สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้จักตัวเองก่อนดีไหม - ไทย ไม่ใช่ศูนย์กลางภูมิภาค

จากประชาชาติธุรกิจ

พงษ์ผกา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม / รายงาน

ถึงเวลาที่คนไทยควรจะกลับมาทำความ เข้าใจตนเองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วหรือยัง หลังจากที่ไทยพยายามทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ประเด็นนี้ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "สยาม/ไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ความรู้เรื่องไทยท่ามกลางภูมิภาค" บรรยายโดย นายธงชัย วินิจจะกูล ประธานสมาคมเอเชียศึกษา และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา

อ.ธงชัยตั้งประเด็นว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงความรู้เรื่องไทย หรือ ไทยศึกษา แล้วหรือไม่ จากสมัยที่ยังเด็ก เรียนรู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม มีชาวนาเป็นกระดูก สันหลังของชาติ รัฐและสังคมไทยมีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากสังคมเกษตร คนไทยสงบและรักสันติ เน้นความสามัคคี อยู่ในระเบียบ รู้จักที่ต่ำที่สูง ทุกคนควรรู้จักหน้าที่ของตนเพื่อขับเคลื่อนสังคมอย่างมีร่องมีรอยและเป็นเอกภาพ
ฐานของสังคมไทยเป็นสังคมชนบทขนาดใหญ่คิดเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จนกระทั่งฝรั่งเข้ามา สังคมไทยจึงเปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ ทุกคนมีชาติพันธุ์เดียวกัน แบบเดียวกัน
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้มาตรฐานโดยทั่วไปในสังคมไทย และเป็นทัศนคติที่มองคนอื่นด้วย เช่น มองฝรั่งมีความเจริญ แต่ขณะเดียวกันเป็นตัวการกัดเซาะความเป็นไทย เพราะคิดว่าฝรั่งนิยมวัตถุ
ประเด็นที่อ.ธงชัยนำเสนอก็คือ ความคิดที่คนไทยคิดว่า"ประเทศไทยแทบจะเป็นเพชรเม็ดงามที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางภูมิภาค" ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ความรู้มาตรฐานที่เอ่ยมาก็ไม่ใช่ โบราณก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และเราไม่รู้ส่วนที่กว้างกว่าที่เราเป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" ในภูมิภาคและในโลก
คนไทยส่วนใหญ่มักเชื่อว่าปัจจัยด้านโครงสร้างที่ตอกย้ำความเป็นชนชั้นในสังคมไทยคือการที่คนไทยมองว่า ชาติตะวันตกเป็นชาติแห่งความเจริญ จนมีค่านิยมส่งลูกหลานไปศึกษาในประเทศตะวันตก เมื่อกลับมากลับกลายเป็นการมองว่าพื้นฐานสังคมเกษตรกรรมของ คนไทยด้วยกันเองนั้นเป็นสิ่งที่ล้าหลัง แต่ในขณะเดียวกันเราไม่เคยมุ่งที่จะศึกษาทำความเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้
คนไทยสนใจที่จะศึกษาสิ่งอื่นประเทศอื่นด้วยทึกทักเองว่า ตนเป็นคนไทย เข้าใจรู้ดีว่าความเป็นไทยคืออะไรอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษาตนเองอีก ทั้งที่แท้จริงแล้ว ความเป็นไทยที่ต่างคุ้นเคยกันนั้นอาจเป็นเพียงสิ่งสมมติ สิ่งสร้างขึ้นจากการปลูกฝัง ทำให้คนไทยไม่คิดที่จะหาต้นตอนิยามความหมาย ปัจจัย หรือแม้กระทั่งผู้ที่สร้าง "ความเป็นไทย" ขึ้นมา
หากจะกล่าวถึงมโนทัศน์ของสหรัฐ มองไทยว่าเป็นประเทศหนึ่งองค์ประกอบหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ใน มโนทัศน์แบบไทย กลับมองตนเอง ไม่เป็นเพียงแค่ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์กลางการปกครองเพียงเท่านั้น ยังมองว่าประเทศไทยเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีความสำคัญมากกว่าผู้อื่น ลุ่มหลงในความเป็นไทยที่ถูกปลูกฝังมาแบบผิดๆ จนกระทั่งความคิดของคนไทยที่มองตนเองนั้น วันนี้เราต้องกลับมาทบทวนกันว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงแล้วหรือ
ทั้งที่สังคมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกเราต่างจากคนอื่นอย่างไร ฝรั่งเป็นตัวแบบความก้าวหน้าที่ทำลายศีลธรรมอันดีของประเทศไทยจริงหรือ จากการศึกษาพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักมีการผลิตชุดความรู้ที่เรียกว่า "ความรู้แบบสำเร็จ" หรือ "ความรู้แบบผนวกประสาน" อันปรุงแต่งขึ้นมา ทำให้บิดเบือน เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น เป็นไปเพื่อการสร้างชาตินั้น มีทั้งด้านดี และด้านไม่ดี 
อ.ธงชัยยกตัวอย่างการปลูกฝังความรู้ด้านภาษาไทยถูก จัดระเบียบโดยชนชั้นนำให้มีความเป็นไทย เช่น พยัญชนะไทย 44 ตัว ที่คนไทยคุ้นเคยกันอย่างดี เวลาท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ฃ.ฃวด ฅ.ฅน ค.ควาย ง.งู ฯลฯ แทนที่จะเป็น กะ ขะ ฃะ คะ งะ ซึ่งเป็นฐานเสียง เพื่อจะได้เข้าใจเสียงภาษามากกว่าจดจำ
"หากเราสามารถก้าวพ้นจากการยึดติดในความเป็นไทยที่เป็นศูนย์กลางระบบ ในมโนทัศน์ที่คิดว่าตนเองมีความพิเศษกว่าผู้อื่นได้ ผมมีความเชื่อมั่นว่า วันหนึ่งเราจะสามารถสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจโดยมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่เกิดจากตนเอง มากกว่าการที่ถูกควบคุมหรือหยิบใส่ความเป็นไทย ผมหวังว่าหากเราก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต บางทีเศรษฐศาสตร์การเมือง วิทยาการที่ก้าวหน้า อาจจะเป็นหนทางในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยในแง่มุมใหม่ที่ต่างออกไปก็เป็นได้ เพียงแต่เราต้องก้าวให้พ้นความเป็นไทยที่ถูกหยิบใส่ เพื่อพัฒนาใหม่ไปข้างหน้า" อ.ธงชัยกล่าว
--------

ธงชัย วินิจจะกูล
อ.ธงชัยเคยเป็นรองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เคยตกเป็นผู้ต้องขังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หลังจบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อมาจึงย้ายไปยังสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผลิตผลงานทางวิชาการอันโด่งดัง ในวิทยานิพนธ์ที่มีชื่อว่า "Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Siam" จนกระทั่งตีพิมพ์เป็นหนังสือจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation" ที่ว่าด้วยงานเชิงภูมิศาสตร์การเมือง กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของสยามไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ที่ยังมีรอยอดีตตกค้างอยู่จนถึงปัจจุบัน
ล่าสุดได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมเอเชียศึกษา (President of the Association for Asian Studies) ในสหรัฐอเมริกา

ที่มา ข่าวสดออนไลน์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้จักตัวเองก่อนดีไหม ไทย ศูนย์กลางภูมิภาค

view