สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

องคมนตรีอยากเห็นสื่อไทยเสนอข่าวสืบสวน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

16 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ"ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย"อยากเห็นสื่อไทยมีจิตสำนึก ใช้กลไกนำเสนอข่าวแบบตรวจสอบ-สืบสวน

สำนักข่าวอิศรารายงานว่าศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ‘จริยธรรมสื่อมวลชน’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ใจความตอนหนึ่งว่า หากพูดถึงสื่อมวลชนระยะแรก ๆ จะเป็นสื่อมวลชนที่มุ่งเน้นการให้ข่าวสารเป็นหลัก ในรูปแบบการพิมพ์จนปัจจุบันดิจิตอล โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 3 ยุค ได้แก่

1.ยุคบริโภคข่าวชุดเดียวกัน (Commonization) ไม่ว่าจะเป็นอำมาตย์-ไพร่ในตะวันตกหรือตะวันออกต่างบริโภคข่าวชุดเดียวกัน

2.ยุคข่าวเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค (Customization) อาจแบ่งเป็นข่าวการเมือง เกษตร การศึกษา ซึ่งสามารถทำให้มีผู้บริโภคข่าวดีขึ้น

และ 3.ยุคผู้บริโภคสร้างข่าวเอง (individualization) เกิดในยุคสื่อดิจิตอล โดยจะเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทำหน้าที่สร้างข่าวเอง ขายโฆษณาสินค้าเอง

"คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามเย็นจะเติบโตมาในอารยธรรมสื่อดิจิตอล ซึ่งจะเห็นเด็กหลายคนใช้สองนิ้วปัดไปปัดมาบนหน้าจอไอแพด ส่งผลทำให้ขาดความสนิทสนมกับครอบครัว ไม่ได้เข้าวัด อ่านหนังสือ แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับสื่อโซเซียลมีเดีย เราเรียกว่า ‘ยุค ME Gennernation’ หรือ "ตัวกู ของกู" องคมนตรีกล่าว และว่าขณะนี้กำลังมีอิทธิพลทางความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นต้องร่วมกันคิดจะหาวิธีป้องกันอย่างไร เพราะสื่อโซเซียลมีเดียนั้นไม่มีเวลาเปิดปิดสถานีเหมือนทีวี วิทยุ

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีระบบการกำกับดูแลสื่อประเภททีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ แต่สื่อดิจิตอลยังไร้องค์กรเข้ามากำกับดูแล องคมนตรี กล่าวตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ควรจะมีองค์กรใดลุกขึ้นมาดูแล หรือจะปล่อยให้สื่อดังกล่าวสร้างความวุ่นวายในประเทศก่อนแล้วค่อยเกิดองค์กรขึ้น

ศ.นพ.เกษม กล่าวต่อว่า ปกติแล้วกรอบจริยธรรมนั้นจะถ่ายทอดผ่านกระบวนการทางศาสนาหรือครอบครัว แต่เมื่อปัจจุบันโครงสร้างดังกล่าวหายไป เด็กและเยาวชนจึงหันไปเรียนรู้จากสารที่สื่อมวลชนป้อนให้ แบ่งเป็น 1.ข่าวสร้างกระแสเยอะ (จริง/เท็จ) 2.ข่าวสร้างค่านิยม (สร้างสรรค์/ทำลายล้าง) 3.ข่าวสร้างพวกสร้างค่าย (แบ่งแยก) และ 4.ข่าวสร้างปัญญา

"โดยอิทธิพลของข่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ คำถามคือใครจะทำหน้าที่กำกับดูแลนักสร้างข่าวเหล่านี้?" ศ.นพ.เกษม กล่าว และว่า คำตอบที่พึ่งได้มากที่สุด คือ จิตสำนึกและกรอบคุณธรรมของผู้ที่ทำงานสื่อมวลชน ส่วนกรณีเจ้าของสื่อจะมีบทบาทกำกับนโยบายอีกระดับหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของสื่อมวลชนที่สังกัดสำนักข่าวนั้น

และหากจะรวมสื่อมวลชนจาก 10 ประเทศอาเซียนตั้งเป็น ‘สภาสื่อสารมวลชนของอาเซียน’ ศ.นพ.เกษม กล่าวว่า ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรเกิดความเป็นอิสระและเท่าเทียม ที่สำคัญใครจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการสร้างข่าวในแต่ละประเทศ เพื่อให้อีก 9 ประเทศสมาชิกบริโภค

