สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัย ตัวอย่างจากญี่ปุ่น

เตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัย ตัวอย่างจากญี่ปุ่น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นที่ทราบกันมาพักใหญ่แล้วว่า สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย คือมีผู้สูงอายุมากกว่า 15% ของประชากรทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ดิฉันได้มีโอกาสไปญี่ปุ่น และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สังเกตได้ จึงอยากจะนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านค่ะ

ดิฉันไม่ได้เดินในตัวเมืองโตเกียวในวันทำงานมานานพอสมควร สังเกตว่าในช่วงเวลากลางวันของวันทำงาน ไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาวอยู่บนท้องถนนหรือสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแถบชานกรุงโตเกียว แต่พบผู้สูงวัยออกมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามสถานที่ซึ่งมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น โรงละครคาบูกิ วัดอาซากุสะ เป็นต้น

ผู้สูงวัยเหล่านี้มักจะมาเที่ยวกันเป็นคู่ มีบ้างที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเข้าใจว่ามาจากชนบท แต่ละคนก็มีการซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือกันกลับไปบ้าง แต่ไม่ได้ซื้อมากนัก

องค์การสหประชาชาติคาดว่าในปี 2025 ญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงวัยคืออายุเกิน 60 ปีเป็นสัดส่วน 35.1% ของประชากรทั้งหมด คือจะมีจำนวน 43.5 ล้านคน จากจำนวนประชากร 123.8 ล้านคน โดยปัจจุบันดิฉันคาดว่ามีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 28-29%

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันประชากรสูงวัยมีสัดส่วนประมาณ 12% หรือคล้ายกับญี่ปุ่นในปี 1975 ซึ่งมีประชากรสูงวัย 11.7% โดยองค์การสหประชาชาติคาดว่าไทยจะมีประชากรสูงวัยเป็นสัดส่วน 17.1% ในปี 2025

เพื่อนชาวญี่ปุ่นของดิฉันเล่าให้ฟังว่า หลังจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ชาวญี่ปุ่นไม่ว่าหนุ่มสาวหรือผู้สูงวัย หันมาชื่นชมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม หันมาสู่ความเรียบง่ายแบบเซนมากขึ้น

พิธีชงชาแบบญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า ชาโนะยุ การจัดดอกไม้แบบอิเคบะนะ การพับกระดาษเป็นรูปต่างๆ หรือโอริกะมิ รวมทั้งการชมละครคาบูกิ หรือไปเยี่ยมชมโรงละครหรือพิพิธภัณฑ์ กลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้น

ดิฉันพบว่าทางเดินเก่าตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง หรือทางเดินตามสถานีรถไฟ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นทางเลื่อนมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัย มีทั้งแบบเลื่อนราบๆ ปกติ เลื่อนขึ้นแบบบันไดเลื่อน หรือผสมผสานทั้งราบและปรับเลื่อนขึ้น

จากการเดินบนท้องถนนและเดินตามสถานีรถไฟต่างๆ พบว่าชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยเดินช้าลง จำได้ว่าสามสิบปีก่อนดิฉันเดินตามเขาไม่ทัน ยี่สิบปีที่แล้วเดินในอัตราความเร็วเท่ากันพอดี พอมาถึงตอนนี้ดิฉันเดินเร็วกว่าคนญี่ปุ่นโดยทั่วไป ยกเว้นคนทำงานที่เดินในสถานีรถไฟที่ยุ่งมากๆ เช่นสถานีชินจูกุ หรือสถานีโตเกียวในช่วงเวลาเร่งด่วนนะคะ

นอกจากนี้คิวขึ้นบันไดเลื่อนที่เป็นคิวชิดซ้ายคือคิวยืน จะมีผู้นิยมมากขึ้น คิดว่าประมาณ 90% จะอยู่ในช่องยืน มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่ช่องขวามือ คือช่องเดิน ห้ามหยุด

สาเหตุคือ อายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นสูงขึ้น คนอายุหกสิบถึงแปดสิบปีจะออกมาเดินในช่วงกลางวันของวันธรรมดา ในขณะที่คนหนุ่มสาวออกมาเดินเล่นซื้อของในช่วงวันหยุด สมัยอายุน้อย การเดินวันละห้าถึงหกกิโลเมตรเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่พออายุมากขึ้น เดินวันละห้ากิโลเมตรนี่เมื่อยพอสมควรนะคะ อีกสาเหตุน่าจะเป็นความรีบร้อนที่น้อยลง การแข่งขันที่ลดลง ตอนนี้คนที่ฮ่องกงเดินเร็วกว่าค่ะ

ประเทศไทยก็ต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ เพื่อรองรับคนสูงอายุที่จะทยอยเกษียณอายุงาน ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ใช้รถสาธารณะ แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีการคมนาคมสาธารณะที่เอื้อให้ผู้สูงวัย หากไม่เตรียมไว้ อีกสิบปีข้างหน้ามีปัญหาแน่นอน ท่านคงไม่อยากให้คนแก่อายุเจ็ดสิบแปดสิบปีออกมาขับรถเพ่นพ่านกันบนท้องถนนแข่งกับคนขับรถคันแรกวัยยี่สิบต้นจริงไหมคะ

