงไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่จะหันมาป้องกันความเสี่ยงด้านราคา

พณ.ชี้"สุภา"รับคลาดเคลื่อน

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า เป็นการประชุมพิจารณารายละเอียดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้มาชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับวิธีการศึกษา การรวบรวมข้อมูลและที่มาที่ไปของตัวเลข มีหลายประเด็นขัดแย้งจากวิธีการคิดคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ โดยวิธีคำนวณของคณะอนุฯปิดบัญชี คิดผลกำไรหรือขาดทุน ยึดการใช้ราคาตลาดต่ำสุด ณ วันปิดบัญชีมาคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ ส่วนวิธีการของกระทรวงพาณิชย์ใช้ราคาต้นทุน ทำให้ตัวเลขขาดทุนของคณะอนุฯปิดบัญชีสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์

"น.ส.สุภาได้ยืนยันต่อ กขช.ว่าตัวเลขการขาดทุนจำนำสูงถึง 2.6 แสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน และการที่คณะอนุฯใช้ราคาตลาดต่ำสุดในการคำนวณเพราะต้องทำการปิดบัญชี เพื่อนำเสนอตัวเลขต่อสำนักงบประมาณ เพื่อตั้งงบประมาณชดเชย จึงต้องประเมินให้แย่สุดไว้ก่อน" นายบุญทรงกล่าว

ขอตัวเลขก่อนสรุป17มิ.ย.

นายบุญทรงกล่าวว่า ที่ประชุมจึงมีมติให้กรรมการไปตรวจสอบข้อมูลของสองหน่วยงาน และให้นำมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 18 มิถุนายนพิจารณาและยึดเป็นตัวเลขทางการว่าโครงการรับจำนำจะขาดทุนเท่าไหร่ โดยการประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องการปรับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการรับจำนำแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิธีการของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 ระบุตัวเลขขาดทุนรวม 34,845.04 ล้านบาท โดยคิดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 มีรายได้ 29,511 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 47,685.60 ล้านบาท ขาดทุน 18,174.60 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรัง 2555 มีรายได้ 20,401 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 37,071.44 ล้านบาท ขาดทุน 16,670.44 ล้านบาท หรือรวมทั้งปี มีรายได้ 49,912 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 84,757.04 ล้านบาท

สื่อไทย-เทศแห่ทำข่าว

ขณะที่วิธีการของคณะอนุฯปิดบัญชี คำนวณเฉพาะปี 2554/55 ขาดทุน 136,896.80 ล้านบาท คิดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 มีรายได้ 34,197.36 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 77,160.49 ล้านบาท ขาดทุน 42,963.13 ล้านบาท นาปรัง 2555 มีรายได้ 24,943.96 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 118,877.62 ล้านบาท ขาดทุน 93,933.67 ซึ่งรวมเฉพาะปี 2554/55 ทั้งนาปี นาปรัง มีรายได้รวม 59,141.32 ล้านบาท ขาดทุน 196,038.11 ล้านบาท

ทั้งนี้ การคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ ได้รวมค่าใช้จ่ายรวมค่าสีแปรและค่าจัดการ แต่ยังไม่รวมต้นทุนดอกเบี้ย เป็นการคำนวณผลกำไรขาดทุนสุทธิ และได้มีการหักข้าวเพื่อการบริจาคและจัดทำเป็นข้าวถุงจำหน่ายเพื่อลดภาระประชาชนอีก 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นมูลค่า 6.44 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กขช.ได้รับความสนใจจากนักข่าวในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก รอติดตามผลการประชุมตั้งแต่เวลา 14.00 น. ก่อนที่จะมีการประชุมเวลา 15.00 น. โดยนายบุญทรงได้เดินมาเข้าประชุมในเวลา 15.35 น. ใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจ๊งข้าว ปีแรก สุภา เปิดอีก กขช. เคาะขาดทุน

view