"ฝั่งยุโรปและอเมริกา สื่อมวลชนจะยึดถือ ‘จิตสำนึก’ สูงมาก เพราะต่างมีตัวอย่างที่เป็นวีรบุรุษที่ยึดหลักความถูกต้อง เป็นกลาง อ้างอิงได้ ที่สำคัญสื่อสารมวลชนของประเทศเหล่านั้นพัฒนาการทำงานโดยใช้กลไก ‘ตรวจสอบและสืบสวน’ (Investigative Journalist) ซึ่งแสดงถึงความมีอิสระและทักษะอาชีพที่ดี ซึ่งหากสื่อสารมวลชนไทยมี 2 ประการดังกล่าว จะสามารถช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักที่กำลังตกหลุมอยู่"

องคมนตรี ยังกล่าวถึงหนังสือเรื่อง ‘โลกปรับ ไทยเปลี่ยน’ ของสถาบันศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาสรุป คือ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยเป็นยุคทศวรรษแห่งความมืดมน การทำลายล้างซึ่งกันและกัน เกิดจากกำลังเผชิญกับกับดัก 3 ประการ ได้แก่

1.กับดักในความน่าเชื่อถือของรัฐ หมายรวมถึงข้าราชการประจำและการเมือง เชื่อมั่นว่าหากสอบถามชาวบ้านมีความมั่นใจเพียงใดต่อการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมของภาครัฐ หรือผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองมีความรู้แก้ปัญหาชาติ คงยากจะหาใครตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีข่าวการคอร์รัปชั่นต่าง ๆ จนพูดกันว่า “เงินไม่มีกาไม่เป็น” ซึ่งคำขวัญนี้ฟ้องไปทั่วโลกว่า ความจริงไทยมีระบบการปกครองแบบคณาธิปไตย

2.กับดักในความเหลื่อมล้ำของคนไทย จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า หากแบ่งคนไทยเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่ คนรวย 20% คนปานกลาง 60% และคนจน 20% โดยมีทรัพย์ตีเป็นเงิน 100 บาท เมื่อวิเคราะห์แล้วพบคนรวยครอบครองทรัพย์สูงถึง 56 บาท ขณะที่คนจนครอบครองเพียง 3.20 บาทเท่านั้น ความแตกต่างทางฐานะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความผิดปกติในการบริหารบ้านเมือง ขณะที่ประเทศใกล้เคียงต่างมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน

3.กับดักในการสร้างคุณค่าเพิ่มภาคเอกชน เมื่อ 30 ปีก่อน ภาคเอกชนไทยได้รับประโยชน์ 2 ประการ คือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และค่าแรงต่ำ หากแต่ไม่ใช่แล้วในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลมีมติตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 เป็นต้นมาให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ทำให้ผู้จบการศึกษาระดับชั้นม.6 มีเงินเดือน 9,000 บาท ส่งผลให้ระบบแรงงานไทยปั่นป่วน ประกอบกับแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ภายหลังมีการลงทุนมากขึ้น ภาคเอกชนไทยจึงต้องปรับตัวด้วยการพึ่งพอเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม อาจเกิดปัญหาขาดบุคลากรดูแลเครื่องมือดังกล่าว ดังนั้นภาคเอกชนต้องจับมือกับภาครัฐหาทางออกเร่งด่วน

"ใครจะเป็นผู้นำปัญหาเหล่านี้ส่งถึงรัฐบาลและเอกชน ซึ่งผมไม่รู้จะพึ่งพาใคร นอกจากอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันเป็นหลักให้กับบ้านเมือง"

ทั้งนี้ องคมนตรี ได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วง 2-3 เดือนแรกหลังรับตำแหน่ง หนังสือพิมพ์เรียกฉายาว่า ‘มะเขือเผา’ ท่านจึงรีบไปพบท่านพุทธทาส บอกเล่าว่า สมัยก่อนไม่ว่าจะทำอะไรก็โดนชมไปหมด แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรีมีแต่คนด่า ท่านพุทธทาสจึงให้ธรรมะ 4 ข้อ ซึ่งบุคคลใดจะเป็นโพธิสัตว์ได้ต้องมี 1.สุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ใจ 2. ปัญญา คือ ทำอะไรต้องใช้ความรู้จริง 3.เมตตา คือ ต้องมีความเมตตาต่อผู้ร่วมงาน ผู้บริโภค และ 4. ขันติ คือ ต้องมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : องคมนตรี อยากเห็น สื่อไทย เสนอข่าว สืบสวน

view