บันไดเลื่อนเมืองไทยบางจุดก็แปลกๆ ทางขึ้นแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์มีบันไดให้ต้องเดินยกกระเป๋าขึ้นอยู่ 5-6 ขั้น แล้วจึงจะเป็นบันไดเลื่อน ลิฟท์ก็ไม่มีให้ด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมออกแบบเช่นนั้น

เดี๋ยวนี้ทางข้ามต่างๆ ของญี่ปุ่นยกขึ้นไปสูง แทนที่จะลอดใต้ดินเหมือนเดิม มีผู้สูงวัยใช้บริการมากมาย ดิฉันก็ข้ามตามไปบ้าง ปรากฏว่าหลงทาง เพราะไม่ชิน มองไม่เห็นร้านค้า เลยลงผิดแยกไป

คนแก่ที่เงินหมดแล้วเร่ร่อนตามท้องถนนดูจะมีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอายุยืนขึ้น คนเร่ร่อนในสมัยก่อนอายุประมาณ 50 ปี สมัยนี้อายุประมาณ 70-80 ปี ส่วนใหญ่ก็อาศัยนอนตาม สถานีรถไฟ ตามสะพานลอยขนาดใหญ่ที่ใช้ข้ามทางรถไฟหรือข้ามถนน และอยู่ตามสวนสาธารณะบ้าง มีข้าวของและสมบัติเป็นกระเป๋าเดินทางที่คนทิ้งแล้ว กินอาหารที่มีคนใจดีแบ่งมาให้ หรือเศษขอบขนมปังที่ร้านอาหารไม่ใช้และนำมาให้ เข้าใจว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐนำอาหารมาแจกตามจุดที่มีคนจรจัดพักอาศัยทุกวัน แต่ช่วงที่ไปไม่เห็นค่ะ

เราจะจัดการอย่างไร ให้คนไทยมีเงินดูแลตัวเองจนกว่าจะจากโลกนี้ไป ถ้าลูกหลานไม่ดูแลแบบในสมัยก่อน ขนาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี ดีจนรัฐมีหนี้ท่วมตัวอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถดูแลคนแก่ได้ทั่วถึง ยิ่งอายุยืนก็ยิ่งต้องการการดูแลมากขึ้น แล้วไทยจะทำอย่างไร

ในรถไฟแต่ละตู้ จะมีการจัดที่นั่งไว้ให้ผู้สูงวัย คนพิการและหญิงมีครรภ์ประมาณ 30% ของที่นั่งทั้งหมด หลายสถานีกำลังทยอยเปลี่ยนบันไดปกติให้เป็นบันไดเลื่อน

การรณรงค์ให้รักษาสุขภาพมีอยู่ทั่วไป และที่น่าดีใจแทนคนญี่ปุ่นคือ คนสูบบุหรี่ลดลงไปเยอะมาก คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสูบบุหรี่กันแล้ว ต่างกับเมื่อสิบปีที่แล้วที่วัยรุ่นผู้หญิงเห็นการสูบบุหรี่เป็นสิ่งโก้เก๋มาก

ห้องน้ำสาธารณะหรือตามห้างต่างๆ เปลี่ยนจากส้วมซึมแบบยองๆ เป็นโถนั่งเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือแบบเดิมบ้าง เช่น ที่สนามบินนาริตะ และตามสถานีรถไฟ ยังมีประมาณ 20%คือ 1 ใน 5 ห้อง หรือ 2 ใน 8-10 ห้อง ที่ยังเป็นแบบยองๆ ส่วนที่อาคารต่างประเทศของสนามบินฮาเนดะนั้น เขาทำประตูห้องน้ำให้ใหญ่และเป็นห้องน้ำแบบให้รถเข็นสามารถเข้าไปได้ มีราวจับ เกือบหมดทุกห้อง ยกเว้นห้องที่เป็นแบบนั่งยองๆ ค่ะ

เมื่อเป็นสังคมสูงวัย คนอื่นๆ ก็สูงวัยกันมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือระหว่างกันจึงดูเหมือนจะมีน้อยลงเพราะต่างคนต่างสูงวัย และจำนวนประชากรก็ลดลงด้วยค่ะ โดยในปี 2000 ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 127 ล้านคน ปี 2025 องค์การสหประชาชาติคาดว่าญี่ปุ่นจะมีประชากร 123.8 ล้านคน และลดลงเป็น 109 ล้านคนในปี 2050 จึงไม่มีคนหนุ่มสาวมาดูแลคนแก่ คนแก่จึงต้องดูแลตัวเองค่ะ

ในเรื่องการเตรียมตัว สรุปแล้วมีสามส่วนค่ะ การเตรียมสถานที่และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การคมนาคมสาธารณะฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นของรัฐโดยตรง จะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานกลางก็ตาม

ส่วนที่สองคือการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่ผู้สูงวัยต้องช่วยตัวเอง เลี้ยงตัวเอง ดูแลตัวเองมากขึ้น ด้วยการเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตให้มากขึ้น และส่วนที่สามคือ การเตรียมการดูแลทางด้านสุขภาพ ทั้งในด้านการป้องกันและการรักษา หวังให้รัฐช่วยเตรียมฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ต้องเตรียมตัวเองด้วยค่ะ เพราะถ้ายังมีชีวิตอยู่ ดิฉันก็จะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สูงวัย 17.1% ในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ด้วยค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตรียมเข้าสู่ สังคมสูงวัย ตัวอย่างจากญี่ปุ่น

view