สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก้มหน้ารับชะตากรรมดอกเบี้ยนโยบายไร้พิษสง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/พรสวรรค์ นันทะ

ถึงตอนนี้ บรรดานักธุรกิจนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน นักการธนาคารยันชาวบ้านตาดำๆ ต่างตั้งคำถามตัวโตๆ กับการดำเนินนโยบายการเงินของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และชี้นำทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงินว่าพิกลพิการหรือไม่

เพราะถึงตอนนี้ก็นับเป็นเวลา 22 วัน ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% แต่ทว่าไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าดอกเบี้ยเงินฝากหรือเงินกู้ปรับลดลงตามต้นทุนดอกเบี้ยนโยบายในตลาด อาร์พีแม้แต่น้อย

ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ใช้ร่วมกับเครื่องมือการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อขับเคลื่อนและชี้ทางในการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่าง เหมาะสม และที่ผ่านมาถือว่าทรงประสิทธิภาพ

เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายมีหน้าที่ในการชี้นำกลไกตลาด ทำให้ธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดไปในทิศทางดียวกับนโยบายการเงิน ที่ธนาคารกลางต้องการ

และวัตถุประสงค์สำคัญที่ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ตลาดปรับลดดอกเบี้ยลงตาม จะได้ใช้ดอกเบี้ยเป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ของประชาชนในประเทศ ที่ชะลอลงในไตรมาสแรกกลับมาพลิกฟื้นคืนมาได้

เพราะหากดอกเบี้ยต่ำลง ผู้ฝากอาจจะอยากนำเงินที่ออมไว้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

นักธุรกิจที่ยังไม่ตัดสินใจลงทุน อาจจะเปลี่ยนใจกลับมาลงทุน เพราะต้นทุนการกู้ยืมลดลง ช่วยให้เกิดการจ้างงาน คนในประเทศมีเงินจับจ่ายใช้สอยคล่องมือขึ้นมาก็เป็นได้

แต่ผลที่ได้ในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยครั้งนี้กลับดับสนิท ไร้การตอบสนองจากตลาดการเงิน หลังลดดอกเบี้ยนโยบายผ่านไป 22 วัน แต่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังนิ่งสนิทอยู่ที่เดิม ไม่ขยับตาม

สะท้อนว่าการชี้นำดอกเบี้ยในตลาดการเงินไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ กนง. และนักการเมืองในฟากรัฐบาลคาดหวัง

งานนี้จะมาอ้างว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากฝ่าย การเมืองทั้งจากการที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง หรือ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธปท. ออกมากดดันเพราะต้องการให้ลดดอกเบี้ยลงก็คงไม่ใช่

เนื่องจาก กนง.รวมถึงผู้บริหารใน ธปท.ทุกคน ต่างออกมายืนยันตรงกันว่า การผ่อนคลายดอกเบี้ยนโยบายลง เป็นผลจากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่อาจจะชะลอ

เป็นเพราะอุปสงค์หรือการบริโภคภาคเอกชนในประเทศลดลงในไตรมาสแรก นโยบายการเงินจึงควรดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

และการันตีต่อสาธารณะว่า การตัดสินก็ทำโดยอิสระ มีความโปร่งใส เพราะหากปล่อยให้การเมืองมากดดันทิศทางดอกเบี้ยได้ อาจขาดความน่าเชื่อถือจากตลาดการเงินได้

แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร อาวุธที่ทรงพลังสำคัญกลับไร้พิษสงไปดื้อๆ

ข้อมูลที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายการเงินมีข้อจำกัด กว่าจะผ่านไปสู่เศรษฐกิจจริงต้องผ่านหลายๆ ข้อต่อ เพราะดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยระยะสั้นชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินรอบนี้ก็ได้ส่งผ่านไปถึงตลาดการเงิน และตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นให้ปรับลดลงมาโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะผู้ที่เข้ามายืมเงินในตลาดการเงินและตลาดตราสารหนี้ก็ได้อัตราดอกเบี้ย ที่ลดลงแล้วนั้น กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ยิ่งพูด ยิ่งเข้าตัว

นโยบายดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดต้นทุนของเศรษฐกิจ ไม่ได้มีสาระสำคัญหรือเป้าหมายหลักอยู่ที่ตลาดตราสารหนี้

หากแต่เป้าหมายหลักอยู่ในภาคเศรษฐกิจสำคัญที่แท้จริงและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ถ้าบอกว่าสำเร็จในตลาดการเงินระยะสั้นแล้วถือว่าบรรลุเป้า นักเศรษฐกิจและนักการคลังคนนั้นกำลังทาสีให้เป็นไปตามที่ตัวเองจินตนาการ แต่มิใช่เป็นความจริง

ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงจึงอยู่ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปสู่มือ ประชาชน นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่เป็นตลาดหลักของผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงิน

สังคมเข้าใจได้ว่า ขณะนี้ทิศทางตลาดการเงินโลกและตลาดการเงินไทยมีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจในไตรมาสแรกเปลี่ยนเป็นชะลอลง การบริโภคและการลงทุนในประเทศชะลอลง บวกกับเงินทุนต่างชาติก็ไหลออก ทำให้ธนาคารพาณิชย์เองไม่แน่ใจในสภาพคล่องในระบบจึงอาจต้องการเวลา รอให้สถานการณ์สงบ รอให้ฝุ่นที่คลุ้งจางลง จึงค่อยประเมินดอกเบี้ยอีกครั้ง

แต่ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องตระหนักและหาทางวิเคราะห์ และประเมินผลจากการตัดสินใจทางนโยบายด้วยว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร

คำชี้แจงของนักการเงินแห่งปี 2555 ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ว่า นโยบายการเงินรอบนี้ที่ กนง.ลดดอกเบี้ย แต่แบงก์ไม่ลดตาม ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นปรับลดลงแล้ว และรอบนี้ที่นโยบายดอกเบี้ยลดลง ก็เพราะจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ชะลอ ซึ่งการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ ไม่ใช่ลดแล้วคนร้องยี้ แต่บางทีการจะให้ดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ลดลงตามเลย มันอาจจะหลอกตา เพราะดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ หรือเอ็มอาร์อาร์ของแบงก์ส่วนใหญ่ จะตั้งไว้แล้วคิดอัตราบวกหรือลบให้ลูกค้า ส่วนนี้จึงไม่ชัดเจนในการปรับตัว อีกอย่างทุกครั้งที่ กนง.ปรับเพิ่มหรือลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าสถาบันการเงินจะลดลงตามร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว บางทีแบงก์อาจจะรอดูสถานการณ์

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องเลิกใช้ดอกเบี้ยอ้างอิง และการชี้นำดอกเบี้ยโดยธนาคารกลาง แล้วปล่อยให้กลไกตลาดเสรีทำงาน ผ่านการสะท้อนต้นทุนของธนาคารพาณิชย์

เรื่องจริงแท้แน่นอน การลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถือว่าช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของ ธปท. ที่มีภาระในการออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องลดลง เพราะดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง ดูได้จากธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีของ ธปท. จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 18 มิ.ย. ที่ต้องดูดซับสภาพคล่องระยะ 1 วัน สูงลิ่วถึง 5.94 แสนล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ย 2.75% จะเป็นเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยร่วม 1.63 หมื่นล้านบาท

แต่ถ้าดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 2.50% จะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1.48 หมื่นล้านบาท ลดภาระไปได้ 1,484 ล้านบาท

ไม่ต้องพูดถึงการดูดเงินระยะ 7 วัน อีก 1.97 หมื่นล้านบาท และภาระอื่นๆ ก็จะลดได้อีก

ขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐ ที่กำลังจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็ต่ำลงด้วย

แต่การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เกิดมรรคผลหรืออานิสงส์ใดๆ กับประชาชนเลย

ต้นทุนการกู้ยืมของประชาชนผู้กู้รายย่อย รายใหญ่ไม่ได้ปรับลดลง เนื่องจากตลาดไม่ตอบสนองเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เวลา กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง ตลาดการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ยังมีการปรับลดลงตามบ้าง แม้จะสร้างประวัติศาสตร์ 0.125% ให้ระบบการเงินไทยมาแล้วก็ตาม ถึงแม้จะลดลงไม่เท่ากับที่ กนง.ลด แต่ทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเงินไทย ตลาดการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์จะตอบสนองทุกครั้งไป

และส่วนใหญ่มักจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นต้นทุนของธนาคารมากกว่าจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ยังลดลงบ้าง

มีแต่ช่วงนี้ที่อาวุธของธนาคารกลางสิ้นฤทธิ์ นโยบายการเงินพิกลพิการ เพราะการเมืองกดดันจนพังไปข้างหนึ่ง

ขณะที่ประชาชน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภคได้แต่นั่งนิ่งและยอมรับชะตากรรม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก้มหน้า รับชะตากรรม ดอกเบี้ยนโยบาย ไร้พิษสง

view